posttoday

มองคุณภาพชีวิตประชาชนผ่านคุณภาพอากาศ

20 เมษายน 2567

นักวิชาการ วอนรัฐยกระดับมาตรการจัดการฝุ่นพิษ PM2.5 หลังปล่อยคุกคามคุณภาพชีวิตประชาชน และเศรษฐกิจไทยซ้ำๆทุกปี แนะเริ่มลงทุนเพื่อสุขภาพสาธารณะ ชี้อากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี

ในช่วงเช้าของทุกวันผู้เขียนมักจะมองออกนอกหน้าต่างที่พัก และพยายามที่จะชื่นชมทัศนียภาพของกรุงเทพฯ ซึ่งหลายครั้งที่ความสวยงามของกรุงเทพฯ มักจะโดนบดบังด้วยควันพิษและฝุ่นขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่เกิดขึ้นมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้คน (หลังจากนี้ผู้เขียนขอเรียกว่าฝุ่นพิษ) ซึ่งปัญหาดังกล่าวก็มักจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในทุก ๆ ปี แต่ก็ยังไม่มีความพยายามจากภาครัฐที่เห็นได้ชัดและมีประสิทธิภาพเพียงพอในการกำจัดฝุ่นพิษอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมลพิษทางอากาศนี้ได้ส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะรวยหรือจน ทางตรงหรือทางอ้อม (แต่หากใครมีฐานะที่ดีหน่อยก็อาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า)

 

จากรายงานที่เกี่ยวข้องกับระดับคุณภาพอากาศทั่วโลก (World air quality report) ซึ่งเก็บข้อมูลจาก 6,475 เมือง ใน 117 ประเทศทั่วโลก ได้ระบุไว้ว่ามลพิษทางอากาศนั้นได้ถูกพิจารณาว่าเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อการเสียชีวิตของมนุษย์กว่า 7 ล้านคนทั่วโลกในทุก ๆ ปี และจากตัวเลขดังกล่าวประมาณร้อยละ 90 เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง (LMICs) โดยเฉพาะในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่เลวร้ายที่สุดในปี 2021 ที่ผ่านมา ฝุ่นพิษก็ได้คร่าชีวิตเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปีไปกว่า 40,000 คนแล้วทั่วโลก นอกจากผลกระทบด้านสุขภาพ ฝุ่นพิษก็ยังส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน โดยเฉลี่ยแล้วมลพิษดังกล่าวส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงถึง 8 พันล้านดอลลาห์สหรัฐ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว (คิดเป็นร้อยละ 3-4 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก: GWP) 
 

โดยปกติแล้วในอากาศที่เราหายใจเข้าไป ไม่เพียงแค่เฉพาะอากาศเท่านั้นแต่เรายังจะสูดอนุภาคเล็ก ๆ เข้าไปด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งหากอากาศที่เราสูดเข้าไปนั้นไม่บริสุทธ์ สิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นล้วนแต่จะเข้าไปทำร้ายปอด หัวใจ และสมองของเราโดยตรงก็จะส่งผลอย่างมากต่อปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ เริ่มตั้งแต่การเป็นหอบหืด จนกระทั่งถึงโรคไม่ติดต่อร้ายแรงต่าง ๆ อาทิเช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบ และมะเร็ง เป็นต้น โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพของประชาชนในกลุ่มเด็กเล็กและประชาชนสูงอายุ จากข้อมูลของ UNEP (2022) และ WHO (2023) ก็สรุปไว้ตรงกันว่า ฝุ่นทั่วโลกนั้นนอกจากการเผาป่าแล้ว มีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์หรือที่เราเรียกว่า Residential pollution โดยส่วนใหญ่มาจากการทำอาหารซึ่งมากกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลกประกอบอาหารในลักษณะเปิดโล่งและไร้ตัวกรองควันเสียที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการเดินทางและการขนส่ง มากไปกว่านั้น UNEP (2022) ได้รายงานเพิ่มเติมไว้อีกว่ามลพิษทางอากาศนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตหลักของประชาชนทั่วโลก โดยที่ตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 10 ของตัวเลขการเสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลก

 

หากกลับมาพิจารณาถึงปัญหาฝุ่นพิษที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศนั้น สามารถสรุปได้ในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
 

