posttoday

เปลือกกระพี้แก่นของพุทธศาสนา

24 กุมภาพันธ์ 2556

พุทธศาสนาเมื่อเกิดขึ้นแล้วเปรียบเหมือนต้นไม้ ต้นไม้เกิดแล้วย่อมมีเปลือก กระพี้ มีแก่น

พุทธศาสนาเมื่อเกิดขึ้นแล้วเปรียบเหมือนต้นไม้ ต้นไม้เกิดแล้วย่อมมีเปลือก กระพี้ มีแก่น

ศาสนาก็ในทำนองเดียวกัน ดังนั้นควรจะรู้จักเปลือก กระพี้ และแก่น ของพุทธศาสนาด้วย

พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาว่า ตจสาโร แปลว่า สำคัญเปลือกเป็นแก่น คนโดยมากไปคว้าเอาเปลือกมาเป็นแก่น เลยไม่ได้ของดี

พุทธศาสนามีทั้งเปลือก กระพี้ และแก่น จึงค่อยยืนนานมาจนถึงทุกวันนี้

ต้นไม้ถ้ามีแต่แก่น ก็เหมือนกับต้นไม้ตาย ถ้ามีแต่เปลือก ก็เหมือนต้นกล้วย ไม่ถาวร ต้นไม้ใดที่มีครบทั้งเปลือก กระพี้ และแก่น ต้นไม้นั้นจะยืนนาน เพราะเปลือกเป็นเครื่องห่อหุ้มกระพี้ทำให้กระพี้เจริญงอกงาม กระพี้หุ้มห่อแก่น ส่งเสริมสนับสนุนให้แก่นค่อยๆ เจริญเติบโตเป็นลำดับ การที่พระพุทธศาสนาสืบต่อมาได้สองพันกว่าปีเช่นนี้ ก็ต้องมีทั้งเปลือก กระพี้ และแก่น เป็นเครื่องห่อหุ้มส่งเสริมซึ่งกันและกัน เช่นนั้นเหมือนกัน

เปลือก คืออะไร? กระพี้ คืออะไร? แก่น คืออะไร?

ท่านไม่ได้อธิบายไว้ อาตมาจะสมมติบัญญัติขึ้นเพื่อให้เข้าใจง่าย เปลือก ได้แก่ ศาสนพิธีต่างๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือ การทำบุญทำทาน รักษาศีล ถ้าขาดการทำทาน รักษาศีล หรือขาดศาสนาพิธีต่างๆ เสียแล้ว ศาสนาก็ไม่มีเครื่องหมาย

ลัทธิใดหรือศาสนาใดก็ตาม จำเป็นจะต้องมีขนบธรรมเนียมประเพณี คือ พิธีรีตองต่างๆ เป็นเครื่องหมายประจำ ซึ่งผิดแผกแตกต่างกันไปโดยเครื่องหมายนั้น จะทราบได้ที่ขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นๆ

โบราณท่านกล่าวไว้ว่า ทาน เป็นเครื่องเลี้ยงพวกพล ศีล เป็นมนต์วิชา ปัญญา เป็นอาวุธ จะเห็นได้ว่าถ้าขาด ทาน เสียอย่างเดียว ศาสนาจะไม่มีเหลือ หมดสิ้นกันเลย ฉะนั้น ทาน จึงเป็นเบื้องต้น เป็น เปลือก หุ้มห่อ กระพี้ ไว้ วันนี้จะอธิบายถึงเรื่อง ทาน และ ศีล ซึ่งเปรียบเสมือนเปลือก

การทำนุบำรุงพระศาสนา ด้วยการทำบุญทำทาน เช่น ตักบาตรหรือการสร้างศาลาการเปรียญ สำหรับไว้บำเพ็ญการกุศล เป็นต้น หากว่าไม่มีทานพวกนี้เป็นเครื่องทะนุถนอมบำรุงเสียแล้ว ศาสนาจะดำรงอยู่ไม่ได้ โบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ สำหรับประกอบศาสนาพิธีต่างๆ มีเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น นี่ก็เพราะการทำทานของชาวพุทธแท้ๆ คือ เปลือก นั่นแหละ

