posttoday

พัดยศคือสิ่งที่เชิดชูธรรม

13 สิงหาคม 2560

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2560 ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักพระราชวัง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)

โดย...สมาน สุดโต

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2560 ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักพระราชวัง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม อัญสุพรรณบัฏและเครื่องประกอบสมณศักดิ์ไปถวายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ที่อุโบสถวัดญาณเวศกวัน อ.สามพราน จ.นครปฐม ในการนี้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้กล่าวสัมโมทนียกถา แต่มีความยาวพอสมควร คอลัมน์นี้จึงแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรกตีพิมพ์วันที่ 6 ส.ค.และตอนที่ 2 ตีพิมพ์วันที่ 13 ส.ค. คือวันนี้

พัดยศสื่อความถึงธรรม

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวสัมโมทนียกถา ตอนที่แล้วจบลงที่ข้อความว่า...ประเพณีเมืองไทยระวังกันมาก ระหว่างความสัมพันธ์พระสงฆ์กับญาติโยม พระสงฆ์กับบ้านเมือง จะไม่ไปยุ่งกัน อาจมีกรณีแปลกปลอมบ้างในประวัติศาสตร์ไทย 2-3 ราย แต่ก็ถูกซัดออกไป ธรรมวินัยเหมือนน้ำทะเล จะซัดศพออกไปไว้ชายฝั่ง นี่คือประเพณีพระพุทธศาสนาของเรา ซึ่งเราควรศึกษาไว้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับชาวบ้านทั่วไป โดยเฉพาะบ้านเมือง (ขอแก้เป็นไม่เฉพาะบ้านเมือง-ผู้เขียน)

ในตอนที่ 2 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เล่าถึงการที่บ้านเมืองเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมพระสงฆ์ เนื่องด้วยบทบาทของพระสงฆ์สอดคล้องกับหลักการและความประสงค์ของฝ่ายปกครอง กล่าวคือเมื่อพระสงฆ์สอนธรรมให้ประชาชน ประพฤติดี มีศีลธรรม ประกอบอาชีพสุจริต ขยันหมั่นเพียร ตั้งใจดูแลครอบครัวให้เจริญงอกงาม ซึ่งเป็นการช่วยให้บ้านเมืองให้อยู่ดี มีความร่มเย็นเป็นสุข ตรงกับหลักการและความประสงค์ของการปกครองดังปฐมบรมราชโองการในสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ว่าจะทรงครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม อันนี้ทางราชการต้องการให้ประชาชนเป็นคนดี ตั้งใจประกอบอาชีพการงาน เป็นต้น ส่วนพระสงฆ์ก็ทำหน้าที่ของท่าน สอนคนให้เป็นคนดี การกระทำของพระสงฆ์ตรงกับวัตถุประสงค์ของบ้านเมือง

พระมหากษัตริย์ทรงยกย่อง

พระสงฆ์ที่สอนคนดี เป็นที่เคารพนับถือ เป็นหลักใจ ช่วยให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข พระมหากษัตริย์ก็ทรงนับถือยกย่องเป็นครูอาจารย์ ต่อมาอยากเรียกชื่อเพื่อแสดงว่าเคารพ จึงถวายนามพระมหาเถระ ที่เคารพนับถือ นามนั้นก็เลยเป็นตำแหน่งไป โดยไม่ตั้งใจว่าจะเป็นสมณศักดิ์ ต่อมาก็ตั้งองค์นั้นองค์นี้ ค่อยๆ ขยายไปจากอยุธยา 400 กว่าปี รัตนโกสินทร์ 200 กว่าปี กลายเป็นระบบสมณศักดิ์

พระเจ้าปเสนทิโกศล

การที่บ้านเมืองเห็นคุณค่าพระสงฆ์ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ที่มาสั่งสอนประชาชนพลเมืองนั้นมีมาแต่พุทธกาล สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เล่าเรื่องครั้งพุทธกาล ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เชตวันมหาวิหารซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเสมอ ไม่ว่าจะเสด็จไปที่ไหนก็ขอแวะเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อน เพื่อให้สบายพระทัย มีปีติปราโมทย์ เสร็จแล้วจึงเสด็จไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจ กลับจากพระราชกรณียกิจจะเข้าเมืองก็มาแวะเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เชตวันให้สบายพระทัยก่อน

