posttoday

ย้อนอดีต "หลวงปู่จันทร์ศรี" อัญเชิญ "พระแก้วมรกต"

14 ธันวาคม 2559

ย้อนอดีต พระอุดมญาณโมลี อัญเชิญพระแก้วมรกต จากเพชรบูรณ์กลับกรุงเทพฯสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

โดย...I-Mong Pattara Khumphitak

เก็บเป็นข้อมูลไว้ในหัวเพราะอ่านหนังสือผ่านตามาว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพลป.พิบูลสงคราม อัญเชิญพระแก้วมรกต ไปประดิษฐานซ่อนไว้ในถ้ำลึกแห่งหนึ่งที่ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อทรัพย์สมบัติของบ้านเมืองจะได้พ้นจากสายตาและมือของญี่ปุ่น

งานเขียนชิ้นนั้นระบุด้วยว่า เมื่อสงครามยุติลง ผู้ไปอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาคือ พระอุดมญาณโมลี หรือหลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป เจ้าอาวาสวัดโพธิสมพร จ.อุดรธานี

สะดุดชื่อ หลวงปู่จันทร์ศรี พระมหาเถระ ผู้เป็นรัตตัญญู

หลวงปู่จันทร์ศรีเป็นพระผู้ใหญ่สายวิปัสสนา เป็นหนึ่งศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ และถ้าจำกันได้ ระหว่างหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ดับขันธ์นั้นเอง หลวงปู่จันทร์ศรีนิมิตเห็นหลวงตามหาบัวมากราบลาท่าน กระทั่งรุ่งเช้าจึงรู้ความว่า หลวงตามหาบัวละโลกไปแล้ว

ติดตาและติดใจว่า น่าจะมีคนได้สัมภาษณ์หลวงปู่จันทร์ศรีถึงเหตุการณ์ไปอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาเอาไว้เพราะเรื่องนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเพราะท่านผู้อยู่ในเหตุการณ์ยังมีชีวิตอยู่ นานไปก็จะเสียโอกาสเพราะหลวงปู่จันทร์ศรี สูงวัยมากคือ ปัจจุบันอายุถึง 103 ปีแล้ว

นี่เป็นงานที่อยากจะทำเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองแต่ไม่มีโอกาสที่จะได้ทำ โชคดี “ศิลปวัฒนธรรม” เล่มเดือนมิ.ย. 2558 นี้ ได้ตีพิมพ์งานเขียนของคุณธีระวัฒน์ แสนคำ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์เลย เรื่องพระแก้วมรกตถูกอัญเชิญไปประดิษฐานในถ้ำฤษีที่จังหวัดเพชรบูณ์(?)

ในบทความชิ้นนี้ ท่านผู้เขียนได้อ้างถึงบทความเรื่อง “ย้อนอดีต พระอุดมญาณโมลี อัญเชิญพระแก้วมรกต จากเพชรบูรณ์กลับกรุงเทพฯสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2”ของอาจารย์วีรยุทธ วงศ์อุ้ย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือเสียงเพชร เมื่อพ.ศ. 2552 ว่า

หลังจากนายกองวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ได้กล่าวในงานเสวนาเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2551ว่า ครั้งที่ท่านยังดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี “มีพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งเล่าให้ฟังว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พระเดชพระคุณรูปนั้นได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้าให้มาอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำแห่งหนึ่งที่เมืองเพชรบูรณ์กลับไปยังกรุงเทพมหานครฯ”

นั่นทำให้ส่วนราชการ นักปราชญ์ท้องถิ่น นักวิชาการ นักการเมือง ของเมืองเพชรบูรณ์ สนใจเรื่องนี้อย่างมาก

เพื่อยืนยันเรื่องนี้ ผู้ว่าฯวิลาศได้ยกคณะซึ่งประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ นักวิชาการท้องถิ่น นักปราชญ์ท้องถิ่น ฯลฯ ไปกราบนมัสการเรียนถามเรื่องนี้จาก หลวงปู่จันทร์ศรี อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2552

