posttoday

ศึกษาธรรมปฏิบัติ เพื่อพัฒนาจิตตามพุทธวิถี (๑๐)

16 ธันวาคม 2552

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

ปุจฉา : กราบนมัสการพระอาจารย์อารยะวังโสที่เคารพยิ่งด้วยเศียรเกล้า

กระผม นายฤทธิพร พินรอด ขอโอกาสและขอเมตตาหลวงพ่อเพื่อถามคำถามดังนี้

๔.วันหนึ่งขณะนั่งสมาธิเป็นปกติทั้งขาทั้งหลังมีความรู้สึกปวดมาก แต่ในทางกลับกันจิตกลับเบิกบาน มีปีติน้ำตาไหลด้วยความยินดี ขนลุกขนพอง ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการนั่ง ความรู้สึกที่ทั้งสุขและทุกข์ปนกันแบบนี้ ถ้าจะให้เป็นกรรมฐานควรจับที่กรรมฐานกองไหนครับ เพื่อให้สมาธิก้าวหน้ามากขึ้น ทำไมแต่ละวันที่ได้ความรู้สึกถึงไม่เหมือนกัน บางวันก็ไม่เจ็บ

๕.ถ้าจะฝึกกสิณ ๑ ใน ๑๐ ชนิด ควรเลือกแบบใดจึงจะเหมาะสม และให้ผลสูงสุดแก่ผู้ปฏิบัติครับ

๖.การแผ่เมตตาขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยให้ผลบุญที่เคยได้ทำตั้งแต่อดีตชาติและปัจจุบันชาติขอผลบุญนี้จงแผ่ออกไปถึงทั้ง ๓ โลก ถึงพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เจ้ากรรมนายเวร รวมจิตไว้ที่อกแล้วแผ่ออกไปเกิดขนลุกทั้งตัวแบบนี้ ผมทำถูกวิธีหรือเปล่าครับ

ผมขอโอกาสและเมตตาจากหลวงพ่อ โปรดตอบคำถามของผมด้วยนะครับ

กราบนมัสการด้วยเศียรเกล้า
นายฤทธิพร พินรอด

วิสัชนา :  สังขาร หากกล่าวสรุปลงในสังขารขันธ์ (Mental Formation) ซึ่งจัดแบ่งตามขันธ์ ๕ ก็จะได้ความหมายว่า เป็นลักษณะธรรมของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่ว หรือเป็นกลางๆ สื่อสภาพออกไปทางความนึกคิดตรึกตรองในใจ ส่งผ่านการแสดงออกไปทางกาย วาจา ให้เป็นไปต่างๆ สู่กรรมบถที่เป็นกุศลหรืออกุศลก็ย่อมได้ ซึ่งกล่าวสรุปว่าสังขารขันธ์นั้นเป็นสภาวธรรมปรุงแต่งจิตปรุงแต่งความคิด หรือเป็นเครื่องปรุงกรรมก็ว่าได้ โดยสรุปคำว่าสังขารคือสภาพปรุงแต่งของจิตที่เกี่ยวข้องเข้าไปในการยึดถือรูปนาม หรือขันธ์ ๕ นั้น

วิญญาณ (Consciousness) คือสภาพการทำงานของจิตที่เข้าไปรู้ในอารมณ์ หรือเข้าไปรู้แจ้งในอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ ด้วยการได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ

เฉพาะในเรื่องของสัญญา (Perception) ซึ่งแปลว่าการจำได้หมายรู้นั้น หากพิจารณาให้ละเอียดก็จะเห็นว่าสัญญานี้เป็นกลางๆ เปรียบเสมือนแก้วน้ำที่ว่างเปล่า ขึ้นอยู่กับการเติมแต่งใส่วัตถุลงไป จะมีคุณหรือโทษ จะเป็นกุศลหรืออกุศล ก็ขึ้นอยู่กับการจดจำหมายรู้ ซึ่งถ้าเป็นการจำได้หมายรู้ในเรื่องสามัญตามนิยมของโลก หรือตามโลกบัญญัติ ก็ดูเป็นปกติ แต่เมื่อมีการหมายรู้ลึกไปในรายละเอียดมีความซับซ้อน เนื่องจากความสัมพันธ์ของขันธ์ตามกระบวนการธรรม ซึ่งมีการหมายรู้ทั้งในรูปธรรมและนามธรรม จึงส่งผลต่อแง่การจัดเก็บข้อมูลหรือการจำได้หมายรู้นั้น หรือส่งผลต่อการกำหนดหมาย จำหมาย สำคัญหมาย อันเป็นกระบวนการสั่งสมข้อมูลเพื่อนำไปสู่กระบวนการคิดพิจารณา ซึ่งจะมีผลอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งทางบวกและลบ มีคุณหรือให้โทษต่อการดำรงชีวิต เพราะสัญญาดังกล่าวจะนำไปสู่การยึดติด ยึดถือ จึงกลายเป็นเครื่องกีดกั้นกำบังตนเอง ซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงแท้ที่อยู่ลึกลงไปได้