1.การลดลงของนักท่องเที่ยวภายในและภายนอกประเทศ อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของโลก และจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย 2023 ระบุไว้ว่าในช่วงก่อน Covid-19 ภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้นสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศสูงถึงประมาณ 3 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 20% ของ GDP ประเทศไทย และสามารถสร้างการจ้างงานในประเทศได้กว่า 7 ล้านตำแหน่ง หรือประมาณร้อยละ 20 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ ซึ่งหากภาครัฐเพิกเฉย สภาวะฝุ่นพิษนั้นอาจจะส่งผลร้ายต่อภาคการท่องเที่ยวเป็นอย่างมากจากการที่นักท่องเที่ยวอาจตัดสินใจเลี่ยงกาเดินทางมาในประเทศของเราได้หากสภาวะดังกล่าวส่งผลต่อสุขภาพอย่างรุนแรงและยาวนาน ผู้เขียนขอยกตัวอย่างหนึ่งในประเทศที่ประสบกับปัญหาฝุ่นพิษมากที่สุดในโลกนั่นคือประเทศอินเดีย จากรายงานของ Clean Air Fund Commission (2023) ระบุไว้ว่าจาก 30 เมืองทั่วโลกที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นพิษมากที่สุด 21 เมืองเป็นเมืองในประเทศอินเดีย ผลกระทบจากเหตุดังกล่าวส่งผลต่อการลดลงของ GDP ของประเทศอินเดียถึงร้อยละ 1 ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาห์สหรัฐ (72,000 ล้านบาท) และทำให้งานที่เกี่ยวข้องลดลงถึงเกือบหนึ่งล้านตำแหน่ง 

 

2.การลดลงของการลงทุนของภาคเอกชน จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าฝุ่นพิษอาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อรายได้ของประชาชนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการตัดสินใจไม่มาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลกซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการบริโภคในประเทศ จากเหตุการณ์ดังกล่าวหากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลต่อภาคการผลิตและการลงทุนได้ ซึ่งภาคธุรกิจดังกล่าวก็เป็นกลไกสำคัญของระดับเศรษฐกิจในประเทศของเราเช่นเดียวกัน

 

3.การลดลงของประสิทธิภาพแรงงาน (labor productivity) ฝุ่นพิษนั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพแรงงานเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานทั้งในประเด็นของการขาด ลา มาสาย และจากอาการป่วยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ซึ่งจากงานวิจัยของ iQAir (2019) ระบุเพิ่มเติมไว้ว่าประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานจะลดลง 8-10 % หากในวันดังกล่าวมีฝุ่นพิษในระดับสูงกว่าค่ามาตรฐาน

 

4.สภาวะฝุ่นพิษสามารถส่งผลร้ายต่อผลิตภาพทางการเกษตรในประเทศได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโตและคุณภาพของพืชพันธุ์ ต้นไม้ต่าง ๆ รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงทางการเกษตรเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น โค กระบือ หรือสุกร เป็นต้น


 
5.ต้นทุนทางด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ในประเด็นของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็ได้รับผลกระทบจากมลภาวะดังกล่าวอยู่ไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่นในกลุ่มประเทศที่มีการควบคุมและดูแลระดับมลพิษทางอากาศในระดับที่ดี (กลุ่มประเทศรายได้สูง เช่น สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป) จะมีต้นทุนการรักษาพยาบาลประชาชนในประเทศสูงขึ้นเพียงแค่ประมาณ 2 เท่า เมื่อเทียบระหว่างปี 2015 และ ปี 2060 แต่หากเรากลับมาดูกลุ่มประเทศที่ภาครัฐปล่อยปละละเลย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหามลภาวะทางอากาศนั้น ต้นทุนดังกล่าวจะสูงขึ้นเป็นอย่างมาก อาทิเช่น ตัวเลขดังกล่าวจะพุ่งสูงขึ้นไปกว่า 4 เท่าในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา และประมาณ 10 เท่าในกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ที่น่าตกใจที่สุดตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้นกว่า 14-26 เท่าในกลุ่มประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมประเทศไทย) (OECD, 2016) ซึ่ง WHO (2023) ได้ระบุอย่างน่าสนใจไว้ว่าการลดระดับของสภาวะอากาศพิษจะส่งผลดีต่อการลดระดับของโรคต่าง ๆ อาทิเช่น โรคหัวใจวายเฉียบพลัน โรคปอด และโรคทางเดินหายใจ เป็นต้น ซึ่งสามารถลดรายจ่ายในระดับครัวเรือนได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