บทความในศิลปวัฒนธรรมอ้างถึงบทสัมภาษณ์ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือเสียงเพชรดังกล่าวว่า แม้หลวงปู่ศรีจันทร์จะสูงวัยมากแล้วแต่ท่านเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าอิ่มเอิบ หัวเราะร่าเริงและยังพูดจาฉะฉานคล่องแคล่วถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

“เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มีพระบัญชาให้หลวงพ่อซึ่งขณะนั้นสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค จำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ให้เป็นผู้เดินทางไปอัญเชิญพระแก้วมรกตที่ได้อัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเดินทางออกจากกรุงเทพฯไปกับลูกศิษย์คนหนึ่งและหม่อมเจ้าหรือหม่อมราชวงศ์? จากสำนักพระราชวังคนหนึ่งซึ่งจำไม่ได้เพราะทุกคนเสียชีวิตหมดแล้ว เดินทางโดยรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ไปลงที่สถานีรถไฟตะพานหิน จังหวัดพิจิตรแล้วนั่งรถยนต์ซึ่งขณะนั้นใช้ฟืนถ่านต้มหม้อน้ำให้เดือด เดินทางไปถึงเพชรบูรณ์หนทางลำบากมาก...”

บทความของคุณธีระวัฒน์ ระบุด้วยว่า เมื่ออัญเชิญพระแก้วมรกตออกมาพร้อมด้วยทรัพย์สินของมีค่าต่างๆแล้วได้นำขึ้นรถบรรทุก มีทหารคอยรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยพระอุดมญาณโมลีเล่าต่อว่า

“...การอัญเชิญพระแก้วมรกตครั้งนี้ มีทรัพย์สินอย่างอื่นด้วย คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ และสมบัติอื่นๆอันมีค่าของชาติ โดยมีพิธีการอัญเชิญ มีทหารยืนเข้าแถวเป็นระเบียบ ตั้งแถวเป็นแนวยาวรอรับ มีนายทหารฝรั่งต่างชาติด้วย และมีทหารผิวดำคล้ายๆทหารจากแอฟริการ่วมในพิธีด้วย โดยการอัญเชิญกลับในครั้งนั้น บรรทุกเดินทางโดยขบวนรถยนต์ของทางการทหารกลับกรุงเทพฯซึ่งหลวงพ่อไม่ได้กลับพร้อมขบวนรถนั้น โดยในระหว่างนั้นหลวงพ่อได้ไปพักที่วัดมหาธาตุ ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ พักอยู่เป็นเวลาประมาณ 7 วัน…”

คุณธีระวัฒน์ จบบทความลงโดยบอกว่า เรื่องการอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ที่ถ้ำฤษีสมบัตินั้น เป็นข้อมูลในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไม่มีทึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติ อาจเพราะต้องปิดข่าวเนื่องจากเพื่อความปลอดภัยขององค์พระแก้วมรกตและทรัพย์สินอันมีค่าต่างๆของแผ่นดิน หรือเพราะ”ไม่มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตมาก็ไม่อาจทราบได้” แต่การที่พระอุดมญาณโมลีซึ่งเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนทั้งปวงยืนยันเช่นนี้ชาวเพชรบูรณ์ก็เชื่อมั่นในข้อมูลนี้ แม้ว่ายังไม่พบหลักฐานหลักฐานทางราชการยืนยันก็ตาม ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่ท่านผู้รู้ในพระนครและหัวเมืองทั้งหลายควรจะได้ช่วยกันค้นหาคำตอบเพื่อคลี่คลายประวัติศาสตร์ชาติและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต่อไป

อ่านบทความนี้แล้วอีกด้านโล่งอกว่า งานที่คิดอยากจะทำและคงเสียดายที่ไม่มีโอกาสจะทำนั้นได้มีผู้ทำไปแล้ว คือคณะตัวแทนเมืองเพชรบูรณ์ได้ไปสัมภาษณ์หลวงปู่จันทร์ศรีมาเรียบร้อยแล้วแต่อ่านแล้วอีกข้างก็คับอกทำให้ต้องกลับมาค้นหนังสือที่เคยอ่านและน่าเสียดายว่า ไม่ได้ถูกอ้างอยู่ในงานเขียนของคุณธีระวัฒน์ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือศิลปวัฒนธรรมในครั้งนี้ด้วย อีกหน

