posttoday

เศรษฐกิจสีน้ำเงิน : ความมั่นคงทางทะเล ความมั่นคงของชาติ

15 มีนาคม 2567

นักเศรษฐศาสตร์ จุฬาชี้ "เศรษฐกิจสีน้ำเงิน" สร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจไทยมหาศาล แนะรัฐให้ความสำคัญในการบริหารทรัพยากรเพิ่มขึ้น พร้อมย้ำรัฐบาลต้องรักษาอธิปไตท้องทะเลไทยให้เกิดประโยชย์สูงสุดแก่คนไทย ผลประโยชน์ชาติต้องสำคัญกว่าข้อตกลงระหว่างบุคคล

โดยทั่วไปแล้วหากจะกล่าวถึงอธิปไตยทางทะเล ก็จำเป็นที่จะต้องพูดถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (United Nations Convention on the Law of the Sea 1982) โดยกฎหมายตัวนี้ได้กล่าวไว้ว่า “รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยในการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในไหล่ทวีปของตน และผู้ใดจะดำเนินกิจกรรมจะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐชายฝั่งนั้นก่อน” ซึ่งไหล่ทวีปของรัฐชายฝั่งตามกฎหมายดังกล่าวจะประกอบไปด้วยท้องทะเล พื้นดินท้องทะเลและใต้ผิวดินของท้องทะเล ซึ่งมีอาณาเขตขยายเลยทะเลออกไปตลอดแนวทอดยาวตามธรรมชาติของดินแดนจนถึงริมนอกของขอบทวีป หรือจนถึงระยะ 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตในกรณีที่ริมนอกของขอบทวีปขยายไปไม่ถึงระยะนั้น ซึ่งเมื่อประมาณ 30 กว่าปีหลังจากการออกกฎหมายนี้ ประเทศกัมพูชาได้ประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของตนในอ่าวไทยเมื่อปี พ.ศ. 2515 และ ในปี พ.ศ. 2516 ประเทศไทยก็ได้ประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของตนเช่นเดียวกัน

 

ซึ่งจากการประกาศของทั้งสองประเทศนั้นทำให้เกิด “พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน” มากถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร (ซึ่งในปัจจุบันมูลค่าทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมีมูลค่าสูงประมาณ 20 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว: นายเศรษฐา ทวีสิน 14 กุมภาพันธ์ 2567) จนในที่สุดในปี พ.ศ. 2544 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามรับรองบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลหรือที่เรียกว่า “MOU 44” (บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน) ซึ่งทั้งสองประเทศต่างก็มีการพูดคุยกันหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถหาจุดร่วมหรือข้อตกลงกันได้เสียที 
    

ในความเป็นจริงแล้ว การแข่งขัน ความขัดแย้งหรือการใช้กำลังเพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติมีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติภาคพื้นดินจากหลากหลายประเทศในทวีปแอฟริกา การออกกฎหมายใหม่ในการขยายพื้นที่เพื่อทำการเพาะปลูกและเหมือง ซึ่งส่งผลถึงการละเมิดพันธะสัญญาในการที่จะไม่รุกรานเข้าไปในพื้นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ในประเทศบราซิล หรือประเทศไทยเองก็เริ่มที่จะมีข้อกังวลในประเด็นที่เกี่ยวกับกับการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานซึ่งคล้ายคลึงกับนโยบายทางด้านพลังงานของประเทศกัมพูชา หากมองไปที่นโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานของทั้งสองประเทศ รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐานั้นมีความมุ่งมั่นในการออกนโยบายที่เกี่ยวข้องโดยตั้งเป้าที่จะลดค่าครองชีพให้กับประชาชนผ่านการลดค่าไฟฟ้าและก๊าซหุงต้ม รวมไปถึงเพื่อการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม เช่นเดียวกับนายกฯ ฮุน มาเนตก็ประกาศที่จะลดค่าครองชีพให้กับประชาชนด้วยนโยบายการลดค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานในชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนเช่นเดียวกัน

 

ผู้เขียนเกรงว่าจะเริ่มหลุดไปในประเด็นของภูมิรัฐศาสตร์มากเกินไป จึงขอกลับมาพูดถึงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวซักเล็กน้อย กล่าวคือแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์และแนวคิดทางการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของชาวบ้านผ่านการพึ่งพาทรัพยากรทางท้องทะเลนั้นมีมานาวนานมากแล้ว โดยมนุษย์นั้นต่างใช้ระบบเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue economy) มาตั้งแต่สมัยโบราณไม่ว่าจะเป็นทางด้านอาหารหรือเศรษฐกิจในชุมชน แต่คำว่า “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” นั้นในความเป็นจริงแล้วได้ครอบคลุมไปถึงไม่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์จากปลาหรืออาหารทะเลเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติภายใต้ท้องทะเลที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น แร่ต่าง ๆ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง (maritime) รวมไปถึงเส้นทางเดินเรือทางทะเลอีกด้วย

 

