posttoday

พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์บำเพ็ญกุศล 8 รอบ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

29 ธันวาคม 2556

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์บำเพ็ญกุศล 8 รอบ

โดย...สุมาน สุดโต

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์บำเพ็ญกุศล 8 รอบ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ พระเถระรัตตัญญู ที่เจริญด้วยอายุและพรรษาเหนือกว่าสมเด็จพระราชาคณะทุกรูปทุกวันนี้

งานบำเพ็ญครบ 8 รอบ หรือ 96 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 29 ธ.ค. 2556 พระสงฆ์สมณศักดิ์ 19 รูป เจริญพระพุทธมนต์และรับพระราชทานฉันเพล และถวายเพลพระสงฆ์ 250 รูป ในเวลาเดียวกัน

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2556 เวลา 13.30 น. เจริญ สิริวัฒนภักดี และคุณหญิงวรรณา ประธานกรรมการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เจ้าของบริษัทเบียร์ช้างและบริษัทในเครือ เจ้าของกิจการโรงแรมพลาซ่า แอทธินี ในกรุงเทพมหานคร และในนครนิวยอร์ก สหรัฐ ได้เข้าถวายสักการะและปวารณาสร้างกุฏิ 3 ชั้น มูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท ถวาย 1 หลัง เพื่อเป็นอนุสรณ์สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์บำเพ็ญกุศล 8 รอบ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

 

วัตรปฏิบัติไม่ด่างพร้อย

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ในวัย 96 ปี ยังแก่กล้าด้วยสติปัญญาและมีวัตรปฏิบัติที่งดงาม ไม่มีอะไรด่างพร้อยในพระธรรมวินัย ในขณะที่จิตใจเต็มเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม

พระวินัยเมธี (พระมหาปราโมทย์) เลขานุการเจ้าคณะภาค 4567 (ธ) ที่ดูแลเจ้าพระคุณสมเด็จใกล้ชิดตลอดเวลา เล่าว่า เรื่องที่หลวงปู่ปฏิบัติเป็นประจำไม่เคยขาดเลย คือ สวดมนต์ไหว้พระก่อนจำวัด (นอน) ส่วนการออกกำลังกายก็ปฏิบัติเสมอถ้ามีเวลา โดยการเดินรอบกุฏิที่พัก

อาหารขบฉันเป็นของง่ายๆ ฉันได้ตามปกติ โดยไม่ต้องคุมน้ำตาล เพราะไม่มีโรคเบาหวาน แต่ล่าสุดคุณหมอแนะนำให้ลดรสเค็มลง

แม้จะไม่มีโรคเรื้อรังเหมือนผู้สูงวัยทั่วไป แต่เจ้าพระคุณสมเด็จยังต้องพบแพทย์เป็นประจำทุกเดือน พร้อมทั้งฉันยาวันละ 2 เม็ด เป็นยาแพงมากมีมูลค่าประมาณ 1 แสนบาทต่อเดือน

เด็กชาวนา

ชาติภูมิสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เดิมชื่อ กงมา แล้วเปลี่ยนเป็น มานิต เกิด ณ วันที่ 29 ธ.ค. 2460 ที่บ้านบ่อชะเนง ต.หนองแก้ว อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็น จ.อำนาจเจริญ) โยมบิดาชื่อ ช่วย โยมมารดาชื่อ กา นามสกุล ก่อบุญ เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 11 คน

บรรพชา พ.ศ. 2472 ที่วัดบ้านบ่อชะเนง ต.หนองแก้ว อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็น จ.อำนาจเจริญ) โดยมีญาคูโม้เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบท พ.ศ. 2480 อายุ 20 ปี ณ พระอุโบสถวัดสัมพันธวงศ์ วันที่ 8 พ.ค. 2480

ญาติย้อนอดีต

หนังสือที่ระลึกอายุวัฒนมงคล 96 ปี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เล่าเรื่องกว่าจะมีวันนี้ของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ไว้น่าฟังนัก

เช่นตอนหนึ่งบอกว่า ท่านนั้นเป็นลูกชายชาวนาแห่งบ้านบ่อชะเนง เกิดในตระกูลใหญ่ คือ ตระกูลก่อบุญ ที่มีญาติกระจายในหลายหมู่บ้าน อาทิ บ้านเหล่าขวาว ซึ่งเป็นบ้านของโยมบิดาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ บ้านโคกเลาะ บ้านโพนแพง บ้านเก่าบ่อ บ้านเก่ากรุง ล้วนแต่เป็นกลุ่มเครือญาติที่สืบเชื้อสายจากตระกูลก่อบุญทั้งสิ้น แม้จะไม่ใช่นามสกุลเดียวกันก็ตาม

ตระกูลก่อบุญ ก่อนจะมาตั้งหลักที่บ้านบ่อชะเนง เดิมอยู่ที่บ้านเก่ากรุง แล้วย้ายมาบ้านเก่าบ่อ เมื่อไม่สะดวกในการทำมาหากิน ได้ย้ายมาปักหลักที่บ้านบ่อชะเนง ที่มีสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์ในที่สุด ปัจจุบันบ้านบ่อชะเนงมีอายุมากกว่า 100 ปี และที่บ้านบ่อชะเนงนี่เอง ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ ด.ช.กงมา (มานิต) ก่อบุญ

หนังสือดังกล่าวนำเรื่องที่คุณยายลุน ขีระมาตร อายุ 77 ปี น้องสาวของเจ้าพระคุณสมเด็จ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) และเป็นลูกคนสุดท้องของนายช่วย และนางกา ก่อบุญ แม้จะอายุห่างจากสมเด็จถึง 13 ปี ก็ยังมีเรื่องให้รำลึกถึง เท่าที่จำได้ว่า สมเด็จ ชอบเที่ยวไปทุกที่ที่อยากจะไป เป็นคนชอบอิสระ ดื้อ แต่เป็นคนที่เรียนหนังสือเก่ง ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดโคกเลาะ ห่างจากบ้านไปประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วก็ไม่ได้เรียน เพราะไม่พอใจครูใหม่ที่ไม่ให้ความยุติธรรม.