คราวหนึ่งมีมหาโจรองคุลิมาลที่ทำให้บ้านเมืองเดือดร้อนมาก ใครก็ปราบไม่ลง ร้อนถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล ต้องทรงจัดทัพไปปราบเอง ก็ลองคิดดูว่าโจรองคุลิมาลนั้นเก่งแค่ไหนขนาดพระเจ้าแผ่นดินต้องยกทัพไปปราบ เมื่อยกทัพออกมา ก็ขอแวบเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เชตวันก่อน แต่ครั้งนี้พบเหตุการณ์ระทึกใจ เมื่อเห็นมหาโจรองคุลิมาลอยู่ที่นั่น ต่อหน้าพระพักตร์ แต่ไม่เป็นไร พระพุทธเจ้าตรัสว่ามหาบพิตร เย็นพระทัยเถิด (อะไรทำนองนี้จำคำไม่ได้) ตอนนี้องคุลิมาลเกิดใหม่โดยอริยชาติแล้ว ก็หมายความว่าเขาเลิกเป็นโจรแล้ว ไม่ต้องกลัว ต่อไปนี้มีแต่ความร่มเย็น องคุลิมาลจะแผ่ความร่มเย็นไปให้ คือให้ธรรม ทั้งนี้พระพุทธเจ้าเสด็จไปปราบองคุลิมาลโดยเสด็จพระองค์เดียวมาก่อนแล้วองคุลิมาลเลยตามเสด็จมาบวช แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทราบ ยกทัพจะไปปราบก็เลยมาเจอกันที่เชตวัน องคุลิมาลบวชเสียแล้ว จบกัน พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็เลยเป็นโยมอุปถัมภ์องคุลิมาลไป

พระเจ้าปเสนทิโกศลกตัญญูพระพุทธเจ้า

มีพระสูตรที่เกี่ยวกับพระเจ้าปเสนทิโกศลหลายพระสูตร ซึ่งพระสูตรหนึ่งว่า คราวหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เชตวัน เมื่อเข้าไปก็ทรงกอดพระบาทและทรงจุมพิต (การแสดงความเคารพสูงสุดตามวัฒนธรรมชาวอินเดีย ปัจจุบันก็ยังปฏิบัติอยู่) พระพุทธเจ้าจึงทรงถามว่า ทำไมแสดงความรัก ความเคารพถึงเพียงนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศล กราบทูลว่า หลายอย่างที่เป็นเหตุให้เคารพเลื่อมใสมาก มีข้อหนึ่งบอกว่าตัวพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงซาบซึ้ง ทรงกตัญญูต่อพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนธรรม ทำให้ประชาชนจำนวนมากมาตั้งอยู่ในกัลยาณธรรม กุศลธรรม

นี่คือพระพุทธเจ้าทำพุทธกิจของพระองค์เอง แต่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ผู้ปกครองที่ต้องการให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขก็เลยเห็นพระคุณ พระพุทธเจ้าทรงทำไว้ให้เป็นตัวอย่างพุทธกิจของพระองค์ เช่น โปรดสัตว์ทำให้ประชาชนเลื่อมใสประพฤติดี ปฏิบัติชอบ อยู่ในศีลในธรรม พระเจ้าแผ่นดินก็พลอยสบายพระทัย เพราะประชาชนมีศีล มีธรรม ใช้คำว่ามีกัลยาณธรรม กุศลธรรมซึ่งเป็นตัวอย่างในสมัยพุทธกาล ในสมัยพระเจ้าปเสนทิโกศลฉันใด สมัยนี้ก็ฉันนั้น ก็หมายความเมื่อพระสงฆ์ทำหน้าที่ของท่านถูกต้อง ประกาศธรรม สั่งสอนประชาชน ให้ประชาชนอยู่ดี ประพฤติดี ช่วยเหลือกัน ทำให้สังคมมีความสงบร่มเย็นปลอดภัย ช่วยพัฒนาสังคม อะไรต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ทางบ้านเมืองก็เห็นคุณค่า ก็เลยมีการแสดงออกว่ามีความเคารพนับถือ มีการยอมรับคุณค่าต่างๆ เหล่านี้ ก็แสดงออกมา

