posttoday

คุณของบทสวด 'อิติปิโส' (ตอนที่ 1)

02 กุมภาพันธ์ 2557

แกนนำ กปปส.แนะนำผู้ชุมนุมทางการเมืองขณะนี้ว่า หากมีภยันตรายหรือเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม

แกนนำ กปปส.แนะนำผู้ชุมนุมทางการเมืองขณะนี้ว่า หากมีภยันตรายหรือเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม ให้นั่งเฉยๆ ผู้ใดเป็นพุทธศาสนิกชนก็ให้สวด “อิติปิโส” ไปเรื่อยๆ ผู้นับถือศาสนาอื่นก็สวดมนต์ศาสนาของตัวเอง

แล้วสวด “อิติปิโส” คืออะไร?

อิติปิโสเป็นคำแรกในบทสวดมนต์ ซึ่งเรียกว่า บทสวดสรรเสริญพระรัตนตรัย ประกอบด้วยความ 3 ท่อน คือ บทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ

บทสวดนี้เป็นการรวมเอาถ้อยคำสำคัญๆ มา รวมไว้ ซึ่งเชื่อว่าสวดแล้วนอกจากทำให้ใจสงบ เมื่อมีใจสงบก็ย่อมมีสติ มีปัญหาอะไรก็ย่อมแก้ไขได้ไม่ยาก เป็นเหตุให้มีพุทธคุณ พระธรรมคุณสังฆคุณ ประการต่างๆ

มีพระสงฆ์ผู้หนึ่งได้ยกถ้อยคำในบทสวดบทนี้มาแจกแจงความหมายไว้อย่างพิสดารยากที่จะหาผู้อื่นแสดงได้เหมือน พระภิกษุรูปนั้นคือ เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)

ท่านเจ้าคุณอุบาลี (จันทร์ สิริจันโท) ได้ยกถ้อยคำในบทสวดนี้แต่ละคำมาแสดงเป็นคำเทศน์ได้ถึง 49 กัณฑ์

เมื่อปี 2551 พระฉันทกโร ปรีดา หรือหลวงพ่อทุย เจ้าอาวาสวัดป่าดานวิเวก อ.โซ่พิสัย จ.หนองคาย ได้รวบรวมคำเทศนาดังกล่าวพิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือชุดประมวลธรรมยอดคำสอนของท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันทเถระ) โดยระบุว่า โอวาทคำสอนเหล่านี้ เป็นโวหารหลักปฏิภาณของนักปราชญ์ที่ได้แสดงไว้แล้วด้วยความบริสุทธิ์สมบูรณ์ เป็นยอดกุศลธรรมหาอ่านหาฟังได้ยากในสมัยปัจจุบัน...หนังสือเล่มนี้ถ้าใครได้พบได้เห็นนับว่าเป็นบุญวาสนาบารมีในชีวิตที่เกิดมา ขอให้พยายามขยันอ่าน ขยันปฏิบัติตาม ชีวิตของเราคงจะไม่ปราศจากประโยชน์โดยแท้...

ความดังกล่าวละเอียดพิสดารอย่างไร ขอยกมาแสดง ณ ที่นี้เพียง 2 กัณฑ์ก่อนคือ เทศนาว่าด้วยความหมายของคำว่า “อรหัง” และ “พุทโธ” โดยมีรายละเอียดดังนี้

กัณฑ์ที่ 1

พระพุทธคุณ

อรหัง

(อิติปิ โส ภควา อรหํ) พระอรหํเป็นผู้ไกลจากกิเลส คือ ไกลจากกิเลส คือไกลจากโลภะโทสะโมหะ ตัวโลภะโทสะโมหะนี้เป็นกิเลโส เป็นโคนเป็นรากเป็นเหง้าของกิเลส

กิเลสที่เกิดขึ้นจะหยาบหรือละเอียดก็ตาม เป็นถึงก้านสาขามาแต่โลภะโทสะโมหะทั้งสิ้น

ธรรมทั้งหลายที่ทรงบรรยายไว้เป็นอเนกประการนั้น เพราะจริตของบุคคลต่างกัน เรื่องนั้นต้องกันกับบุคคลชนิดนั้น เรื่องนี้ต้องกันกับบุคคลชนิดนี้ เมื่อต้องกับอารมณ์ของตนแล้ว การฟังจะถือเอาเนื้อความได้ เพราะเหตุนี้จึงต้องแสดงไว้โดยมาก

ส่วนพระองค์ที่ได้พระคุณนามว่า อรหํนั้น เพราะพระองค์เป็นผู้ปราบกิเลสเหล่านี้สิ้นเชิงแล้ว คือ ปราบโลภะโทสะโมหะอย่างหยาบด้วยศีล มีเว้นจากการฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ ประพฤติอสัทธรรมสมาจาร กล่าวมุสา เป็นต้น

ปราบโลภะโทสะโมหะอย่างกลางด้วยสมาธิคือ กามฉันท์ ความใคร่ความพอใจในกามารมณ์ 1 พยาบาท คือความประทุษร้ายอาฆาตจองเวร 1 ถีนะมิทธะ ความง่วงงุน 1 อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน 1 วิจิกิจฉา ความไม่แน่ใจ 1