ในเรื่องของสัญญานั้นจึงเป็นเรื่องที่ควรพิจารณามาก โดยเฉพาะในเบื้องต้นสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งจะต้องรู้จัก จำได้หมายรู้ในสิ่งที่เป็นสัจธรรมและเห็นความตรงข้ามได้อย่างชัดเจน เพื่อนำไปสู่การสร้างความเห็นอันชอบและรู้จักการนำออกความเห็นอันไม่ชอบ เพื่อนำไปสู่การคิดพิจารณาอันจะได้ดำริออกจากบาปกรรมทั้งปวงและขวนขวายในฝ่ายกุศลอันควรยิ่งอันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเพื่อประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะหากการจัดเก็บ การจำได้หมายรู้ โดยเฉพาะในสัญญาที่มีความซับซ้อน ผิดไปจากความหมายอันควรจดจำ ผิดเพี้ยนไปจากสัญญาขั้นสามัญอันเป็นปกติตามสมมติของโลก ตามความนิยมของโลก ของสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือวิบัติไปจากความจริงขั้นอริยสัจ ซึ่งมีความลึกละเอียดประณีตในสภาพธรรมเหล่านั้นอันสัญญาเนื่องด้วยความปรุงแต่งจากจิตของปุถุชนยากจะเข้าถึง เช่นหมายรู้ในสภาวะที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง หมายรู้ในภาวะที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา ซึ่งนำไปสู่ความรู้อันคลาดเคลื่อนเรียกว่า วิปลาส ได้ ซึ่งหมายถึงความจำได้หมายรู้หรือความรู้ที่ผันแปรผิดพลาดจากความเป็นจริงที่เป็นอริยสัจ ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าใจผิด หลงผิด ลวงตนเองและนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องในการดำเนินชีวิตของตนทั้งในทางโลกและทางธรรมได้ ด้วยเป็นเครื่องกีดขวางบังตามิให้เข้าถึงสัจจภาวะได้ ซึ่งได้จัดแบ่งวิปลาสไว้ ๓ อย่างคือ
 สัญญาวิปลาส หมายถึงการจดจำหมายรู้ผิดพลาดไปจากความจริงที่เป็นสามัญโดยปกติธรรมและจะนำไปสู่ จิตตวิปลาส หมายถึงกระบวนการนึกคิด (จิต) ที่ผิดพลาดไปจากความจริง และจะสรุปลงที่ ทิฏฐิวิปลาส หมายถึง ความเห็นที่ผิดพลาดไปจากความจริง

กล่าวโดยสรุปของความสัมพันธ์ขั้นวิปลาสนั้น เมื่อจำได้หมายรู้ผิดก็จะนำไปสู่ความคิดที่ผิดๆ และรวมลงที่มีความเห็นผิด เหมือนกระต่ายนอนหลับอยู่มีสัญญาวิตกในทางวิปลาสเพราะสำคัญรู้หมายผิดไปจากสามัญ จึงนำไปสู่ความคิดที่คลาดเคลื่อนผิดเพี้ยน ได้ยินเสียงลูกมะพร้าวหล่นลงมาคิดจินตนาการไปไกลว่าโลกกำลังจะแตก จึงนำไปสู่ความเห็นผิดและเชื่อถือผิดๆ ลุกขึ้นมาได้ก็วิ่งโกยแนบอย่างไม่คิดอะไรอีกแล้ว ซึ่งพากันนำสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ไปเสพความคิด ความเห็นที่วิปลาส โกยหน้าตั้งตามกันไปเป็นทิวแถว...

อ่านต่อฉบับหน้า

**ส่งคำถามหรือ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆได้ที่ คอลัมน์ธรรมส่องโลก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อาคารบางกอกโพสต์ 136 ถนน ณ ระนอง แยกสุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110 โทรสาร 02-671-3132