หนังสือเล่มนั้นคือ “คนไทยหัวใจสยาม ทางชีวิตยามสงครามและสันติภาพ” เขียนโดยคุณสภา ปาลเสถียร ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โพสต์บุ๊ค

คุณสุภาเขียนถึงเรื่องราวชีวิตของผู้คนในยุคสงครามโลก โดยได้สัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องและญาติมิตรของบุคคลต่างๆในช่วงนั้นทั้งสิ้น 12 คน คนหนึ่งที่คุณสภา เขียนถึงคือ จอมพลป.พิบูลสงคราม และในประวัติจอมพล ป.ที่คุณสภาเขียนถึงนั่นเอง ได้กล่าวถึงการขนมหาสมบัติของชาติไปซ่อนไว้ในถ้ำฤษีสมบัติซึ่งอยู่ในป่าลึก จ.เพชรบูรณ์ ไว้อย่างละเอียดลออ

คุณสภาเล่าถึงเรื่องนี้ว่า จอมพล ป.ในชุดจอมพล ได้นำคณะขึ้นรถไฟที่สถานีหัวลำโพงในช่วงเช้าตรู่วันหนึ่ง

ก่อนจะขึ้นรถนั้น จอมพล ป.ได้กราบยังหน้าโต๊ะหมู่บูชาและหมู่พระสงฆ์ 9 รูปที่กำลังนั่งเจริญพระพุทธมนตร์อยู่สองข้างโต๊ะหมู่บูชาซึ่งตั้งอยู่บนชานชลาบริเวณค่อนไปกลางขบวนรถไฟ

ชั้นบนสุดของโต๊ะหมู่บูชานั้นเป็นกล่องไม้ทึบขนาดหนึ่งเมตรคูณหนึ่งเมตรครึ่ง

“ภายในคือ พระแก้วมรกต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิคู่บ้านคู่เมือง ที่ปกป้องราชวงศ์จักรีให้พ้นแคล้วคลาดจากผองภัยมาตั้งแต่เมื่อเริ่มการปกครองประเทศไทยเมื่อพ.ศ.2325…”

คุณสภา ระบุว่า จอมพลป.มักมีเรื่องบาดหมางกับกลุ่มผู้ภักดีต่อกษัตริย์เป็นประจำและถูกมองจากคนกลุ่มนี้ว่า ปกครองโดยพลการ มุ่งมั่นแต่จะล้มล้างสถาบันและพระราชอำนาจของกษัตริย์ซึ่งขณะนั้นทรงพระเยาว์และยังประทับศึกษาอยู่ที่สวิสแลนด์แต่ตอนนั้นจอมพล ป.ก็กล้าตัดสินใจนำพระแก้วมรกตและสมบัติชาติไปซ่อนไว้ในที่แห่งใหม่ด้วยตัวเอง

ขบวนรถไฟนั้นมีรถพ่วง 20 ตู้แต่ละตู้จะบรรทุกลังไม้ 2 ลัง

ในลังเหล่านั้น บรรจุอยู่ด้วย เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ทั้งพระแสงดาบ รองพระบาทฝังอัญมณี ฯลฯและยังมีพระราชบัลลังก์ทอง พระเศวตฉัตร ของมีค่าอื่นๆ รวมทั้งทองคำแท่ง

ทุกตู้จะมีทหารเฝ้าคุมอยู่ 4 นายทุกนายถูกเลือกสรรมาแล้วว่า เป็นคนที่ไว้วางใจได้ทั้งสิ้น

บทความคุณสภาระบุว่า ตีสองขบวนรถไฟเที่ยวนั้นมาถึงสถานีตะพานหิน จ.พิจิตร ซึ่งเป็นสถานีเดียวกับที่หลวงปู่ศรีจันทร์ระบุว่า ท่านก็ลงรถที่นั่นตอนขามาอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับ

ทหารใช้เวลา 2 ชั่วโมงขนหีบมหาสมบัติเหล่านั้นขึ้นรถบรรทุก ตัวจอมพล ป.เองขึ้นรถออสติน 8 แล่นผ่านทุ่งขึ้นไปทางเหนือจนถึงบ้านบุ่งน้ำเต้า เข้าสู่บริเวณถ้ำฤษีสมบัติซึ่งกว่าจะถึงตัวถ้ำต้องขึ้นบันไดไปอีกราว 250 ขั้น

