posttoday

คุณสมบัติของ‘คนดี’

10 พฤศจิกายน 2556

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน คนดี คนที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรม ย่อมเป็นที่ต้องการของสังคม “คนดี”

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน คนดี คนที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรม ย่อมเป็นที่ต้องการของสังคม “คนดี” ซึ่งเรียกในภาษาทางธรรมว่า “สัตบุรุษ” นั้น มีลักษณะอย่างไร

การที่จะรู้ว่าใครเป็นคนดีนั้น ก็ต้องดูลักษณะของสัตบุรุษ หรือ สัปปุริสธรรม 7 นั่นเอง ได้แก่

1.ศรัทธา

2.หิริ

3.โอตตัปปะ

4.พาหุสัจจะ

5.วิริยะ

6.สติ

7.ปัญญา

ศรัทธา นั้นคือ ความเชื่อ ความเลื่อมใส ที่ถูกต้อง คือ เชื่อในการตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรมสั่งสอนสัตว์ และเชื่อในเรื่องเหตุและผลก็คือ เชื่อเรื่องกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จึงเป็นผู้มีจิตใจผ่องใส ความศรัทธาที่ถูกต้องนั้นนำให้ผู้นั้นละชั่ว ทำความดี

หิริ และ โอตตัปปะ นั้นคือ ความละอายและความเกรงกลัวต่อบาป ความละอาย หมายเอาความละอายใจ ไม่ทำชั่ว ด้วยเคารพตน เป็นต้น ความเกรงกลัวต่อบาปนั้น หมายถึง ไม่ทำบาปด้วยเกรงต่อผลของกรรม หรือโทษภัยต่างๆ เช่น การเสียชื่อเสียง การถูกลงโทษ กลัวภัยในอบาย เป็นต้น ผู้ที่มีหิริโอตตัปปะย่อมอยู่ในศีลในธรรม เป็นที่ไว้วางใจได้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

พาหุสัจจะ นั้นคือ พหูสูต เป็นผู้ฟังพระธรรมมามาก ทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว สั่งสมธรรมที่ได้ฟังมาแล้วศึกษามาแล้ว การฟังธรรม ซึ่งรวมทั้งการศึกษาธรรมนั้น ผู้ที่ได้กระทำโดยสม่ำเสมอ ได้ฟังธรรมอันถูกต้อง ย่อมช่วยให้ผู้นั้นเกิดปัญญา สามารถนำข้อธรรมะทั้งหลายที่ได้ฟังมาดีแล้ว ไปคิด ไปใช้ในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและมีเหตุผล การฟังธรรมเป็นประจำยังคอยเตือนตนไม่ให้ตกไปในความชั่ว ได้เพิ่มพูนความรู้ เมื่อจะคิดจะพูดจะทำ หรือจะแนะนำผู้อื่น หรือแก้ปัญหาของตนเองก็กระทำโดยอาศัยหลักธรรมเป็นเกณฑ์ ไม่ลุอำนาจของกิเลส รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว จึงประสบความสุขและความสำเร็จ ไม่ทำให้ตนและผู้อื่นเดือดร้อน หากทำผิดพลาดก็ยอมรับไม่ปิดบังมีมายา รู้ทางแก้ไข กลับตัวกลับใจได้ถูกต้อง ด้วยมีธรรมที่ตนฟังมาแล้วด้วยดีคอยกระตุ้นเตือน

วิริยะ นั้นคือ ความเพียรพยายามในทางที่ชอบที่ควร คือ เพียร 4 ประการ ได้แก่

1.เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

2.เพียรป้องกันอกุศลใหม่มิให้เกิดขึ้น

3.เพียรทำกุศลใหม่ให้เกิดขึ้น

4.เพียรรักษา กระทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

ความเพียรนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การละชั่ว กระทำดี ประสบความสำเร็จ หากไม่มีความเพียรเสียแล้ว ก็ไม่สามารถจะสำเร็จได้

สติ นั้นคือ ความตามระลึกได้ แม้ซึ่งกิจที่กระทำนานแล้ว คือ ความเป็นผู้ไม่ประมาท สตินั้นเป็นคุณธรรมฝ่ายดี เมื่อสติเกิด การทำชั่ว ทำบาป อกุศล อันนับว่าเป็นการประมาทย่อมไม่มี ผู้ที่มากไปด้วยสติ จึงเป็นผู้มากไปด้วยกุศลกรรม สติ ย่อมเกิดพร้อมด้วย หิริ โอตตัปปะ

ปัญญา นั้นคือ ความรู้เห็นตามความเป็นจริง ความเข้าใจธรรมที่ถูกต้อง ปัญญานั้นหมายความถึง ความรู้ที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ตามหลักธรรม ไปจนถึงการรู้อริยสัจ 4 ซึ่งเป็นความรู้ในขั้นที่ทำให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ไม่ว่าปัญญาจะเป็นระดับใดก็เป็นประโยชน์ ผู้ที่จะเป็นคนดีนั้น จะต้องประกอบด้วยปัญญา จึงจะสามารถนำพาตนและผู้อื่นให้พ้นทุกข์ในระดับต่างๆ ได้ ดังนั้นปัญญาจึงมีความสำคัญ เพราะทำให้สามารถแก้ปัญหา หาทางออกได้ถูกต้อง และตัดสินได้ว่าอะไรเป็นกุศล ควรกระทำ อะไรเป็นบาป อกุศล ไม่ควรกระทำ

สังคมไทยนั้นแสวงหาคนดีเพื่อเป็นผู้นำในระดับต่างๆ ก็ควรมองถึงคุณสมบัติเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องของความดีที่แท้จริง เพราะคนดีมิใช่หาได้ด้วยคุณสมบัติอื่นๆ ดังนั้นจึงอย่ามองกันถึงความรู้ความสามารถทางโลก หรือทรัพย์สินเงินทองเกียรติยศต่างๆ เพียงอย่างเดียว ควรต้องมองถึง สัปปุริสสธรรม 7 ประการนี้ให้มาก ผู้นั้นควรมีธรรมทั้ง 7 ประการนี้ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เราจะหาได้ ก็จะได้คนดีที่แท้จริง...