posttoday

เช็กให้ดี รับจ้างทำของ กับ ขายสินค้า ควรยื่นภาษีมาตราไหน

13 มีนาคม 2567

ธุรกิจค้าขาย เป็นธุรกิจที่มีทั้งซื้อมาขายไป และบางรายก็รับผลิตสินค้าตามออเดอร์ เวลายื่นภาษีเงินได้จะต้องยื่นภาษีคนละมาตรากัน โดยสามารถอธิบายลักษณะได้ดังนี้

          ธุรกิจค้าขาย เป็นธุรกิจที่มีทั้งซื้อมาขายไป และบางรายก็รับผลิตสินค้าตามออเดอร์ โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ของตนเอง หรือบางกรณีอาจใช้วัสดุอุปกรณ์ของผู้ว่าจ้าง แต่รู้หรือไม่ว่าการทำธุรกิจหลากหลายแบบนี้ เวลายื่นภาษีเงินได้จะต้องยื่นภาษีคนละมาตรากัน

          ซึ่งหากใครยื่นภาษีบุคคลธรรมดาในช่วงนี้ต้องดูให้ดีๆ ว่าการทำธุรกิจมีลักษณะการดำเนินงานไปในแบบไหน และจะต้องเสียภาษีมาตราไหนกันแน่ หรืออาจเรียกอีกแบบว่าเงินได้พึงประเมิน โดยสามารถอธิบายลักษณะ รับจ้างทำของกับขายสินค้าว่าจัดอยู่ในเงินได้พึงประเมินที่เท่าไหร่ สามารถอธิบายได้ดังนี้

ขายสินค้า ต้องเสียภาษีมาตราอะไร 

          กรณีการทำธุรกิจขายสินค้าจัดเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีประเภท 8 มาตรา 40(8) และได้ให้ความหมายโดยรวมถึงเงินได้จากกิจกรรมทางธุรกิจ ค่าจ้าง และต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขายสินค้า หรือการรับงานตลอดทั้งปี เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนเงินที่สูงกว่า 40% ของรายได้จากการขายสินค้า

          ซึ่งหากเป็นการดำเนินธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ แต่ยังถือเป็นธุรกิจตามมาตรา 40(8) และสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องมีคือ การมีที่ตั้งสำนักงานที่ชัดเจนและเป็นเจ้าของที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับมีสัญญาเช่า การจ้างพนักงาน มีการลงทุนในการซื้ออุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าสำนักงาน การจ่ายเงินสมทบประกันสังคม มีค่าใช้จ่ายในการรับรองลูกค้า มีหนังสือจากบริษัทในการทำสัญญาติดต่อธุรกิจกัน มีการจ่ายค่านายหน้าในการดำเนินงานหาลูกค้า 

          ดังนั้นสาระสำคัญของการขายค้าสินค้า หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการผลิตสินค้าและใช้วัสดุของตัวเองเกิน 40% หรือมีพนักงานที่ต้องจ่าย ค่าเช่าบ้าน อย่างหนึ่งอย่างใด จึงจัดเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีข้อ 8 หรือมาตรา 40(8) ซึ่งในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรานี้ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ คือ แบบหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง และหักแบบเหมา 60%

รับจ้างทำของควรยื่นภาษีมาตราไหน? 

          เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 (มาตรา 40(2)) คือ เงินได้ เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของ การได้อยู่บ้านที่ผู้จำหน่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งผู้ มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ และเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือค่าจ้างทำของ  

          นอกจากนี้ค่าจ้างทั่วไป ถ้าเป็นค่าจ้างทำของหรือให้บริการในนามบุคคลธรรมดา ที่ลงแรงเพียงอย่างเดียว จะถือว่าอยู่ในมาตรา 40(2) ให้คำนวณภาษีตามอัตราภาษีก้าวหน้า สูงสุด 35% โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% แต่เมื่อรวมหักค่าใช้จ่ายจากเงินประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 แล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท     

          เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 7 (มาตรา 40(7)) คือ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญ นอกจากเครื่องมือ เช่น รับเหมาก่อสร้างทั้งของและทั้งแรงงาน หากรับเหมาะเฉพาะแรงงานจะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) เป็นการรับทำงานให้  ทั้งนี้ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ หมายถึงต้องเป็นค่าจ้างทำของที่ผู้รับจ้างมีทีมงานเหมางานทั้งหมด ทั้งแรงงาน วัสดุอุปกรณ์ จัดการสัมภาระที่สำคัญนอกเหนือจากอุปกรณ์ เช่น อิฐ หิน ปูน ทราย สามารถนำมาคำนวณภาษีหักแบบเหมา 60% หรือหักตามจริงได้ 

กรณีไหนที่ถูกหัก ภาษี ณ ที่จ่าย 

          นอกจากเงินได้พึงประเมินแล้ว การขายสินค้าและรับจ้างทำของ ยังมีความแตกต่างกันในเรื่องของภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยการขายสินค้าและรับจ้างทำของ แบบไหนต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย สามารถอธิบายได้ดังนี้

1.กรณีมีรูปแบบการผลิตสินค้าเพื่อการขายและขายส่งสินค้า
-ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายเป็นปกติอยู่แล้ว แม้ไม่มีการว่าจ้างเกิดขึ้น
-มีผู้ว่าจ้างได้ว่าจ้างให้ผู้ขายผลิตสินค้าที่มีรูปแบบ ขนาด แตกต่างจากที่ผู้ขายผลิตขายเป็นปกติอยู่แล้ว
          ในกรณีนี้ยังถือว่าเป็นการผลิตสินค้าเพื่อการขาย ไม่อยู่ในกรณีที่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย

2.กรณีรับจ้างทำของ
-ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเพื่อการจำหน่าย แต่รับผลิตตามคำสั่งของลูกค้า
-ไม่มีลูกค้าว่างจ้างก็ไม่มีการผลิตเพื่อจำหน่าย
          การรับจ้างผลิตสินค้าดังกล่าวถือเป็นการรับจ้างทำของ ซึ่งกรณีนี้ถือว่าต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้

          กล่าวโดยสรุป หากกรณีที่เป็นนิติบุคคลเป็นผู้จ้างจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ 3% ส่วนกรณีที่เกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หลักการหักภาษีจะต้องมีการวิเคราะห์ถึงจุดประสงค์ในการผลิต และจะต้องแยกตามประเภทการรับจ้าง ตามมาตรา 40(2) 40(7) และ 40(8) 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม Inflow Accounting