posttoday

อุตสาหกรรมสกัดสมุนไพรช่วยเพิ่มมูลค่า"สมุนไพรไทย"เติบโตในตลาดโลก

08 เมษายน 2567

การผลักดันสมุนไพรไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ และสร้างโอกาสให้ทุกภาคส่วน เช่น เกษตรกรผู้ปลูกที่จะสร้างรายได้เพิ่มและยั่งยืนขึ้น สร้างเศรษฐกิจเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจฐานรากและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้อย่างยั่งยืนนั้น ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริง

     สมุนไพรไทยถือว่ามีศักยภาพสูงในตลาดโลก เพราะมีความหลากหลายของสายพันธุ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เข้มแข็ง จากข้อมูลตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลก มีมูลค่า 60,165.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในภูมิภาคเอเชียถึง 57.6 % อเมริกา 22.1 % ยุโรป 22.1 % ยุโรป 18 % ตะวันออกกลาง 1.5% ออสเตรเลีย 0.9% 

     ประเทศไทยมีการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพร ติดอันดับ 7 ของของโลก ส่วนภูมิภาคเอเชียประเทศไทยมีขนาดตลาดสมุนไพรเป็นอันดับ 4 รองจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ในขณะที่ไทยเป็นผู้นำการส่งออกสมุนไพรอันดับ 1 ของอาเซียน แต่ในตลาดโลกยังไม่ติด 1 ใน 10 เนื่องจากยังมีข้อจำกัดด้านมาตรฐานการผลิต ประเภทของสมุนไพรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด ได้แก่ พรรณไม้และส่วนของพรรณไม้ ขณะเดียวกันประเทศไทยได้มีการนำเข้า สารสกัดสมุนไพรจากต่างประเทศเพื่อนำเข้ามาทำยาสมุนไพร อาหารเสริม เครื่องสำอาง เพื่อส่งออกไปอีกทีครับ

     โดยประเทศที่ไทยนำเข้าสารสกัดอันดับหนึ่งมาจากจีน แต่เชื่อหรือไม่ว่าสารสกัดบางอย่างที่เรานำเข้าจากจีนกลับมีวัตถุดิบจากประเทศไทยเราเองครับ เช่น เปลือกมังคุด เมล็ดลำไย เมล็ดทุเรียน ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากประเทศไทยเรามีโรงงานสะกัดสมุนไพรที่จำกัด สวนทางกับตลาดสมุนไพรโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดการณ์ปี 2573 ทะลุ 2.7 ล้านล้านบาท 

     โรงงานสกัดสมุนไพรขนาดใหญ่ในประเทศไทยมีอยู่ไม่เกินแค่ 5 โรงงาน ซึ่งเป็นขีดจำกัดให้การส่งออกสมุนไพรของไทยยังเป็นรอง จีน เกาหลี และ ญี่ปุ่น แต่หากเข้าไปดูรายละเอียดเชิงลึกจะพบว่าสารสกัดที่จีนส่งออกไปขายนั้น มีวัตถุดิบตั้งต้นมาจากไทย เช่น เปลือกมังคุด

     เรื่องนี้ผมอยากขอเสนอแนะแนวทางแก้ไขด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยหากภาครัฐให้ใบอนุญาตสกัดสมุนไพรให้แก่โรงงานสกัดกัญชงที่ปัจจุบันไม่ได้ทำหน้าที่สกัดกัญชงแต่อย่างใด เนื่องจากปัจจุบันนโยบายของไทยไม่ได้ผลักดันพืชกัญชงกัญชาแล้ว ขณะเดียวกันเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว โรงงานหลายแห่งได้ลงทุนนำเข้าเครื่องสกัดกัญชงเข้ามาแล้ว แต่เมื่อไม่สามารถดำเนินการได้ จึงถูกทิ้งไว้ ซึ่งกระทบต่อเงินลงทุนที่หลายแห่งได้มาจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน ผมมองว่าประเทศไทยไม่ควรปล่อยให้การลงทุนเหล่านี้ต้องสูญเปล่า การที่มีเครื่องจักร มีองค์ความรู้ และบุคลากรพร้อมรอบด้านเช่นนี้ ควรถือโอกาสให้โรงสกัดกัญชงเหล่านี้ร่วมมือกับอุตสาหกรรมสมุนไพร เนื่องจากเครื่องจักรสำหรับสกัดกัญชงนั้น มีความทันสมัย ได้มาตรฐานส่งออก และสามารถสกัดสมุนไพรได้อยู่แล้ว

     ขณะเดียวกันถ้าสามารถสกัดสมุนไพรไทยได้อาจจะเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสที่ทำให้อุตสาหกรรมสารสกัดสมุนไพรเติบโตได้ด้วย Facilities และบุคลากรที่มีองค์ความรู้ อาจจะนำพาสารสกัดสมุนไพรให้สามารถขึ้นทะเบียน อย. เป็นวัตถุดิบและส่งออกทั่วโลกได้ ประเด็นนี้ไม่เพียงแต่เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้เจ้าของโรงงานสกัดกัญชง แต่ยังช่วยเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยให้สูงกว่าการส่งออกวัตถุดิบหลายเท่า 

     เรามาลองดูกันว่าสมุนไพรอะไร มีความเป็น Thailand Soft Power อย่างสูงที่ต่างประเทศหาได้ยาก เช่น ไพร กระชายดำ กระท่อม หรือจะไปมองที่ของเหลือจากอุตสาหกรรมอาหารก็ได้สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดมีมูลค่าสูงได้เช่นเปลือกมังคุด เมล็ดลำไย เมล็ดทุเรียน ขมิ้นชัน กระชายขาว ตะไคร้หอม บัวบก สารสกัดเหล่านี้ก็มีมูลค่าและราคาสูงไม่น้อยกว่าสิ่งดีๆจากกัญชงเลย สิ่งสำคัญคือสารสกัดพวกนี้ต่างประเทศหาได้ยากมีแค่ประเทศไทยและกลุ่มประเทศแถบอาเซียนเท่านั้น

     ถ้าประเทศไทยมีวัตถุดิบสมุนไพรที่หลากหลาย  แล้วสามารถผลิตเป็นสารสกัดได้จำนวนมาก ก็สามารถที่จะต่อยอดเป็นอาหารเสริม, เครื่องสำอางสมุนไพรได้อีกมากมายหลายร้อยรายการ ชาวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทยก็ต้องมาซื้อของ Made in Thailand ที่ได้จากวัตถุดิบไทยกลับไปเป็นของฝากหรือนำไปใช้ที่ต่างประเทศ หรือกรณีส่งออกเราก็ไม่ต้องไปแข่งขันราคากับสมุนไพรจากประเทศจีนประเทศอินเดียหรือประเทศญี่ปุ่น

 

อุตสาหกรรมสกัดสมุนไพรช่วยเพิ่มมูลค่า\"สมุนไพรไทย\"เติบโตในตลาดโลก โดย : "สิทธิชัย แดงประเสริฐ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัช อุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JSP