ด้วยความน้อยใจจึงตัดสินใจหนีโรงเรียน ตั้งใจว่าจะเดินทางไปผจญภัยตามยถากรรมทางภาคกลาง แต่ยังไม่ทันได้ไปในขณะนั้น เพราะขาดผู้นำทาง และเพื่อนร่วมเดินทาง

ต่อมา พ.ศ. 2472 บิดาและมารดาตลอดจนญาติพี่น้อง นำตัว ด.ช.กงมา ไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ่อชะเนง ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน

จากนั้นพี่กับน้องก็ไม่ได้พบกัน จนกระทั่งสามเณรกงมากลายเป็นพระมหามานิต เติบโตบนเส้นทางธรรมะ กระทั่งเป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์

“ตอนที่ท่านบวชแล้วไปอยู่วัดที่กรุงเทพฯ ท่านยังฝากเงินมาให้ทุกปี ไม่ลืมพี่ลืมน้อง วันทำบุญพ่อกับแม่ ท่านก็มาไม่เคยขาด นอกจากนั้น ยังมาช่วยสร้างวัดบ่อชะเนง วัดเก่าสันติสุข (เก่าบ่อ) วันเกิดท่านยายเคยไปทุกปี แต่ระยะหลังไม่ค่อยแข็งแรงเลยไม่ได้ไป”

พระมหา 9 ประโยค

ทองใบ ผลบุบผา อดีตผู้ใหญ่บ้านบ่อชะเนง เล่าว่า เคยเห็นหน้าเห็นหลังสมเด็จ แม้ช่วงวัยเด็กของสมเด็จนั้นสั้นๆ เพราะไปบวชเณร ไปอยู่กับพระฝ่ายวิปัสสนาที่มาตั้งสำนักอบรมที่วัดเก่าบ่อ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านบ่อชะเนง

สมเด็จบวชอายุประมาณ 12 ปี ไปคลุกคลีรับใช้พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ญาคูเสาร์ ญาคูมั่น (ญาคู หมายถึง พระภิกษุที่ทำหน้าที่สอนธรรมะ) พระอุปัชฌาย์ของสมเด็จก็ชื่อ ญาคูโม้ สามเณรรุ่นเดียวกับสมเด็จที่ได้ไปรับใช้ใกล้ชิด คือ พระธรรมฐิติญาณ อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีอุบลรัตนาราม จ.อุบลราชธานี และอดีตเจ้าคณะภาค 10 (ธ) ที่มรณภาพไปแล้ว

หลังจากนั้นสมเด็จก็ติดตามพระกรรมฐานออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ มาทราบอีกครั้งก็หลังจากที่ท่านไปอยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์แล้ว

อดีตผู้ใหญ่บ้าน เล่าว่า เมื่อไปอยู่วัดสัมพันธวงศ์ จำได้ว่าเคยกลับมาบ้านบ่อชะเนง 1 ครั้ง แต่ถูกโยมพ่อดุที่ไปเล่นน้ำ จึงไม่กลับมาที่บ้านนี้อีก จนกระทั่งได้ทราบต่อมาว่าได้เป็นมหาเปรียญธรรม 9 ประโยค (พ.ศ. 2499) ที่มีผู้เรียนและจบชั้นสูงสุดถึงขั้นนี้หายากมาก

เกร็ดที่สะท้อนให้เห็นถึงอุปนิสัยของสมเด็จ มีครั้งหนึ่ง กำนันเหลา ก่อบุญ ซึ่งเป็นน้องชายของสมเด็จ เคยเดินทางไปวัดสัมพันธวงศ์เพื่อขอเงิน แต่สมเด็จบอกว่า เพราะมาบวชเพื่อเรียนหนังสือ ไม่ได้มาหาเงิน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น เอาจริงเอาจังในเส้นทางธรรมของสมเด็จ

แต่อัธยาศัยใจคอท่านดีมากต่อบ้านเกิดเมืองนอน ต่อญาติโยม เป็นคนเรียนหนังสือเก่ง สมองดี จบเปรียญธรรม 9 ประโยค ซึ่งใน จ.อุบลราชธานี ไม่มีเลยในช่วงนั้น

ที่สำคัญ ท่านเป็นพระธรรมยุตด้วย เพราะส่วนใหญ่พระธรรมยุต จะเน้นไปในทางปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

นี่คือจุดเริ่มต้นของลูกชาวนา ก่อนที่จะเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจริญอายุยืนยาว 96 ปี เป็นสังฆโสภณ และมีความจงรักภักดีต่อพระธรรมวินัยอย่างยิ่ง