ชาวบ้านคนหนึ่งซึ่งเป็นคนให้ข้อมูลคุณสภาบอกว่า ตอนนั้นผู้เล่าอายุประมาณ 10 ขวบแต่จำได้ว่า เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ.2486

“...คุณลุงเล่าว่า ในความเงียบกริบ ทหารเป็นร้อยๆคนถอดเครื่องแบบหมด ทุกคนคาดแต่ผ้าขาวม้าทุกคนเหงื่อท่วมกาย ช่วยกันงัดเปิดลังและขนของในลังขึ้นกระไดซึ่งอยู่สูงกว่าระดับถนนถึง 20 เมตร ชาวไร่ชาวนาและเด็กหนุ่มๆแถวนั้นจำนวนมากถูกเกณฑ์มาช่วยให้ทหารทำงานเหนื่อยหลังหักนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งงานของชาวบ้านถูกจำกัดอยู่แค่งานตรงภาคพื้นดินเท่านั้น

ระหว่างที่นายทหารยืนเรียงรายควบคุมดูแลทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด และการที่ต้องให้ทุกคนนุ่งเหลือแต่ผ้าขาวม้าก็เพื่อตัดความคิดที่จะยิบฉวยสิ่งล่อใจทั้งหลาย และเพื่อลบล้างความจำเป็นที่จะต้องมาตรวจค้นร่างกายกันทุกวันๆ ทุกคนต้องทำงานหนักอย่างรวดเร็วก่อนที่สายตรวจญี่ปุ่นซึ่งมักจะบินโฉบผ่านเพชรบูรณ์ประมาณเวลา 09.00น.จะรู้แกวเข้า...”

“ปฏิบัติการทองคำ” ดำเนินการต่อมากระทั่งแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487

นั่นหมายความว่า น่าจะมีการขนสมบัติไปเก็บไว้ที่ถ้ำแห่งนั้นหลายเที่ยว หลายครั้ง ?

คุณสภาระบุว่า เมื่อหมอกควันของสงครามพัดผ่านไปแล้วก็มีการไปอัญเชิญพระแก้วมรกตและสมบัติชาติกลับคืน คราวนี้ไม่ต้องกลัวคนรู้ จึงจัดเป็นขบวนรถบรรทุกจาก จ.เพชรบูรณ์ไปรอรับคณะที่สถานีรถไฟตะพานหิน

“เพียบพร้อมไปด้วยเจ้าพนักงานจากสำนักพระราชวัง และสำนักนายกรัฐมนตรี และยังคุ้มครองด้วยกองทหารเต็มอัตรา ต่อไปด้วยพิธีรีตองโอ่อ่าในกรุงเทพฯ ในส่วนพระแก้วมรกตนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้ามีพระบัญชาให้ พระจันทร์ศรี จันททีโป ซึ่งต่อมาเป็นพระอุดมญาณโมลีแห่งวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นผู้แทนของพระองค์ท่าน เดินทางไปเป็นสักขีพยานและทำพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำที่ประดิษฐานชั่วคราวกลับกรุงเทพฯซึ่งต้องนับเป็นพิธีที่เปี่ยมศรัทธาที่สุดที่ท่านเคยปฏิบัติมาและท่านมักเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังในภายหลัง ถึงประสบการณ์ทางจิตวิญญาณอันลืมไม่ลงในครั้งนี้ ท่านชอบเล่าว่า มีเจ้าอาวาสสักกี่คน ที่ได้มีโอกาสทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญที่สุดของประเทศ นับเป็นนาทีที่ทำให้ได้คิดถึงความต่ำต้อยด้อยค่าของตัวเองอย่างสุดๆ...”