อันนี้พูดให้เห็นความเป็นมาในอดีต ซึ่งเอามาเทียบเคียงกับสมัยปัจจุบันนี้ได้ ใครที่ต้องการศึกษาน่าจะไปค้นคว้าให้ชัดออกมาเลยว่า ระบบสมณศักดิ์พระสงฆ์มีวิวัฒนาการมาอย่างไร สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ กล่าวว่า ทราบพอเป็นเค้าอย่างนี้ พร้อมกับบอกว่า มิใช่อยู่ๆ ก็มีสมณศักดิ์ขึ้นมา คือ มิได้ตั้งใจให้เป็นยศพระ (แต่) เป็นเรื่องอย่างที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงซาบซึ้งสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า ต้องการที่จะแสดงออก

พัด (ยศ) คือสมเด็จ

ดังนั้นวันนี้ ก็จะเห็นว่า โยมมีความปรารถนาดีนำเอาเครื่องประกอบสมณศักดิ์มาตั้งไว้ อันนี้มองให้ถูกก็จะเข้าใจ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เล่าเรื่องที่ใกล้ความจริงว่า (แต่จำเรื่องไม่ชัดแล้ว) ว่า ที่วัดหนึ่งมีสมเด็จองค์หนึ่ง หรือมหาเถระองค์หนึ่ง ท่านก็อยู่ของท่าน อยู่มาวันหนึ่งก็มีโยมคนหนึ่งจะมาหาสมเด็จองค์นี้ แต่ไม่รู้จัก ก็เข้าไปวัด ก็เจอสมเด็จองค์นี้พอดี ก็ถามว่าสมเด็จอยู่ไหมครับ อยู่ไหนครับ สมเด็จก็ชี้มือไปที่พัด (ยศ) ว่าสมเด็จอยู่ที่นั่น คนนั้นจึงถามว่า องค์ที่พูดอยู่นี้เป็นใคร สมเด็จตอบว่าหลวงตา นี่คือความจริงที่เกือบจะแท้ ความจริงที่ใกล้แท้ คือจะตั้งให้เป็นอะไร มีพัดยศ สมณศักดิ์เป็นอะไร นั่น (พระ) ก็เป็นหลวงตา หลวงปู่อยู่นั่นแหละ เป็นไปตามเรื่อง เราต้องทำความเข้าใจให้ถูก ที่พูดกันในวันนี้ อาจถามว่าที่ตั้งพัด ตั้งเครื่องยศอะไรนั่นนะหมายความว่าอย่างไง

พัดยศคือสิ่งที่เชิดชูธรรม

ตามที่พูดมานี้ มาทำความเข้าใจกัน ถ้าพูดตามที่อาตมาได้กล่าวมานั้น ก็พอจะบอกได้ว่าพัด (ยศ) ที่ตั้งอยู่นั้นเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายว่า ทางการบ้านเมืองมองเห็นคุณค่าของธรรม ไม่ใช่คุณค่าของพระองค์นี้นะ พระองค์ไหนก็ได้ไปแสดงธรรม สั่งสอนให้ประชาชนอยู่ในธรรม พระเจ้าแผ่นดินองค์พระประมุขทรงเห็นความสำคัญของธรรมว่า ธรรมนี้จะต้องมีอยู่ แล้วท่านก็เห็นความสำคัญแล้วเชิดชูยกย่องธรรม เมื่อแสดงความเชิดชูยกย่องธรรม จึงได้มีการแสดงออกอย่างนี้ ถ้าหากว่าการปฏิบัติในเรื่องอย่างนี้ เป็นไปด้วยความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะทำให้เรามีความสบายใจ