จากข้อมูลของมหาวิทยาลัย the London School of Economics and Political Science: LSE (2023) ระบุไว้ว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของระบบเศรษฐกิจสีน้ำเงินทั่วโลกนั้นสูงถึงปีละกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 50 ล้านล้านบาท) มากไปกว่านั้นเศรษฐกิจสีน้ำเงินยังครอบคลุมไปถึงการขนส่งทางทะเล ซึ่งประมาณร้อยละ 80 ของการค้าและการขนส่งทั่วโลกถูกขนส่งทางเรือ และมีการจ้างงานถึง 350 ล้านตำแหน่งในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และที่สำคัญที่สุดผลผลิตทางด้านอาหารทางทะเลสามารถนำไปเป็นอาหารเพื่อเลี้ยงดูมนุษย์ได้กว่าร้อยละ 50 เลยทีเดียว ในบริบทของประเทศไทยนั้น จากข้อมูลของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้สรุปไว้ว่าพื้นที่ท้องทะเลของประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 320,000 ตารางกิโลเมตร สามารถสร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล โดยแบ่งเป็นรายได้จากหลากหลายกิจกรรม อาทิเช่น การท่องเที่ยวประมาณปีละ 2 ล้านล้านบาท จากพลังงานธรรมชาติอีกประมาณปีละ 7 แสนล้านบาท และจากการประมงปีละกว่า 2 แสนล้านบาทเป็นต้น  

 

ในอีกมุมหนึ่ง จากงานวิจัยของ Rockström และคณะ (2022) ได้สรุปไว้ว่าทรัพยากรธรรมชาติในโลกของเรานั้นใกล้มาถึงจุดวิกฤติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความยั่งยืนในด้านความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเป็นอย่างมาก ประกอบกับข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (2023) ที่กล่าวไว้ว่าการแย่งชิงและความขัดแย้งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติจะเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผลกระทบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรบนโลกใบนี้ ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 จำนวนมนุษย์ได้เพิ่มสูงขั้นเกินกว่า 8,000 ล้านคนเป็นครั้งแรก โดยเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2010 ที่ผ่านมา และองค์การสหประชาชาติก็ได้คาดการณ์ไว้ว่าในช่วงปี 2050 นี้จำนวนประชากรบนโลกจะเพิ่มเกินกว่า 9,000 ล้านคน ซึ่งจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นมาพร้อมกับความต้องการทางด้านปัจจัย 4 ที่เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะทางด้านอาหาร ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจใด ๆ ก็ตามที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวนั้นย่อมส่งผลกระทบถึงทรัพยากรธรรมชาติอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปล่อยของเสียทางน้ำและอากาศ รวมไปถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศต่าง ๆ อีกด้วย ดังนั้นการให้ความสำคัญของความยั่งยืนผ่านแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก
    

 

ในความเป็นจริงแล้วหากเรากลับมาพิจารณาลึกลงไปถึงเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ในแนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ได้พูดถึงการหาผลประโยชน์จากกิจกรรมทางทะเลที่เกี่ยวข้องเพียงเท่านั้น แต่ยังพูดถึงการดูแลรักษา การบริหารจัดการผลกระทบที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล การควบคุมระดับทรัพยากรธรรมชาติในท้องทะเลผ่านเครื่องมือและกลไกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย กฎระเบียบ หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเพิ่มความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติในท้องทะเล ซึ่งการขับเคลื่อนแนวคิดของระบบเศรษฐกิจดังกล่าวนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคสังคมในประเด็นของการการผลิต การขนส่ง และการบริโภค รวมไปถึงการปรับพฤติกรรมและแนวความคิดที่จะต้องให้ความสำคัญต่อผลกระทบในด้านต่าง ๆ และช่วยอนุรักษ์ให้เกิดความมั่นคงทางทรัพยากรธรมชาติและความยั่งยืนทางทะเลสืบไป

 

สุดท้ายนี้แนวคิด “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” นั้นสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 14 (SDG 14: Life below water) ในประเด็นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเล อันมีกรอบแนวทางในการดำเนินการให้เกิดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และจะเป็นการพัฒนาภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในสายตาจากนานาอารยะประเทศได้อีกด้วย ซึ่งจากที่ผู้เขียนได้กล่าวไปทั้งหมดในข้างต้นว่าเศรษฐกิจสีน้ำเงินมีความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน สังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก และอาจจะมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วยซ้ำหากภาครัฐและเอกชนมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับกิจกรรมทางท้องทะเลของไทยให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลต่าง ๆ เพื่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะยาวผ่านกฎหมาย-กฎระเบียบที่เข้มแข็ง สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทะเลของภาคสังคม-ประชาชนให้มากยิ่งขึ้น การดูแล-ควบคุมธุรกิจรายใหญ่ไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติมากจนเกินไป เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่รัฐต้องให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุดก็คือการรักษาอธิปไตยของท้องทะเลไทยทั้ง 320,000 ตารางกิโลเมตรเศษ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแต่ประชาชนคนไทยเท่านั้น สุดท้ายก็คงไม่มีใครเถียงผู้เขียนว่าผลประโยชน์ของชาติสำคัญกว่าผลประโยชน์และข้อตกลงระหว่างบุคคลอย่างแน่นอน


บทความโดย: อ.ดร.กติกา ทิพยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