posttoday

แนะเส้นทางกราบไหว้บูชาเสริมสิริมงคลช่วงตรุษจีน

14 กุมภาพันธ์ 2553

การไหว้พระก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นสิริมงคล ผู้เขียนขอแนะนำวัดและศาลเจ้าที่มีในกรุงเทพมหานคร ที่คนนิยมไปไหว้ บางแห่งไม่อยู่ในรายการไหว้พระ 9 วัด

การไหว้พระก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นสิริมงคล ผู้เขียนขอแนะนำวัดและศาลเจ้าที่มีในกรุงเทพมหานคร ที่คนนิยมไปไหว้ บางแห่งไม่อยู่ในรายการไหว้พระ 9 วัด

โดย...ตาแหลม

ตรุษจีนเป็นวาระสำคัญอีกวันหนึ่ง เพราะเป็นวันขึ้นปีใหม่ การหาสิริมงคลให้แก่ตนเองในวันเริ่มต้นปีเช่นนี้จะทำให้ชีวิตพบเห็นแต่สิ่งดีๆ การไหว้พระก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นสิริมงคล ผู้เขียนขอแนะนำวัดและศาลเจ้าที่มีในกรุงเทพมหานคร ที่คนนิยมไปไหว้ บางแห่งไม่อยู่ในรายการไหว้พระ 9 วัด ที่องค์กรบางแห่งโฆษณา ทั้งๆ ที่เป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในกทม. หรือศรัทธาที่ไหนไปที่นั่น

ย่านเขตสัมพันธวงศ์

แนะเส้นทางกราบไหว้บูชาเสริมสิริมงคลช่วงตรุษจีน มณฑปวัดไตรมิตรฯ

ย่านสัมพันธวงศ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งไชน่าทาวน์ หรือย่านเยาวราช ย่านนี้มีศาลเจ้าไม่น้อยกว่า 22 แห่ง บางแห่งอายุนับร้อยปี เช่น เล่งบ๊วยเอี้ย ที่ตรอกอิสรานุภาพ ศาลเจ้าปุนเถ่ากง ถนนทรงวาด ส่วนวัดมี 7 วัด ได้แก่ วัดไตรมิตร ที่ประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ ปัจจุบันมีมณฑปใหญ่สวยงามเพิ่งเปิดเป็นทางการเมื่อเดือนธ.ค. 2552 วัดปทุมคงคา ในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปทรงเครื่องที่รัชกาลที่ 4 สร้างถวาย วัดสัมพันธวงศ์ เดิมชื่อวัดเกาะ เป็นวัดโบราณเก่าแก่ แต่พระอุโบสถสร้างทันสมัยมีถึง 3 ชั้น แต่เจ้าอาวาสวัดนี้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อายุสูงถึง 93 ปี ทางวัดจึงติดตั้งลิฟต์ถึงชั้น 3 จึงกลายเป็นพระอุโบสถแห่งแรกของโลกที่มีลิฟต์ขึ้นลง

นอกจากนั้น พระเถระที่เป็นที่เคารพนับถือของทุกวงการและประชาชนทั่วไปคือ พระธรรมกิตติเมธี (จำนงค์) เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนี้ นอกจากดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมแล้ว ท่านยังเป็นเจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธ) อีกด้วย วัดกันมาตุยาราม เป็นวัดเล็กๆ อยู่ที่ตรอกเต๊า แต่ประตูหน้าต่างพระอุโบสถวัดนี้ประดับมุก ซึ่งมีน้อยวัดที่จะทำได้เช่นนี้วัดชัยชนะสงคราม (วัดตึก) เป็นวัดที่เจ้าพระยา
บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ถวายบ้านตึกให้เป็นวัดในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงมีชื่อว่าวัดตึก แต่ต่อมาตึกนั้นถูกรื้อไปโดยเจ้าอาวาสรูปก่อน

วัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นวัดที่ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาล และเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพ
รัชกาลที่ 3 ด้วย เป็นวัดแรกที่มีสวนสัตว์ ซึ่งสัตว์ที่มีชื่อเสียงคือ จระเข้ นอกจากนั้นมีโบราณสถาน ถาวรวัตถุ และรูปหล่อโบราณเจ้าพระยาบดินทรเดชาให้กราบไหว้บูชาวัดบพิตรพิมุข หรือวัดเชิงเลน เป็นวัดโบราณที่ผู้คนนิยมไปกราบไหว้ที่วัดนี้ ได้แก่ หลวงปู่ไข่ รูปหล่อของท่านตั้งอยู่ในวิหารเล็กๆ ข้างพระอุโบสถ นอกจากนั้นประชาชนยังนิยมไปเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระเณรนักศึกษาทุกวันอีกด้วย
ส่วนวัดจีนที่เขตสัมพันธวงศ์ มี 2 วัด คือ วัดชัยภูมิ และวัดบำเพ็ญจีนพรต (ย่ง ฮก ยี่) วัดหลังนี้เป็นวัดเล็กที่สุดในย่านเยาวราช ตั้งอยู่ปากตรอกเต๊า พระพุทธรูปและอรหันต์ 18 องค์ของวัดทำจากกระดาษ หรือที่เรียกว่า เปเปอร์มาเช

นอกจากนั้น ก็มีวัดญวน หรืออนัมนิกายอีก 4 วัด คือ วัดโลกานุเคราะห์ วัดอุภัยราชบำรุง วัดมงคลสมาคม และวัดกุศลสมาคร โดยเฉพาะวัดหลังนี้เป็นที่พำนักพระมหาคณานัมธรรมปัญญาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่อนัมนิกาย เจ้าสำนักเรียน และผู้ก่อตั้งมหาปัญญาวิทยาลัยหาดใหญ่

ย่านเขตป้อมปราบฯ

วัดและศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ได้แก่ ศาลเจ้าปอเต็กเซียงตึ้ง ติดกับสน.พลับพลาไชย วัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ ถนนเจริญกรุง เป็นวัดจีนที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ตรุษจีนทุกปีทั้ง 2 แห่งนี้แน่นไปด้วยพี่น้องชาวจีนทุกเพศทุกวัยใกล้กับปอเต็กเซียงตึ้ง คือ วัดคณิกาผล หรือวัดใหม่ยายแฟง สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ในอุโบสถมีพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยสีเหลืองเหมือนทองคำเป็นพระประธาน

ข้ามไปห้าแยกพลับพลาไชย จะพบวัดพลับพลาชัย ที่ห้าแยก ช่วงตรุษจีนมีงานประจำปี ให้ประชาชนชาวจีน ชาวไทยปิดทองพระประธานในอุโบสถ วัดนี้มีกุฏิและเสนาสนะสงฆ์มาก แต่ปิดไว้เฉยๆ เพราะมีพระอยู่ประจำน้อยรูป บางปีไม่ครบ 4 รูปด้วยซ้ำทั้งๆ ที่สถานที่รับได้นับสิบๆ รูปติดกับวัดนี้ได้แก่ วัดเทพศิรินทราวาส สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 มีอนุสรณ์สถานเจ้าคุณนร พระศักดิ์สิทธิ์ให้กราบไหว้ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล ด้านหน้าพระอุโบสถ เมื่อไปสี่แยกวรจักร จะพบวัดพระพิเรนทร์ วัดนี้มีหลวงพ่อดำในวิหารเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ คนไทยคนจีนรู้จัก เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวฝรั่งต่างชาติที่นั่งตุ๊กตุ๊กมากราบไหว้เป็นประจำเกือบทุกวันไปย่านแม้นศรี แน่นอนที่นี่คือวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวง เป็นวัดคู่มากับการสร้างกรุงเทพมหานคร เดิมชื่อวัดสะแก รัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่และพระราชทานนามว่า วัดสระเกศ มีพระบรมบรรพตหรือภูเขาทอง เป็นที่กราบไหว้

ย่านเขตพระนคร

แนะเส้นทางกราบไหว้บูชาเสริมสิริมงคลช่วงตรุษจีน หลวงพ่อทองคำ วัดไตรมิตรฯ

เมื่อเข้าเขตพระนคร มองไปที่ไหนเจอแต่วัด เอาแค่ถนนมหาไชย จะพบวัดเทพธิดาราม ในพระอุโบสถมีพระประธานทำด้วยศิลาขาวประดิษฐานบนบุษบก ในพระวิหารมีรูปหล่อพระภิกษุณีนับสิบองค์ เป็นวัดแห่งเดียวที่มีรูปหล่อพระภิกษุณี หนึ่งในพุทธบริษัท 4 มากขนาดนี้ และที่ควรไปเยี่ยมคือที่อยู่มหากวีรัตนโกสินทร์ ได้แก่ กุฏิสุนทรภู่ ข้ามคลองวัดเทพธิดา เป็นวัดราชนัดดาราม เป็นที่ตั้งโลหะปราสาท บนยอดสุดมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานให้ประชาชนกราบไหว้ โลหะปราสาทนี้มีที่นี่แห่งเดียวในโลก