ความไพบูลย์ 2 อย่าง

ประชาชนเมื่อมองเห็นว่า ทางการบ้านเมือง องค์พระประมุขของชาติ ทรงเห็นความสำคัญของธรรม ยกย่องเชิดชูธรรม ก็อุ่นใจได้ มีกำลังใจ มั่นใจว่า บ้านเมืองนี้จะเจริญงอกงามไพบูลย์ ประชาชนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข เพราะบ้านเมืองเห็นความสำคัญของธรรม และช่วยกันเชิดชูธรรม แน่นอนว่าเมื่อธรรมรุ่งเรืองขึ้น กิจการบ้านเมือง ความเป็นอยู่ของประชาชน ชีวิตสังคมจะต้องรุ่งเรืองดีงามไปด้วย จะเกิดภาวะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นคู่กัน พระองค์ตรัสให้พระสงฆ์ไปแสดงธรรมให้เกิดธรรมไพบูลย์ และพระพุทธเจ้าตรัสว่า ไพบูลย์มี 2 อย่าง คือ อามิสไพบูลย์ และธรรมไพบูลย์ ให้มีเป็นคู่กัน

เมื่อบ้านเมือง ประชาชนทำมาหากิน ร่มเย็นเป็นสุข มีกิจเจริญงอกงาม การปกครองก็ดี การสังคมก็ดี พัฒนากันดีก็เกิดภาวะที่เรียกว่า เจริญทางวัตถุ ภาษาพระเรียกว่า อามิส ซึ่งไม่จำเป็นจะเป็นเรื่องเสียหาย อามิสคือวัตถุ อามิสไพบูลย์คือความเจริญงอกงาม รุ่งเรืองทางวัตถุ คู่กับธรรมไพบูลย์ บ้านเมืองที่ดีต้องมีพร้อมทั้งสองอย่าง ธรรมไพบูลย์จะเป็นหลักประกันให้อามิสไพบูลย์เจริญรุ่งเรือง มั่นคงต่อไป เราจะต้องให้มีทั้งสองอย่าง อามิสไพบูลย์ และธรรมไพบูลย์การที่ญาติโยมถวายแก่พระ พระก็ต้องตอบแทนด้วยการให้ธรรมทาน ต่อมาผลจุดหมายที่เราต้องการ คือ ให้มีอามิสไพบูลย์และธรรมไพบูลย์ เป็นอันว่าทางบ้านเมืองนำเครื่องประกอบสมณศักดิ์มาถวาย เป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายตามที่กล่าวมาแล้ว

ตราบใดที่ทางบ้านเมือง ทางผู้ปกครองประเทศชาติ เชิดชู ยกย่อง เห็นความสำคัญของธรรมอยู่ ประชาชนก็มีความมั่นใจในการที่จะอยู่ในบ้านเมืองนี้ได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข ช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง ญาติโยมรู้ความประสงค์ของบ้านเมืองเห็นความสำคัญของธรรม ท่านต้องการให้ธรรมเป็นหลักของสังคมประเทศชาติแล้ว ประชาชนก็ควรมีกำลังใจ พร้อมใจกันประพฤติ ปฏิบัติธรรมช่วยกันส่งเสริมความดี ช่วยกันแพร่ขยายธรรม ความดีงามให้กว้างขวางไพบูลย์ ให้ไพบูลย์ของธรรม ที่ตามด้วยอามิสคู่กันไป ได้แผ่ขยายทั่วบ้าน ทั่วเมือง ทั่วแผ่นดิน และในที่สุดก็ทั่วโลก

ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็เป็นไปตามพุทธประสงค์ ที่ประกาศพระศาสนาไว้ก็เพื่ออันนี้ ในที่สุดก็เพื่อพหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ บอกพระภิกษุทุกรูปว่า เธอทั้งหลายจงจาริกไป หรือไม่จาริกไป จงปฏิบัติ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่พหูชน ชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อการุณแก่ชาวโลก นี้คือวัตถุประสงค์ของพระพุทธศาสนา ซึ่งมาจากธรรมตามที่กล่าวแล้ว

สุดท้าย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ อนุโมทนาผู้ที่มีน้ำใจนำเครื่องประกอบสมณศักดิ์มาถวายและอำนวยพรให้ทุกท่านเจริญงอกงามไพบูลย์ ด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ ความดีงาม เจริญธรรม เจริญปัญญา อย่างยั่งยืนมั่นคง ตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