เอาละ! ถึงจะเป็น เปลือก ของศาสนาพุทธก็ตาม อาคารสถานที่ทุกชาติ ทุกประเทศที่เขาว่าสวยงามมาก ถ้าจะเอามาเทียบกับวัดวาอาราม โบสถ์วิหาร ของพุทธศาสนาในเมืองไทยแล้วเทียบกันไม่ได้เลย ในทัศนะของอาตมาแล้วเห็นว่า สู้โบสถ์วิหารของเมืองไทยไม่ได้ ซึ่งมีลวดลายงดงามวิจิตรพิสดาร สิ่งนี้แลเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติของพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องสง่างามของประเทศชาติบ้านเมือง แต่คนอื่นจะว่าอย่างไรไม่ทราบ

อนึ่ง ความสุภาพเรียบร้อย กิริยามารยาทนุ่มนวลของคนไทยนั้น ขอกล่าวว่าเป็นของน่าชมจริงๆ แม้ชาวต่างประเทศเขาก็เคยชมว่า ชาวไทยสุภาพนุ่มนวลเรียบร้อย คงเคยได้ยินกันแล้ว นี่เราได้เครื่องหมายความดีของพุทธศาสนาขึ้นมาแล้ว จากความงดงามของวัตถุ และความสุภาพเรียบร้อยของบุคคล ทั้งนี้เนื่องมาจากการทำทาน ถ้าไม่มีการทำทาน เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา

ทาน เบื้องต้น ทานอาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายไม่มีอาชีพทำมาหากิน ชีวิตอยู่เนื่องด้วยคนอื่น หากญาติโยมไม่ทำบุญสุนทาน พระก็อยู่ในพุทธศาสนาไม่ได้ พระไม่ได้ทำมาค้าขาย ไม่ได้ทำกสิกรรมอะไรทั้งหมด อยู่ได้เพราะการทำทานแท้ๆ ทาน เป็นของดีอย่างนี้ จึงเรียกว่า ทาน เป็นเครื่องเลี้ยงพวกพล

การศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม หรือการรักษาศีลของพระภิกษุเป็นตัวอย่างอันดีงามของชาวโลก หรือพุทธศาสนิกชนทั่วไป ในเมืองไทยที่ใดถ้าไม่มีวัดวาอาราม ไม่มีพระเจ้าพระสงฆ์เสียแล้วรู้สึกว่าบ้านเมืองนั้นจะเศร้าหมอง ผู้คนก็จะพลอยเศร้าหมอง จิตใจและหน้าตาไม่ผ่องใสสะอาดไปด้วย ถ้าหากว่ามีวัดหรือมีพระหรือมีการทำบุญทำทานอยู่เสมอๆ ถิ่นนั้นเมืองนั้นก็จะแจ่มใสผู้คนก็สะอาดผ่องใสจิตใจเบิกบาน

อย่างที่เขาอยู่ตามบ้านนอกชนบท ตามป่าตามรกก็ตาม ถ้าหากไม่มีการทำบุญ ไม่มีการประพฤติตามประเพณีทางพุทธศาสนาเสียแล้ว ก็จะพากันหมกหมุ่นอยู่แต่กับการงานของตน จะไม่มีการทำความสะอาด ไม่มีการแต่งตนแต่งตัวให้สะอาดสะอ้านเลย สกปรกขะมุกขะมอม นี่ก็เป็นของดีในเรื่องศาสนา ในเรื่องวัดวาอาราม ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำทาน เป็นทานสำหรับเลี้ยงพวกพล เป็นกำลังของพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง

พระพุทธเจ้าทรงสอนในชั้นแรกว่า ในหมู่พุทธบริษัท พระสงฆ์ เป็นผู้นำอุบาสกอุบาสิกา คือเมื่อชาวบ้านเข้าไปในวัดไปเห็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ก็อดละอายตัวเองไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดก็เจียมตัว เพราะตนยังมีความชั่วอยู่ พระสงฆ์เป็นผู้นำอย่างนี้ ศาสนามีอิทธิพลที่จะทำให้คนดีขึ้นมาได้อย่างนี้

เมื่อเราอุดหนุนค้ำจุนพระพุทธศาสนา ก็ชื่อว่าเราเป็นผู้อุดหนุนค้ำจุนตัวของเรา ผู้เป็นอุบาสกอุบาสิกา เสริมสร้างความดีขึ้นมาในตัวเราเองด้วย เมื่อมีการทำทานในตัวเราแล้ว ศีลก็พลอยเกิดขึ้นมาด้วย คือคนที่สร้างความดี มีแต่อยากดีร่ำไป เมื่อเห็นคุณงามความดีเพราะการทำทานว่า ดีขึ้นมาขนาดนี้แล้ว เกิดความพอใจที่จะมีการรักษาศีลให้ยิ่งขึ้นไปอีก นี่เป็นเปลือกที่หุ้มห่อกระพี้ไว้