ฝุ่นพิษกับการขยายช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ 

สภาวะฝุ่นพิษนั้นได้ส่งผลกระทบตลอดห่วงโซ่การใช้ชีวิต ตั้งแต่การป้องกันปัญหาดังกล่าวซึ่งทุกคนจำเป็นที่จะต้องใช้เงินจำนวนหนึ่งในการซื้อเครื่องฟอกอากาศ และเครื่องใช้ดังกล่าวก็ได้กลายมาเป็นปัจจัยที่สำคัญในการใช้ชีวิตในประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตามหลักการของหนึ่งใน Sustainable Development Goals (SDGs) แล้วการเข้าถึงอากาศบริสุทธ์นั้นคล้ายคลึงกับน้ำและอาหาร เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นพลเมือง แต่ทำไมความเหลื่อมล้ำกลับเกิดขึ้นกับสิทธิพื้นฐานเหล่านี้ เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลในชุมชนแออัดหลายแห่งในกรุงเทพฯ และสามารถพูดได้ว่าไม่มีครัวเรือนไหนเลยที่สามารถเข้าถึงเครื่องฟอกอากาศได้ ภาครัฐประกาศถึงการลดความเหลื่อมล้ำอย่างสวยหรูในนโยบายทุกระดับ แต่ในทางปฏิบัติจะทำได้จริงตามนโยบายจริง ๆ หรือไม่ ก็เป็นคำถามสำคัญ และมากไปกว่านั้นหากเรามองไปถึงปลายน้ำ ฝุ่นพิษดังกล่าวย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและระดับของสุขภาพอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องฟอกอากาศและไม่สามารถลดผลกระทบจากฝุ่นพิษได้นั้น ในบั้นปลายชีวิตก็อาจเจ็บป่วยจากโรคภัยต่าง ๆ ซึ่งส่งผลถึงต้นทุนทางการรักษาสุขภาพที่สูงกว่ากลุ่มคนอื่น ๆ เช่นเดียวกัน

 

จากทั้งหมดที่ได้กล่าวไป ผู้อ่านทุกท่านน่าจะพอเห็นภาพแล้วว่าผลกระทบของฝุ่นพิษนั้นส่งผลกระทบต่อหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ประสิทธิภาพแรงงาน การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก (contemporaneous effect)การแก้ปัญหาที่ไร้การบูรณาการ และรอให้ฝุ่นพิษนั้นจางหายไปเองในทุก ๆ ปี ไม่ใช่การแก้ปัญหา ดังนั้นเพื่อการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาครัฐควรกำหนดกฎเกณฑ์พร้อมแนวปฏิบัติที่เข้มแข็งและทำได้จริง เพิ่มการมีส่วนร่วมและการเฝ้าระวังภาคชุมชมและประชาชน ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการตรวจสอบและดำเนินงานให้มากยิ่งขึ้น พัฒนาแนวปฏิบัติและการควบคุมสำหรับการใช้พลังงานที่ทำให้เกิดการเผาไหม้ (เช่น การทำอาหารและการใช้รถยนต์ ICE โดยเฉพาะรถยนต์เก่า) ให้เหมาะสม และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในการลดของเสียที่ส่งผลถึงการเกิดขึ้นของฝุ่นในทุกกิจกรรมทั้งของภาครัฐและเอกชน อาทิเช่น ภาคอุตสาหกรรม : การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง 

 

โดยเฉพาะเครื่องจักกลที่ใช้พลังงานที่สะอาด ลดการปล่อยของเสียตลอดกระบวนการผลิต ภาคพลังงาน : รัฐบาลควรจะสนับสนุนภาคครัวเรือนให้เข้าถึงพลังงานสะอาด (เทคโนโลยี เครื่องมือเครื่องใช้ หรือราคาพลังงาน) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานที่ใช้ในการประกอบอาหาร การให้แสงสว่าง และการให้ความร้อน-เย็นเป็นต้น และภาคการคมนาคม : ภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนทั้งด้านการเงินและการอำนวยความสะดวกให้กับการคมนาคมและขนส่งด้วยพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาด และการป้องปราบอย่างจริงจังสำหรับพาหนะที่มีอายุใช้งานมากจนเกินไป รวมไปถึงการวางแผนการเชื่อมโยงการขนส่งสาธารณะระหว่างพาหนะอย่างครอบคลุม เป็นต้น นอกจากนี้การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการเผาป่าและระดับคุณภาพอากาศ (คล้ายคลึงกับ EU clean air policy: zero pollution vision for 2050) ก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากกฎหมายในการควบคุมอากาศสะอาดนั้นทำเพียงประเทศเราประเทศเดียวไม่น่าจะเพียงพอ สุดท้ายผู้เขียนอยากจะวิงวอนให้ภาครัฐเพิ่มการให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มากกว่านี้ และเริ่มลงทุนเพื่อสุขภาพสาธารณะ เพราะอากาศที่บริสุทธิ์นั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี และต้นทุนของการแก้ปัญหาการเกิดของฝุ่นพิษนั้นมีน้อยกว่าต้นทุนจากผลกระทบที่มีในระยะยาวอย่างแน่นอน

บทความโดย อ.ดร.กติกา ทิพยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