posttoday

ร่องรอยบุรพาจารย์ที่กุดเม็ก

04 สิงหาคม 2556

ตามประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ระบุว่า ท่านเกิดที่บ้านคำบง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

ตามประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ระบุว่า ท่านเกิดที่บ้านคำบง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

บ้านคำบง อ.โขงเจียม ปัจจุบันคือ อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี

ในปีระกา พ.ศ. 2428 ท่านบรรพชาเป็นสามเณร ขณะอายุ 15 ปี ที่โบสถ์วัดคำบง โดยมี ญาท่านโครต บ้านตุงลุงกลาง เป็นบรรพชาจารย์ ท่านบวชอยู่ 2 พรรษา จึงได้ลาสิกขาออกไปช่วยงานทางบ้านตามคำขอของบิดาขณะอายุ 17 ปี

พออายุ 22 ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และได้เข้าฝึกปฏิบัติธรรม ในสำนักวิปัสสนากับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ณ วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี

ขณะที่ประวัติหลวงปู่เสาร์ระบุว่า

“มีอยู่ช่วงหนึ่ง ประมาณปี พ.ศ. 24342435 หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กันตสีโล ได้ออกธุดงค์มาพักที่กุดเม็ก ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านคำบง อ.โขงเจียม ออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร

คำว่า “กุดเม็ก” มาจากคำว่า กุด คือลุ่มน้ำที่ปลายขาดห้วงเรียกปลายกุด และ เม็ก คือต้นสะเม็ก หรือที่เราเรียกว่า ผักเม็ก ยอดสีน้ำตาลอ่อน มีรสฝาด เอามาจิ้มกับน้ำพริก หรือกินกับลาบนั่นเอง

กุดเม็ก เป็นป่าร่มรื่นอยู่ติดกับลำห้วยยาง ที่ไหลลงมาจากภูหล่น มีน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดปี แม้ปัจจุบันนี้ชาวบ้านคำบงและหมู่บ้านใกล้เคียงยังได้อาศัยน้ำที่นี่ดื่มกินยามขาดแคลนในหน้าแล้ง

ข้อมูลนี้ได้จากหนังสือของท่านพระครูกมลภาวนากร เจ้าอาวาสวัดภูหล่น ซึ่งท่านได้บรรยายต่อไปว่า กุดเม็กนี้ยังเป็นป่าร่มรื่นดีอยู่ในปัจจุบัน เพราะชาวบ้านคำบงได้เห็นความสำคัญของสถานที่ของพระบุรพาจารย์ จึงได้ร่วมกันอนุรักษ์สถานที่แห่งนี้ไว้

สมัยที่หลวงปู่ใหญ่เสาร์มาพักบำเพ็ญเพียร อยู่นั้น กุดเม็กยังเป็นป่ารกชัฏไปตลอดแนวของลำห้วยยาง ผู้เฒ่าเล่าให้ฟังว่าพอถึงตอนกลางคืน แถวนั้นดูแสนเปลี่ยวยิ่งนัก ไม่มีใครกล้าเดินเข้าไปหาหลวงปู่ใหญ่คนเดียว ต้องไปกันหลายๆ คน

ท่านพระครูกมลภาวนากรได้ให้ข้อสังเกตว่า “ท่านหลวงปู่เสาร์ท่านชอบไปพักที่เป็นสัปปายะใกล้ๆ ลำห้วยลำน้ำเสมอ เช่น ที่กุดน้ำใส เขต อ.พิบูลมังสาหาร มีส่วนคล้ายคลึงมากกับสถานที่กุดเม็ก คืออยู่ใกล้ลำห้วยเหมือนกัน ยิ่งเป็นวัดดอนธาตุ บ้านทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร ที่ท่านอยู่จำพรรษาหลายปีนั้น เป็นเกาะดอน ตั้งอยู่กลางลำน้ำมูลเลยทีเดียว อากาศร่มรื่นเย็นสบายดี”

ใครจะบันทึกประวัติครูบาอาจารย์ไว้อย่างไรก็ตาม แต่คนที่บ้านคำบงและแถบวัดกุดเม็ก ระบุว่า ที่วัดกุดเม็กยังมี “กุฏิพระอาจารย์มั่น” อยู่ เมื่อตามไปดูก็เห็นวัดกุดเม็กซึ่งยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่มาก

กุฏิซึ่งบอกกันว่าเป็นกุฏิพระอาจารย์มั่น ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วจะเป็นกุฏิพระอาจารย์เสาร์หรือพระอาจารย์เสาร์ยังไม่แจ้งนั้นอยู่ริมห้วยยาง อยู่ในสภาพทรุดโทรม

ด้านหน้าวัดมีบ่อน้ำแห่งหนึ่งซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ และเล่ากันต่อๆ มาว่า เป็นบ่อที่พระอาจารย์มั่นมาตักน้ำไปอุปัฏฐากพระอาจารย์เสาร์ บ่อแห่งนี้อยู่ในสภาพดีเพราะผ่านการบูรณะมาแล้ว

ในประวัติพระอาจารย์มั่น ไม่ว่าฉบับหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หรือหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร ต่างไม่ได้ระบุชัดว่าทั้งพระอาจารย์เสาร์และพระอาจารย์มั่นมาอยู่ที่วัดป่ากุดเม็กเมื่อไหร่ นานเท่าไหร่ แต่จากการเทียบเคียงระยะเวลาแล้วไม่น่าจะเป็นช่วงที่พระอาจารย์มั่นบรรพชาเป็นสามเณร ถ้าเป็นไปตามที่ปรากฏอยู่ในประวัติพระอาจารย์เสาร์ข้างต้นก็น่าจะเป็นช่วงพระอาจารย์มั่นอุปสมบทแล้วใหม่ๆ ซึ่งน่าจะเป็นปีแรกๆ หลังจากบวชที่วัดเลียบด้วยซ้ำ นอกนั้นก็เป็นประวัติบอกเล่าจากท้องถิ่น ดังมีหลักฐานตามที่เห็นเท่านั้น