ศีล เป็นมนต์เป็นวิชา วิชาดีคือศีล ศีลเป็นวิชาสำหรับเสกเป่าพิษภัย อันตรายร้ายแรงให้สูญหายไปได้ เช่น คนเคยฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ ประพฤติผิดมิจฉาจาร ถ้าหากเราเสกเป่าคาถาคือ ศีล ศีล 5 ศีล 8 พิษร้ายเหล่านั้นก็หายไปหมดสิ้น

ลองคิดดู คนเรานั้นเมื่อหมกมุ่นอยู่แต่ในการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตจิตใจอำมหิตโหดร้าย พยายามจะทำลายคนอื่นเขา เบื้องต้นก็ทำเล็กๆ น้อยๆ เพียงสัตว์เล็กๆ บางทีก็สัตว์ที่เบียดเบียนตน หนักๆ เข้าก็มันมือทำกับสัตว์ใหญ่ๆ ไม่เกรงขาม ไม่มีความละอาย นานหนักเข้าสัตว์ไม่มีจะฆ่า ก็ฆ่ากันเองตีกันเอง ทำลายกันเอง เลยสนุกมือไป อย่างนั้นแหละ

ถ้าเราเสกเป่าด้วยคาถาคือ ปาณาติปาตา เวรมณี งดเว้นเสียจากการทำลายสัตว์ คาถานั้นจะปัดเป่าให้หายไปเสียจากพิษร้าย เกิดเมตตาสงสารเอ็นดูกันและกันขึ้นมา คนก็จะสามัคคีปรองดองกัน ตลอดถึงสัตว์เหล่าอื่นด้วย

การลักลอบโกงขโมยก็เช่นเดียวกัน ถ้าคิดถึงสมบัติสิ่งของของเราที่มีแล้ว ก็ต้องหวงแหน มีสิ่งใดก็ไม่อยากให้เสื่อมสูญไป หามาได้ด้วยความลำบากตรากตรำ เมื่อได้มาแล้วก็อยากจะใช้หรือให้อยู่นานถาวรสักหน่อย สิ่งใดอยากได้ก็คอยแต่จะฉ้อโกงเขาร่ำไป ไม่คิดถึงอกถึงใจคนอื่น

ถ้าหากเรามาร่ายคาถาคือ อทินนาทานา เวรมณี เข้าไปพิษร้ายนั้นก็จะค่อยดับสูญไป ความเห็นอกเห็นใจกันก็จะเกิดมีขึ้นมนุษย์ชาวโลกก็จะอยู่เป็นสุข เช่นพวกที่มาอยู่ด้วยกันที่นี่ ถ้ามีใครสักคนหนึ่ง ที่จะลักสตางค์คนอื่นอยู่แล้ว จะทำอะไรก็ไม่ได้นั่งกันอยู่ก็คอยแต่จะหยิบจะค้นเอา แล้วจะมีความสุขอย่างไร

ถ้าหากต่างคนต่างมีจิตใจเป็นธรรม อยู่ด้วยกันไปด้วยกันไว้วางใจซึ่งกันและกัน ก็จะสงบเยือกเย็นเป็นสุขขึ้น ถ้าเรานั่งรถเดินทางไปที่ใดก็ตาม มีคนคอยแต่จะล้วงกระเป๋าเรา อย่างนี้มันจะมีความสุขที่ไหน นี่แหละโทษของการลักขโมยมันเป็นอย่างนี้

ถ้าหากเราเสกคาถา อทินนาทานา เวรมณี พิษอันนั้นก็จะหายไป โลกจะมีความสุข นับตั้งแต่อยู่ด้วยกันสองคนขึ้นไปถึงหลายคน จนถึงหมู่มากทั้งประเทศ ก็จะมีความสุขสบาย เพราะเหตุ อทินนาทาน

