posttoday

ทุเรียน 4.0 ลูกละแสน

21 พฤษภาคม 2561

ต้องยกมือท่วมหัวเมื่อเห็นข่าว เทศกาลผลไม้และของดีกันทรลักษ์ 61 จ.ศรีสะเกษ

โดย..ณ กาฬ เลาหะวิไลย

ต้องยกมือท่วมหัวเมื่อเห็นข่าว เทศกาลผลไม้และของดีกันทรลักษ์ 61 จ.ศรีสะเกษ ที่มีการเปิดประมูลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษลูกแรกในราคา 1.5 แสนบาท เป็นราคาที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการประมูลทุเรียนมา

ขณะที่ชาวสวนกันทรลักษ์จำหน่ายทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษอยู่ที่กิโลกรัมละ 160 บาท

นี่แหละ ถึงต้องบอกว่า ต้องยกมือท่วมหัวด้วยความยินดี

เพราะสินค้าเกษตรจำเป็นต้องยกระดับราคาด้วยการสร้างเรื่องราว สร้างคุณภาพให้กับตัวสินค้า ไม่ใช่ชั่งกิโลขายแบบไม่มีอนาคตกันทั้งหมด

ทุเรียนศรีสะเกษมาแรงแซงโค้ง ขายถึงกิโลกรัมละ 160 บาท ด้วยการสร้างเนื้อหาดินภูเขาไฟ ทำให้ได้ผลดี มีรสชาติอร่อย มีแร่ธาตุโพแทสเซียมอยู่มาก โดยเฉพาะทุเรียนถือว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ กลายเป็นทุเรียนภูเขาไฟที่มีแห่งเดียวในโลก

ในเมืองไทยผลไม้ที่ขายได้ราคาจึงมีทุเรียน นับจากทุเรียนก้านยาว เมืองนนท์ ประมูลขายได้ราคาลูกละ 3 แสน ขายปลีกลูกละเป็นหมื่น มาถึงทุเรียนพันธุ์กบชายน้ำ ปราจีนบุรี ก็ลูกละเป็นหมื่น หลงลับแล-หลินลับแล อุตรดิตถ์ ที่ขายได้ในราคาสูงกว่าปกติ

ที่เหลือมีสับปะรดภูเก็ต ที่ประมูลขายลูกละเป็นหมื่น และขายปลีกลูกละเป็นพัน

ผลไม้ชนิดอื่นยังไม่สามารถยกระดับราคาขึ้นมาได้ 

การที่ผลไม้เหล่านี้ ทั้งทุเรียน สับปะรด สามารถยกระดับราคาขาย ถือเป็นทางรอดของเกษตรกรและเป็นทางรอดของประเทศ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของเรายังเป็นเกษตรกร ปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกผลไม้ ที่มีปัญหาราคาตกต่ำสลับไปมาตลอด

หนทางเดียวก็คือต้องยกระดับคุณภาพการผลิต สร้างผลไม้ระดับแชมเปี้ยน แยกขายเป็นลูกให้ได้ราคา เป็นตัวอย่างให้เกษตรกรอื่นๆ พัฒนาคุณภาพการผลิต ไม่ใช่ปลูกแล้วขายเป็นกิโล หรือขายเป็นกระป๋องตลอดเวลา อย่างนี้ก็เหนื่อย

อย่างญี่ปุ่น ผลไม้หลากหลายชนิดราคาแพงระยับ องุ่นทับทิมโรมัน ขายกันพวงละหลายแสนบาท แตงโมเปลือกจากฮอกไกโด ขายลูกละ 2 แสนบาท

ผลไม้ที่ว่าถ้าในสภาพความเป็นจริงราคาไม่แพงขนาดนี้ แต่มีการสร้างเรื่องราว โดยเฉพาะการนำผลไม้พวงแรก ลูกแรกมาเปิดประมูลขายได้ในราคาสูง ผู้ที่ชนะประมูลยอมจ่ายแพงเพื่อเป็นกำลังใจให้เกษตรกรชาวญี่ปุ่นจะได้มีแรงในการปลูกพืชผัก ผลไม้ ต่อไป

และสิ่งที่ตามมาก็คือราคาผลไม้ชนิดเดียวกัน ในท้องถิ่นเดียวกัน ขยับตามเป็นทิวแถว 

สิ่งเหล่านี้ถ้าทำได้ในเมืองไทย อย่างเช่น ให้ผู้ว่าฯ ในพาณิชย์จังหวัดทุกแห่งไปหาผลไม้ หรือพืชผักที่จะพัฒนาเป็นสินค้าระดับสุดยอดของตัวเอง และจัดทำแผนยกระดับราคาแบบที่เห็นเป็นตัวอย่าง จะช่วยให้ชีวิตเกษตรกรดีขึ้น

แต่ก็อีกนั่นแหละ มีเสียงบ่นว่า ทุเรียนแพง สับปะรดแพง จะทำอย่างไร

คำตอบก็คือต้องไปหาอย่างอื่นมาแทน หรืออะไรที่แพงก็กินน้อยหน่อย เห็นใจเกษตรกรเถอะ

ถ้าเกษตรกรดีขึ้น บ้านเมืองเราจะดีขึ้นเอง