เบื้องหลังลดค่าไฟ คือกลไกที่ กกพ.วางระบบ หาใช่ผลงานของ รมต.
ที่มาค่าไฟฟ้าที่ลดลง จาก 4.77 บาทในปี 2566 เหลือ 3.98 บาท ลดลงเพราะต้นทุนลด และการบริหารจัดการของ กกพ.-ข้าราชการกระทรวงพลังงาน ผู้อยู่เบื้องหลัง หาใช่ผลงานของรมต.
ค่าไฟฟ้าที่ลดลงจากหน่วยละ 4.77 บาท เมื่อปลายปี 2566 เหลือหน่วยละ 3.98 บาทในปัจจุบัน ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกาศเป็นผลงานของตัวเอง อ้างว่า เป็นเพราะการบริหารจัดการของตน จึงทำให้คนไทยลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 2.7 แสนล้านบาท โดยไม่พูดถึงที่มาที่ไป เหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมา ในความเป็นจริง ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ค่าไฟฟ้าก็ลดอยู่แล้ว
ค่าไฟของไทยใช้ระบบสะท้อนต้นทุน เพื่อให้ผู้ใช้ไฟตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า ไม่ให้ใช้อย่างสิ้นเปลือง ฟุ่มเฟือย
ยังมีกลไกที่ให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการไม่ให้ราคาค่าไฟเกิดการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน โดยให้ค่อยๆปรับขึ้นหรือปรับลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือแม้แต่ให้มีเสถียรภาพ เพราะค่าไฟเป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐานของประชาชนและภาคอุตสาหกรรม
ดังนั้น หากไม่มีสถานการณ์พิเศษใดๆ ค่าไฟทุกๆ 4 เดือนจะเปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนจริงที่เกิดขึ้น เช่น ราคาก๊าซ ราคาถ่านหิน อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ถึงแม้จะไม่มีใครทำอะไรเลย ค่าไฟก็ลดลงได้ โดยไม่ต้องใช้ความสามารถอะไรเลย
ค่าไฟฟ้าที่ลดลงมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2566 จนถึงปัจจุบัน นอกจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลง ค่าบาทที่อ่อนตัวลง ยังเป็นเพราะ การทำงานของข้าราชการกระทรวงพลังงาน ร่วมกับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สำนักงาน กกพ. และ กฟผ.ที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่แค่ฝีมือของรัฐมนตรี
ค่าไฟฟ้าเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 หน่วยละ 4.77 บาท งวดถัดไปคือ ก.ย.-ธ.ค. ลดลงมาเหลือหน่วยละ 3.99 บาทต่อหน่วย วิธีการคือ
งดคืนหนี้ค่า เอฟทีสะสม ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)
ตรึงราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้ผลิตไฟฟ้า โดยให้ ปตท. และ กฟผ. รับภาระส่วนต่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ข้าราชการทำกันเอง ไม่เกี่ยวกับ รัฐมนตรี
เดือน ม.ค.-เม.ย. 67 ค่าไฟฟ้าเพิ่มเป็นหน่วยละ 4.18 บาท ซึ่งน้อยกว่าราคาที่ควรจะเป็น เพราะก๊าซธรรมชาติแพงขึ้น โดยค่าไฟที่ลดลงมาจาก
งดคืนหนี้ กฟผ.
งดคืนหนี้ ปตท.
spot LNG ถูกลง
ทำ single pool ทำให้ราคาแก๊สที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลดลง ซึ่ง กกพ. และกระทรวงพลังงาน ทำไว้ตั้งแต่ก่อนนายพีระพันธุ์จะมาป็นรัฐมนตรี
ยึดเงิน shortfall 4,300 ล้านบาทจาก ปตท. เงิน short fall คือเงินที่ผู้ผลิตก๊าซอ่าวไทยต้องจ่ายให้ ปตท.เพราะไม่สามารถผลิตก๊าซได้ตามสัญญาในช่วงปี 2563 -2565 โดยการนำเงิน shortfall มาลดค่าไฟ เป็นการดำเนินการของ กกพ.
เดือน พ.ค.-ส.ค. 67 และ ก.ย.-ธ.ค. 67 ค่าไฟฟ้าคงที่ 4.18 บาท แม้ต้นทุนก๊าซจะถูกลง แต่มีการคืนหนี้ กฟผ.บ้าง ส่วนหนี้ ปตท.ยังไม่คืน
เดือน ม.ค.-เม.ย.68 ค่าไฟลด 3 สตางค์ เหลือหน่วยละ 4.15 บาท โดยคืนหนี้ กฟผ. น้อยลงจาก
งวดก่อน หน่วยละ 3 สตางค์
เดือน พ.ค.-ส.ค. 68 ค่าไฟฟ้า ลดเหลือ 3.98 บาท โดย กกพ ใช้เงิน claw back 12,000 ล้านบาท ที่ 3 การไฟฟ้าเพิ่งส่งคืนมา มาอุดหนุนค่าไฟฟ้า
นี่คือไส้ในของค่าไฟฟ้าที่ลดลงจาก หน่วยละ 4.77 บาท ในเดือน ส.ค. 2567 มาเหลือ 3.98 บาท ในปัจจุบันซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นการทำงานของ กกพ. และข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่ใช้กลไกที่มีอยู่แล้ว มาบริหารจัดการค่าไฟฟ้า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังค่าไฟฟ้าที่ลดลง