ปราบโลภะโทสะโมหะอย่างละเอียดด้วยปัญญา คือ ความรอบรู้ในสังขารโลกและสังขารธรรม ส่วนสังขารโลกนั้น ได้แก่ มือ เท้า ตน ตัว หัว ขา หรือต้นไม้ใบหญ้าเหล่านี้ เป็นต้น เป็นสังขารโลก มีมาแต่ครั้งปู่ย่าตาทวดของเรา เมื่อเราเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้เป็นสังขารโลก แต่ก็ยังไม่พอ ยังต้องเข้าโรงเรียน เล่าเรียนความรู้ทั้งหลายทั้งปวง มีหนังสือเลขผานาทีเหล่านี้อีก ครั้นรู้ในสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็เลยกลายเป็นวิชชาของตัวทีเดียว ที่จริงก็ไม่ใช่วิชชาของตัว ไปเรียนเขามา ครั้นเข้าใจชำนิชำนาญแล้ว ก็เลยถือว่าตัวเป็นคนเฉลียวฉลาด มีสติปัญญาดี มีความรู้ดี ถือเอาเป็นของของตนหมดทีเดียว ทีนี้มีความเบื่อหน่ายในโลก มาเรียนธรรม มาติดสังขารธรรมอีก

คือ ท่านสอนให้รู้ขันธ์ 5 ว่า นี่เป็นรูป เป็นเวทนา สัญญา สังขารวิญญาณ นี่เป็นธาตุ 6 คือ นี่เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม เป็นอากาศ เป็นวิญญาณ นี่เป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เหล่านี้มาติดเสียอีกแล้ว ถือเอาเป็นขันธ์ 5 จริง ธาตุ 6 จริงอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จริง ทีนี้ถอนไม่ออกอีกก็เลยยึดมั่นถือมั่นอยู่อย่างนั้นเอง เมื่อมีปัญญาตาใจเกิดขึ้นแล้วจึงเห็นวิสังขาร คือตัวธรรมดานี่เอง

ส่วนโลภะนั้นให้แบ่งออกอย่างนี้ คือ ความอยากสิ่งใดเกิดขึ้น ให้พิจารณาเสียก่อนว่าสิ่งที่เราอยากได้นี้ จะมาแต่งความสุขหรือความทุกข์ให้แก่เรา ถ้าสิ่งที่เราอยากได้นี้จะนำมาซึ่งโสกะปริเทวะ ทุกข์โทมนัสอุปายาสแล้ว ความอยากสิ่งนั้นก็เป็นตัวโลภะ ถ้าเราอยากบริโภค เช่น อาหารหรือผ้านุ่งห่ม เรามีเงินก็ไปซื้อเขามาบริโภคนุ่งห่มตามความปรารถนา หรือเราอยากมีศีล สมาธิ ปัญญา วิชชา วิมุตติ หรือยากจะบำเพ็ญทานการกุศลอย่างใดก็ตาม อย่างนี้ไม่เป็นโลภะ

ถ้าอยากอะไรก็กลัวเป็นโลภะไปเสียหมดก็ใช้ไม่ได้ ต้องรู้ว่าอยากอย่างหนึ่งมีโทษ อย่างหนึ่งมีคุณดังนี้

ส่วนโทสะนั้นไม่มีคุณอย่างใดเลย มีแต่โทษฝ่ายเดียว ได้แต่ต้องรู้ว่าโทสะเป็นสังขารเป็นของปรุงได้แต่งได้ ถ้าเราจะต้องการใช้ก็ต้องรู้สึกก่อนดังนี้แล้ว จึงเอามาใช้ ทีนี้เมื่อเราจะต้องการใช้ก็ปรุงแต่งขึ้น จะทำท่าทางดุด่าอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น เพราะมนุษย์นั้นจะทรมานด้วยความเยือกเย็นไปหมดก็ไม่ได้ จึงต้องใช้อย่างนี้ ส่วนโมหะนั้นเป็นของละเอียดมากจนมองไม่เห็น ดังเช่นโลภะโทสะจะเกิด ก็เกิดจากโมหะนี่เอง ตัวโมหะนี้ซ่อนตัวอยู่ประหนึ่งว่าไฟที่อยู่ในเหล็ก ถ้าไม่มีเครื่องกระทบ ไฟก็ไม่ออกมาให้ผู้อื่นเห็นได้ ฉันใด ส่วนตัวโมหะนี้เป็นอนุสัยนอนนิ่งอยู่ในสันดาน เพราะสังขารโลกและสังขารธรรมเข้าไปทับอยู่ หนักๆ เข้าก็เลยเข้าไปดองเกิดธาตุบูด ธาตุเปรี้ยวเกิดธาตุเมาขึ้น พระองค์ทรงปราบอนุสัยซึ่งนอนอยู่ด้วย ทรงเห็นปฏิจจสมุปบาทแจ้งชัด คืออวิชชาดับกลับเป็นวิชชาขึ้น ดังนี้สังขารทั้งหลายจึงดับหมด เมื่อสังขารดับเป็นวิสังขารแล้ว สิ่งเหล่านั้นจึงดับหมด

เมื่อเราจะถึงพระคุณนามในบทว่า อรหํ ก็จงพยายามให้รู้ในปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรมนี้ให้แจ้งชัด คือรู้ในปริยัติธรรมนั้น ได้แก่ รู้ศีลเป็นอย่างนั้น สมาธิเป็นอย่างนั้น ปัญญาเป็นอย่างนั้น ดังนี้เรียกว่ารู้ปริยัติ ส่วนปฏิบัติธรรมนั้น ได้แก่ ความที่รู้ปริยัติแล้วได้ประพฤติปฏิบัติตาม ส่วนปฏิเวธธรรมนั้น ได้แก่ รู้ผลที่ตนปฏิบัติมาแล้ว คือรู้สึกคุณในตนอย่างนี้ๆ มรรคผลมีในตนเพียงชั้นนี้ๆ รู้ดังนี้เรียกว่า ปฏิเวธธรรม