ทีแรกก็คิดอยากได้ อยากทำลายของคนอื่น ล้างผลาญคนอื่น มีแต่คิดได้อย่างเดียว แต่มันเบียดเบียนตนไปในตัวก็ไม่รู้ จะเห็นว่าเพราะโจรขโมยนั่นแหละ รัฐบาลจึงต้องเก็บภาษีอากรเพื่อไปให้เงินเดือนแก่ตำรวจ ทหาร ผู้พิพากษา และอัยการคอยชำระคดี คนไม่ซื่อตรง การเก็บภาษีอากรนั่นแหละมาเบียดเบียนเรา ทีแรกคิดล้างผลาญเบียดเบียนคนอื่น สุดท้ายวกมาเบียดเบียนตนเองไม่รู้ตัว

ในเรื่องอื่นก็เช่นเดียวกัน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ประพฤติผิด มิจฉาจาร พูดปด ดื่มสุราเมรัย เราเข้าใจว่าเราได้เปรียบ ทำเขาแล้วเราได้เปรียบ แต่ที่แท้จริงเราเสียเปรียบ เพราะอะไร? เพราะความชั่วความไม่ดีมันรั่วไหลเข้ามา มันซึมซาบอยู่ในจิตใจของเรา นี่แหละคือการเสียเปรียบ เมื่อเข้าใจเช่นนี้เรียกว่า เข้าถึงหลักธรรม เราขโมยเขาไม่ใช่เราขโมยเขา แต่แท้ที่จริงความชั่วมันขโมยความดีของเราไปแล้ว

การประพฤติผิดมิจฉาจารยิ่งร้ายใหญ่ ความไม่รู้จักสิทธิเสรีซึ่งกันและกัน ประพฤติผิดในบุตร ภรรยา สามี ซึ่งกันและกันเรียกว่า มิจฉาจาร คู่รักของใครก็ต้องหวงแหนของตนเหมือนกันทุกคน การทำลายความรักให้คู่รักห่างเหินจากกัน มันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนมาก

จะขอเล่าเรื่องโลกก่อตั้งขึ้นมาครั้งแรก มีเรื่องเล่าไว้ว่า ครั้งแรกโลกนี้ว่างเปล่าไม่มีผู้คน พรหมมีฤทธิ์เปล่ารัศมี เหาะลงมากินผิวดิน ซึ่งมีรสหอมหวาน แล้วกลับพรหมโลกไม่ได้ กลายมาเป็นเพศชาย ภายหลังเกิดเพศหญิงขึ้นมาอีก เมื่อต่างก็เพ่งเล็งซึ่งกันแล้ว ทำให้เกิดความปฏิพัทธ์รักใคร่ซึ่งกันและกัน กอดจูบกันในที่สาธารณะ

ตอนนี้ธรรม หิริโอตตัปปะ เกิดขึ้นในชนบางกลุ่ม แล้วผู้มีหิริโอตตัปปะเห็นเข้า พากันจับไม้ค้อนก้อนดินซัดปากันชุลมุน ภายหลังจึงได้พากันทำที่อยู่ มุงกั้นด้วยใบไม้ใบตอง และหาเครื่องปกปิดร่างกายด้วยใบไม้เปลือกไม้ พัฒนามาจนกระทั่งปกปิดด้วยผ้าเนื้อดีสีดี ดังที่ปรากฏอยู่นี้ โลกพัฒนามาด้วยศีลธรรมด้วยประการอย่างนี้ เมื่อโลกเจริญสุดขีด มันจะหันกลับเข้าสู่สภาพเดิมอีก ดังเราจะเห็นได้ในเรื่อง หิริโอตตัปปะธรรม ค่อยหายไปๆ จากจิตใจของคนสมัยนี้

ศีล 5 ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นใหม่ มีมาก่อนแล้วตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้อุบัติขึ้นมา พระองค์ทรงสอนให้ปฏิบัติตามความนิยมคือ ศีล 5 ถือว่าเป็นของดี ซึ่งมีมาแต่โบราณ เป็นเครื่องวัดความดีของบุคคลในโลก จึงทรงอนุมัติตั้งไว้ในพระพุทธศาสนา

มุสาวาท การกล่าวคำเท็จ ดื่มสุราเมรัย เหล่านี้ล้วนแต่เป็นความชั่ว ที่รั่วไหลซึมซาบเข้ามาดองอยู่ในใจ จนทำให้เสียคน ความชั่วทั้งหลายที่ซึมเข้าภายในใจเหล่านี้ ถ้าหากไม่ใช้คาถาเสกเป่าปัดไปตลอดเวลาแล้ว ก็จะไม่มีโอกาสเป็นคนดีขึ้นมาได้