posttoday

สำนักสถาปัตยกรรม ห่วงฐานานุศักดิ์ ของ...สถาปัตยกรรมไทย

16 ตุลาคม 2554

สถาปัตยกรรมการก่อสร้างไทย มีลำดับชั้นเรียกว่า ฐานานุศักดิ์ ใครคิดจะออกแบบก่อสร้างอะไรต้องศึกษาให้ดี

สถาปัตยกรรมการก่อสร้างไทย มีลำดับชั้นเรียกว่า ฐานานุศักดิ์ ใครคิดจะออกแบบก่อสร้างอะไรต้องศึกษาให้ดี

โดย..สมาน สุคโต 

เพราะอาจไปทำในสิ่งที่ละเมิดได้ แม้จะไม่มีกฎหมายหวงห้าม แต่วัฒนธรรมและประเพณีในการเคารพนับถือในสถาบันยังคงมีอยู่

สุทิน เจริญสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร บอกว่า มีบางวัดสร้างอาคารสถานที่โดยไม่คำนึงถึงฐานานุศักดิ์ บอกแล้วก็ไม่ฟัง ดื้อจะเอาอย่างนี้ เช่น วัดยานนาวา สร้างอาคารเครื่องยอด 5 ยอด หอไตร 3 ยอด ประตูทางเข้าอีก 3 ยอด สำนักสถาปัตยกรรมไม่มีกฎหมายบังคับพระได้ นอกจากให้ความรู้ด้านฐานานุศักดิ์ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ คงจะให้ได้แค่นั้น

วัดยานนาวา

หนังสือเรื่องวัดยานนาวาจากอดีตสู่ปัจจุบัน โดย สาวิตรี สุวรรณสถิตย์ เขียนว่า

ในปัจจุบันนี้วัดยานนาวาหันหน้าออกสู่ถนนเจริญกรุง และพระอุโบสถที่บูรณะใหม่ก็หันหน้าออกทางเดียวกัน ถนนเจริญกรุงสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีตะวันตกในรัชกาลที่ 4 มีความยาว 8,575 เมตร ปัจจุบันเป็นถนนที่มีการจราจรติดขัดมากที่สุดสายหนึ่งในกรุงเทพฯ และวัดยานนาวานั้นอยู่ย่านการค้า การท่องเที่ยวนานาชาติที่เจริญก้าวหน้า และการคมนาคมจอแจมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มีผู้คนและยวดยานพาหนะผ่านไปมาทั้งกลางวันและกลางคืน มีอาคารแบบตะวันตกสูงระฟ้าสร้างค้ำวัดอยู่โดยรอบ การดูแลรักษาวัดให้มีความสง่างามจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนบริหารจัดการที่ดี และคำนึงถึงบริบทของชุมชนทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมรอบๆ วัดที่มีการเปลี่ยนแปลงไป

สำนักสถาปัตยกรรม ห่วงฐานานุศักดิ์ ของ...สถาปัตยกรรมไทย

ยอดปราสาทที่วัดยานนาวา

ในปี 2530 รัชกาลปัจจุบัน เป็นปีมหามงคลครบรอบ 200 ปี พระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารมหาเจษฎาบดินทร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นอาคารอเนกประสงค์ทรงไทย สูง 3 ชั้น ประดับด้วยยอดปราสาท 5 ยอด ใช้เป็นศาลาการเปรียญ บำเพ็ญกุศล ปฏิบัติธรรม และเป็นหอประชุมด้วย นอกจากนี้ยังได้อนุมัติการสร้างหอพระไตรปิฎกเป็นอาคารทรงไทย 3 ชั้น ประดับยอดปราสาท 3 ยอด ใช้เป็นห้องสมุด มีทั้งหนังสือทั่วไปและหนังสือธรรมะ เปิดให้พระสงฆ์และบุคคลทั่วไปเข้ามาใช้บริการ และยังเก็บรักษาตู้พระไตรปิฎกเขียนลวดลายลงรักปิดทองของโบราณ พร้อมทั้งให้ปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในวัดยานนาวาถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมาเมื่อปี 2544 พระพรหมวชิรญาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส ได้รับพระบัญชาให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดยานนาวา ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ พัฒนาอาคารมหาเจษฎาบดินทร์ หอพระไตรปิฎก และบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์สำเภาและเสนาสนะสงฆ์ให้สะอาดและสวยงาม จากนั้นได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีสมโภชอาคารเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2546

หนังสือฐานานุศักดิ์

เพื่อขยายความรู้ให้ทั่วถึงทางด้านฐานานุศักดิ์ สำนักสถาปัตยกรรมจึงจัดพิมพ์หนังสือ ฐานานุศักดิ์ในสถาปัตยกรรมไทยขึ้นหนึ่งเล่ม เพื่อให้รายละเอียดว่าอันไหนทำได้ อันไหนทำไม่ได้ แบ่งเป็น บ้าน วัด วัง