ออกจากวัดทั้ง 2 ไปที่ถนนดินสอจะพบศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แต่ที่โดดเด่นเป็นสง่าคู่กับรัตนโกสินทร์คือ เสาชิงช้า วัดสุทัศน์ และโบสถ์พราหมณ์

วัดสุทัศน์ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 ที่พระวิหาร มีพระศรีศากยมุนี ที่อัญเชิญมาจากสุโขทัยเป็นพระประธานบานประตูใหญ่ของพระวิหารสลักไม้สวยงาม รอบพระวิหารมีถะ หรือเจดีย์ศิลาแบบจีน เป็นถะ 6 ชั้น จำนวน 28 องค์ พระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธตรีโลกเชฏฐ์ ที่ศาลาการเปรียญมีพระพุทธเสรฏฐมุนี ที่หล่อด้วยกลักฝิ่นเมื่อพ.ศ. 2382โบสถ์พราหมณ์ ตั้งอยู่ใกล้ๆ เข้าไปบูชาเทพต่างๆ
ในศาสนาฮินดู ที่คนไทยนับถือทั้งพระพรหม พระศิวะ และพระนารายณ์ รวมทั้งศิวลึงค์จากโบสถ์พราหมณ์ ไปที่ถนนมหรรณพารามก็จะพบศาลเจ้าพ่อเสือ หรือที่คนจีนเรียกว่า ตั่วเล่าเอี้ย ลัทธิเต๋า เป็นที่ประดิษฐานเจ้าพ่อเสือ เจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่ทับทิม ที่ศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นสถานที่สำคัญยิ่งที่ชาวจีนต้องบูชา

ใกล้กับศาลเจ้าพ่อเสือได้แก่ วัดมหรรณพาราม เป็นวัดสร้างสมัยรัชกาลที่ 3 ที่โด่งดังสมัยนั้น แต่คนพูดถึงน้อย สมัยนี้คือหลวงพ่อพระร่วง พระพุทธรูปทองคำ ขนาดเดียวกันกับหลวงพ่อทองคำวัดไตรมิตร ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเพราะรัชกาลที่ 3 ทรงให้ชะลอมาจากเมืองเหนือเพื่อเป็นพระประธานในพระอุโบสถ แต่เมื่อมาถึงเข้าโบสถ์ไม่ได้เพราะใหญ่มาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวิหารประดิษฐานนับแต่นั้นมา
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เป็นพระอารามที่อยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพ.ศ. 2326 เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” (พระแก้วมรกต)

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือที่รู้จักกันในนาม “วัดโพธิ์” เดิมชื่อ “วัดโพธาราม” มีพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงศรีอยุธยา มีหมู่ฤาษีดัดตน ตำราแพทย์แผนโบราณ เป็นที่รวบรวมสรรพวิชาความรู้มาจารึกบนแผ่นศิลาติดไว้บริเวณพระอุโบสถ ศาลา เพื่อให้ประชาชนมาศึกษาหาความรู้ ที่ผู้คนทุกชาติภาษาไปกราบไหว้คือพระนอนองค์ใหญ่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อยู่ติดกับสนามหลวง เป็นที่ประดิษฐานหลักเมือง และองค์เทพต่างๆ ที่คุ้มครองประเทศไทยให้อยู่รอดปลอดภัย เทศกาล
สำคัญเช่นนี้ต้องไปไหว้เพื่อความมีหลักมีชัยติดกับสนามหลวงได้แก่ วัดมหาธาตุยุวราช ทรังสฤษฏิ์ เป็นวัดที่ประทับสมเด็จพระสังฆราชหลายพระองค์ในช่วงก่อนที่รัชกาลที่ 4 จะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

ในพระอุโบสถกว้างใหญ่ไพศาลจุอุบาสกอุบาสิกานับพันคน เป็นสถานที่มีพร้อมทั้งด้านปริยัติ กล่าวคือเป็นที่มหาธาตุวิทยาลัย ที่ตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นที่ปฏิบัติธรรมที่เป็นตำนานการภาวนายุบหนอ พองหนอ และปัจจุบันก็ยังสอนและปฏิบัติกันอยู่วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เป็นอีกวัดหนึ่งที่ไม่พลาด สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสถาปนาวัดขึ้นมาใหม่จากวัดโบราณที่มีชื่อว่าวัดตองปุ และรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายราชสามัญ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ทหารรามัญในกองทัพของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ที่มีชัยชนะต่อกองทหารข้าศึกถึง 3 ครั้ง จึงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดชนะสงคราม”

พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง มีพระนามว่า พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ ปัจจุบันสมเด็จพระมหาธีราจารย์ คณะผู้ปฏิบัติ
หน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นเจ้าอาวาสจากวัดชนะสงครามก็ข้ามถนนสิบสามห้างไปเป็นวัดบวรนิเวศวิหาร เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดใหม่ ได้รับพระราชทานชื่อใหม่ เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จมาประทับเมื่อปีพ.ศ. 2375 นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลปัจจุบันทรงผนวช

สิ่งสำคัญภายในวัดบวรนิเวศวิหาร ได้แก่ พระอุโบสถ เป็นอาคารแบบตรีมุข หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบ ตรงกลางมีตรามหามงกุฎ พระประธานในพระอุโบสถคือพระพุทธชินสีห์ มีวิหารพระศาสดา พระเจดีย์ใหญ่ และพระตำหนักปั้นหยา สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเจ้าฟ้าที่ทรงผนวชวัดนี้แท้จริงแล้วมี 2 วัด คือ วัดรังษีสุทธาวาส ซึ่งเป็นวัดมหานิกายสร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยพระสัมพันธวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีประกาศให้ยุบรวมกับวัดบวรฯ ที่เจริญรุ่งเรือง แต่วัดรังษีฯ กลับร่วงโรย ปัจจุบันส่วนของวัดรังษีฯ คือคณะเหลืองรังษี เขียวรังษี และแดงรังษี มีพระอุโบสถและวิหารตั้งอยู่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยมหามกุฏฯ

ย่านธนบุรี

เมื่อข้ามฟากไปฝั่งธนฯ มีวัดที่ผู้คนเข้าไปทำบุญปฏิบัติธรรมกันเยอะมาก เช่น วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2368 ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้ถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร” พร้อมกับทรงสร้างพระวิหารหลวงเพื่อเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธไตรรัตนนายก” (หลวงพ่อโต) ซึ่งเป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 4 หรือเรียกตามแบบจีนว่า (ซำปอฮุดกง หรือซำปอกง) ช่วงตรุษจีน ชาวไทยเชื้อสายจีน หรือชาวจีนไม่เคยเว้นที่จะไปกราบคือ หลวงพ่อซำปอกงในวิหาร

วัดสมเด็จพุฒาจารย์ (โต)

อยากดังต้องไปวัดระฆังโฆสิตาราม มีพระประธานยิ้มรับฟ้า นอกจากนี้ยังมีหอไตรเป็นรูปเรือนสามหลังแฝด ภายในมีภาพจิตรกรรมที่สำคัญหลายแห่งทั้งบานประตู และฝาผนัง รวมทั้งตู้พระไตรปิฎกสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นพระเถระผู้ทรงเกียรติคุณ วิทยาคุณโด่งดังมากแต่อดีตจวบจนปัจจุบันการไปสักการะสมเด็จพุฒาจารย์ เพื่อขอพร โดยการสวดคาถาชินบัญชรเมื่อสวดจบแล้ว ปักธูปที่กระถางและปิดทองที่รูปปั้น แล้วอย่าลืมพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เมื่อพ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จทางชลมารคจากกรุงศรีอยุธยามารุ่งเช้าที่หน้าวัดมะกอก
จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น

“วัดแจ้ง” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ทรงปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม” ภายในวัดอรุณฯ มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ พระปรางค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกสูง 33 วาเศษ ในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก ซึ่งรัชกาลที่ 2 ทรงปั้นหุ่นและพระพักตร์ด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง และยังมีพระวิหารที่มีพระบรมสารีริกธาตุที่เกศพระพุทธชมภูนุชฯ มีพระอรุณหรือพระแจ้ง ที่รัชกาลที่ 4 ทรงอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างจังหวัดได้แก่หลวงพ่อโสธรฉะเชิงเทราหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง อยุธยา และหลวงพ่อวัดป่าเลไลย์ สุพรรณบุรี เป็นต้น

ผู้เขียนชี้แนะพอหอมปากหอมคอเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้แสวงหาความเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อจะได้แต่สิ่งดีๆ และเจริญก้าวหน้าในอนาคต