น่าสนใจว่า ถ้าขาอัญเชิญกลับแล้วมี “พิธีรีตองโอ่อ่าในกรุงเทพฯ” อย่างที่ว่า ทำไมหลวงปู่จันทร์ศรีไม่เดินทางกลับไปพร้อมพระแก้วมรกตด้วย และถ้ามี “พิธีรีตองโอ่อ่าในกรุงเทพฯ” ก็น่าจะมีเอกสารเก่าๆที่ทำเนียบรัฐบาล หรือที่สำนักนายกรัฐมนตรี หรือที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอยู่บ้าง หรือว่า ถ้ามี “พิธีรีตองโอ่อ่าในกรุงเทพฯ” ก็ต้องปรากฏเป็นข่าวเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์สมัยนั้นกันบ้างล่ะ

คำนวณวันเวลาแล้วก็น่าจะไปสืบค้นได้ไม่ยาก

เว้นแต่ขาไปก็อัญเชิญไปแบบลับๆ และเมื่อสิ้นสงครามแล้วก็ต้องทำแบบลับๆเพราะหลังสงครามมีปัญหาการเมืองรุมเร้าทั้งการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองในประเทศ จอมพล ป.เองก็อยู่ในสถานะลำบาก ต้องตกเป็นอาชญากรสงคราม การประโคมข่าวเรื่องนี้อาจจะเป็นปัญหาทางการเมืองขึ้นมาก็ได้ ?

ในช่วงที่ยังไม่ได้ค้นนี้ ผมเชื่อเรื่องที่หลวงปู่จันทร์ศรีเล่า

เชื่อด้วยเหตุผลง่ายๆว่า เชื่อในคุณธรรมของท่าน

เชื่อเหมือน เชื่อเรื่องที่ท่านเล่าเรื่องความฝันของท่านในคืนวันที่ หลวงตามหาบัว ละสังขาร

หนังสือญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์บันทึกเรื่องดังกล่าวไว้ว่า “ปลายปีที่แล้วในระยะหลวงตาอาพาธ อาตมาได้แวะไปเยี่ยมหลายครั้ง ในวันที่หลวงตามหาบัวจะละสังขาร อาตมภาพ ขณะพักจำวัดหลับเคลิ้มไป ก็ปรากฏว่าหลวงตามหาบัวแวะมาหากราบ 3 ครั้ง ก็พูดว่า “เจ้าคุณฯ ผมมาลานะ” อาตมภาพก็ถามว่า “จะลาไปไหน ?” ท่านบอกว่า “ไปที่ไม่เกิดอีก เพราะชาติสุดท้ายของผม ให้เจ้าคุณอยู่ต่อไป ให้ลูกหลานได้กราบไหว้” แล้วหายไป

ตื่นขึ้นก็จำความฝันได้ชัดเจน เวลาประมาณตี 4 นาฬิกา ก็ยังนึกอยู่ว่า หลวงตามหาบัว คงไม่ได้อยู่กับพวกเราแล้ว ตอนเช้าก็รับทราบว่ามรณภาพ รู้สึกใจหายและรู้สึกอาลัยในการจากไปของหลวงตาเป็นที่สุด ซึ่งอาตมภาพมั่นใจว่า “ท่านไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว” ท่านได้วางแบบอย่างอันงดงาม ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ดำเนินรอยตาม ขอให้ลูกศิษย์ลูกหาและประชาชนได้สืบแนวปฏิปทาต่อไป”

ใครสนใจปฏิปทาของหลวงปู่จันทร์ศรีไปหาศึกษาดูมีเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจกว่านี้อีกมากนัก

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณหนังสือทุกเล่ม และผู้เขียนทุกท่านที่เอ่ยอ้างมา ขอกราบนมัสการหลวงปู่จันทร์ศรีที่ท่านได้ถ่ายทอดเรื่องราวเอาไว้ ขอบคุณคณะผู้แทนจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ไม่ทำให้ประวัติศาสตร์หายไปกับกาลเวลา

หวังว่า ข้อมูลที่เอามาเติมเต็มนี้จะทำให้คนสนใจประวัติศาสตร์สนุกสนานกันตามสมควรนะครับ

มีคนว่า สมัยนี้คนไม่อ่านเรื่องยาวๆแล้วแต่เล่ามายืดยาวเพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะต้องบันทึกเอาไว้ ที่สำคัญเผื่อว่า ใครเกิดคันขึ้นมาจะได้ไปช่วยกันค้นคว้าให้สมบูรณ์ต่อไป