เกรียงไกร สัมปัชชลิต อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เขียนไว้ในคำนำหนังสือดังกล่าวว่า ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยหันกลับมานิยมสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบตามลักษณะของงานสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย เพื่อให้มีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตไทยในยุคปัจจุบัน

แต่ปัญหาที่ตามมา คือ รูปลักษณ์อาคารสถาปัตยกรรมไทยนั้นมีขนบในเรื่องฐานานุศักดิ์ ซึ่งถือปฏิบัติในสายวิชาชีพอย่างเคร่งครัด แต่การนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมนั้นยังไม่มีการศึกษาหรือชี้แนะอย่างจริงจัง ดังนั้นเมื่อสำนักสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานในกรมศิลปากร จัดทำโครงการศึกษาเรื่องฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรมไทย กรมจึงให้การสนับสนุนเต็มที่

สำนักสถาปัตยกรรม ห่วงฐานานุศักดิ์ ของ...สถาปัตยกรรมไทย

แหล่งข่าวจากสำนักสถาปัตยกรรม เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องฐานานุศักดิ์เกิดเป็นประเด็นทางสังคมที่บางหน่วยงานเอาองค์ประกอบสถาปัตยกรรมไทยไปใช้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือรู้แล้วก็ดันทุรังจะทำเพื่อการต่อยอดทางธุรกิจ จึงเป็นภารกิจของสำนักสถาปัตยกรรมต้องลุกขึ้น ทำหนังสือนี้ออกมา แต่ไม่ได้หยิบยกเอากรณีศึกษาอันใดอันหนึ่งมาเขียน หรือเอาความผิดพลาดของเขามาเป็นผลงานของเรา

แต่เราทำด้านวิชาการเพื่อให้ความรู้ว่าการเอาองค์ประกอบที่เป็นประเภทหนึ่งมาใช้อีกประเภทหนึ่งในเชิงธุรกิจ อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เราจึงอยากฉายภาพว่าความถูกต้องคืออะไร ตั้งแต่ฐานชั้นเรือน ชั้นยอดมีที่มาที่ไปอย่างไร

ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยมีการพัฒนาทางสังคมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ระบบต่างๆ ยังมั่นคงอยู่ ทั้งในระบบของสถาบันก็ดี ของศาสนาก็ดี ซึ่งเราให้ความสำคัญ แต่ว่าในเรื่องของการบังคับใช้ เราไปบังคับใช้ไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายตัวไหนจะมาบังคับ จึงเป็นเพียงกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกว่าอันไหนควรไม่ควร เพราะบ้านเรายังอยู่ในระบบตรงนี้อยู่

เมื่อดูข้อมูลในหนังสือฐานานุศักดิ์ กล่าวถึงเครื่องยอดว่า เครื่องยอดเป็นคำเรียกองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมบริเวณส่วนบนของอาคารที่มียอดแหลม พล.ร.ต.สมภพ ภิรมย์ เรียกอาคารที่มียอดแหลมว่า กูฏาคาร มีความหมายว่า เรือนยอด คือ อาคารหรือเรือนที่มียอดแหลมตามวัฒนธรรมประเพณียกย่องว่าเป็นของสูง สร้างสำหรับพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ หรือพระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาเท่านั้น

แม้แต่วังหน้าที่ประทับของพระมหาอุปราชที่เรียกว่า พระราชวังบวรสถานมงคล ยังไม่บังอาจสร้างพระที่นั่งเป็นกูฏาคาร เพราะจะเป็นการเบ่งบารมีเทียบพระเจ้าแผ่นดิน

อาคารที่มีเรือนยอดนั้นเรียกว่า ปราสาท เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งมีเครื่องยอดตั้งอยู่บนหลังคา หรืออาจเป็นอาคารทรงบุษบกมีมุขเข้าไปสอดทั้งสี่ด้าน เช่น ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร รวมถึงโลหะปราสาทที่มีรูปแบบซ้อนหลายชั้น มีหลังคาเป็นเครื่องยอด

เครื่องยอดทั้งหลายยังแยกออกเป็นหลายประเภท แต่ละประเภทจะบอกถึงลำดับศักดิ์และความหมายที่ต่างกันไป ย้ำว่าเครื่องยอดทุกประเภทนั้นล้วนใช้ในงานที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และศาสนาเท่านั้น

การนำเครื่องยอดไปใช้จึงจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจก่อนการออกแบบเสมอ

แบบวัดมาตรฐานแต่ละท้องถิ่น

สุทิน ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม กล่าวว่า นอกจากนั้นสำนักสถาปัตยกรรมยังจัดทำแบบมาตรฐานสำหรับอำนวยความสะดวกแก่ผู้ต้องการนำไปสร้างวัด เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร หอระฆัง และเมรุเผาศพ เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของแต่ละภาค เหนือ กลาง ใต้ และอีสาน

