posttoday

พสล.แต่งตั้ง พระ ดร.อนิล ศากยะ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยพุทธโลก

24 กันยายน 2560

องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ประกาศแต่งตั้งเจ้าคุณพระศากยวงศ์วิสุทธิ์

โดย สมาน สุดโต

องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ประกาศแต่งตั้งเจ้าคุณพระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (ดร.พระอนิลมาน ศากยะ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก (ม.พ.ล.) (World Buddhist Universitiy) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2560 ณ สำนักงานใหญ่ พ.ส.ล. ซอยสุขุมวิท 24 กรุงเทพมหานคร

พสล.แต่งตั้ง พระ ดร.อนิล ศากยะ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยพุทธโลก

ประกาศดังกล่าวลงนาม โดย แผน วรรณเมธี ประธาน พ.ส.ล.

มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก ก่อตั้งโดย พ.ส.ล.เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอธิการบดีคนล่าสุด ได้แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร 

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ เป็นพระภิกษุชาวเนปาล บวชเป็นสามเณรในประเทศเนปาล และมาศึกษาพระธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบท ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วทรงให้การอุปถัมภ์มาตั้งแต่เป็นสามเณร ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช และเคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร)

ท่านขอแปลงสัญชาติเป็นไทย และได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2558การศึกษา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก มมร ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยตรีภูวันประเทศเนปาล และปริญญาโทอีกใบจากวิทยาลัยไครสต์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยบรูเนล ประเทศอังกฤษ ในการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอกนั้นได้รับทุนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

บทบาทนานาชาติ เป็นหนึ่งในคลังสมองของ Sustainable Development Goal หรือ SGDs ขององค์การสหประชาชาติ นิวยอร์ก ได้เคยตั้งกระทู้ถามกลุ่มคลังสมอง เรื่อง นโยบายกำจัดความยากจนมีความจำเป็นเพียงไร ในที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่ ที่มหานครนิวยอร์ก ถ้าบรรลุเป้าหมายที่สามารถกำจัดคามยากจนได้อย่างสิ้นเชิงจริงๆ แล้วไซร้ พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาและนักบวชในศาสนาอื่นๆ อีกมาก จะให้ยืนที่ตรงส่วนไหนของสังคม เพราะพระสงฆ์และนักบวชถือวิถีชีวิตที่อยู่ด้วยความยากจนเป็นหลักปฏิบัติทางศาสนา (Take vow of poverty)

ในการประชุมเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เรื่อง International Peace Conference 2017 จัดโดย พ.ส.ล. สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส และสำนักงานผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก ระหว่างวันที่ 26-28 ก.ย. 2560 จะพูดเรื่อง พระธรรมิกราช : พระราชาแห่งมั่นพัฒนา “Dharmikaraja : The Buddhist King - The King of Sustainability” โดยเน้นพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็นต้นแบบของพระมหากษัตริย์ทางพระพุทธศาสนาในโลกปัจจุบัน พร้อมทั้งแสดงให้เห็นความเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกและความเป็นพระโพธิสัตว์ของพระองค์จากหลากหลายมิติ เช่น วิเคราะห์ที่มาและพัฒนาการของพระราชดำรัส เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงและหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความที่ทรงเป็นพระธรรมิกราช ในนัยแห่งพระราชาแห่งมั่นพัฒนาหนึ่งเดียวของโลก เป็นต้น ท่านเป็นพระสงฆ์ที่บุคคลสำคัญในองค์การสหประชาชาติคุ้นเคยมาก เพราะเป็นผู้แทนไทยไปกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสำคัญติดต่อกัน เช่นต้นปีนี้ (2560) ท่านเป็นผู้แทนประเทศไทย กล่าวสุนทรพจน์นำ เรื่อง Sixth Happiness Day ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ก เป็นต้น และเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2560 เป็นผู้แทน พ.ส.ล.ประชุมสภาผู้นำศาสนาโลกและศาสนาท้องถิ่น ครั้งที่ 16 ร่วมกับผู้นำศาสนาต่างๆ ที่เมืองอัสตานา คาซัคสถาน