สมัยก่อนเรายังไม่มีแบบมาตรฐานตามภาคหรือท้องถิ่น มีเฉพาะแบบภาคกลางอย่างเดียว เมื่อพระที่อยู่กรุงเทพฯ อยากได้แบบไปสร้างวัดที่บ้านเกิด มาซื้อแบบภาคกลางไป เมื่อเป็นเช่นนี้ไปภาคเหนือ ภาคอีสาน เห็นแต่โบสถ์ที่เป็นแบบภาคกลางทั้งนั้น ไม่มีแบบพื้นถิ่นที่บรรพบุรุษรังสรรค์ไว้

สำนักสถาปัตยกรรมจึงออกแบบพื้นถิ่นขึ้นมาเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ประจำถิ่นนั้นๆ หากพระจะนำแบบแต่ละภาคไปสร้างตามท้องถิ่น เมื่อเราเดินทางไปภาคไหน เห็นแล้วจะรู้ทันทีว่าเรามาถึงภาคนั้นแล้ว

โครงการนี้ทำมา 23 ปีแล้ว เพื่อออกแบบให้เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแต่ละภาค หากมาซื้อแบบเราจะถามว่าเอาไปสร้างที่ไหน หากบอกว่าที่อีสาน เราก็จะแนะนำว่าควรใช้แบบพื้นถิ่น เพื่อบอกอัตลักษณ์ท้องถิ่นนั้นๆ ทุกภาค ได้รับการสนองตอบดี

เรากำลังเผยแพร่ว่าเรามีสิ่งนี้ไว้บริการในราคาย่อมเยา คือ คิดแบบละ 200-300 บาทเท่านั้น ราคานี้ไม่คุ้มกับค่ากระดาษที่เราพิมพ์ แต่ไม่อยากให้ฟรี เพราะกลัวว่าใครๆ ก็มาขอ เราพิมพ์ให้ไม่ไหว

ต้นทุนแบบพิมพ์ราคา 500 บาท แต่ขาย 200-300 บาท ขาดทุนอยู่แล้ว ทำเพื่อการอนุรักษ์ ถ้ากรมศิลป์ไม่อนุรักษ์ จะไม่มีใครอนุรักษ์อีกแล้ว และที่ทำไม่ได้คิดแหวกแนวไปแข่งกับเอกชน เพราะเรามีหน้าที่อนุรักษ์สืบทอดให้คนรุ่นหลังรู้ว่าเรามีอย่างนี้ เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมของไทยเราจริงๆ

สำนักสถาปัตยกรรม ห่วงฐานานุศักดิ์ ของ...สถาปัตยกรรมไทย

พูดถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมตามความนิยมของพื้นถิ่นนั้น สถาปนิกจะจับเอกลักษณ์ ลวดลายที่โดดเด่นแต่ละภาคออกมา ลักษณะอาคารพื้นที่ใช้สอย ส่วนสูง จะค่อนข้างคล้ายคลึงกัน เช่น พระอุโบสถใน 3 ภาค จะมีขนาดคล้ายๆ กันในด้านความสูง แต่สัดส่วน ลวดลาย และองค์ประกอบอื่นๆ เป็นเอกลักษณ์ของภาคนั้นๆ

นอกจากนี้ ยังเว้นช่องว่างให้ช่างพื้นถิ่นสามารถไปประยุกต์ลวดลายอย่างที่เขาสามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ แบบมาตรฐานจึงมิใช่แก้ไขไม่ได้ ในแบบจะเขียนบอกว่าช่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม แต่ในทางวิศวกรรม รูปแบบโครงสร้างเปลี่ยนแปลงไม่ได้

ในการออกแบบมาตรฐานครั้งนี้ การออกแบบเมรุเผาศพเป็นงานสร้างสรรค์ใหม่ เพราะความนิยมคนไทยไม่ได้สร้างเมรุถาวร นอกจากเมรุลอย และแต่ละภาคมีความแตกต่างกัน

ผู้ออกแบบเมรุต้องคุยกันมากเพื่อหาข้อยุติ การออกแบบเมรุมาตรฐานจึงเป็นงานสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่

ที่เล่ามาได้ข้อสรุปว่า ถ้าต้องการออกแบบสร้างถาวรวัตถุ อาคารสวยงาม ต้องนึกถึงฐานานุศักดิ์ ถ้าต้องการสร้างวัด เช่น โบสถ์ วิหาร กุฏิสงฆ์ รวมทั้งเมรุเผาศพที่ได้มาตรฐานโดยไม่ต้องเสียค่าออกแบบ ต้องนึกถึงสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ที่รังสรรค์งานด้านสถาปัตย์สนองทุกความต้องการของสาธารณชนตลอดเวลา