posttoday

เตรียมพร้อมยื่นภาษีปี 66 แล้วหรือยัง ใครได้ลดหย่อนอะไรกันบ้าง

10 มกราคม 2567

สำหรับผู้มีรายได้ที่เสียภาษีบุคคลธรรมดา ได้เวลารวบรวมเอกสารเพื่อยื่นภาษีประจำปี 2566 ในระบบกรมสรรพากรช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 โดยในปี พ.ศ.2567 สามารถยื่นภาษีช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2567 นอกจากเอกสารรายได้แล้ว อีกสิ่งสำคัญคือสิทธิลดหย่อนต่างๆ

          สำหรับผู้มีรายได้ที่เสียภาษีบุคคลธรรมดาทั้งหลาย ได้เวลารวบรวมเอกสารทั้งหมดเพื่อยื่นภาษีประจำปี 2566 ในระบบกรมสรรพากรช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 โดยในปี พ.ศ.2567 ผู้มีรายได้สามารถยื่นภาษีด้วยตนเองแบบกระดาษได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 และสามารถยื่นออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2567
          นอกจากเอกสารรายได้แล้ว  อีกสิ่งสำคัญคือสิทธิลดหย่อนต่างๆ ที่เป็นเหมือนตัวช่วยให้ประหยัดภาษี ใครสามารถนำรายการไหนมาลดหย่อนภาษีได้บ้าง และถึงเวลาที่ต้องขอหลักฐานยืนยันทั้งหมดเพื่อรวบรวมยื่นไปในระบบควบคู่กับเอกสารเงินได้ แล้วในปีนี้มีความแตกต่างจากปีก่อนๆ หรือไม่ ลองมาติดตามอ่านกันในบทความ

ลดหย่อนส่วนตัว บิดามารดา คู่สมรสและบุตร

          1.ค่าลดหย่อนส่วนตัว สามารถลดหย่อนได้ทันทีที่ยื่นแบบแสดงรายได้ และสามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท 

          2.ค่าลดหย่อนคู่สมรส สามารถลดหย่อนได้ 60,000 บาท ทั้งนี้ต้องเป็นกรณีคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสเท่านั้น  และเป็นคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ หรือยื่นแบบฯ รวมกัน 

          3.ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท ต่อบุตร 1 คน นอกจากนี้ยังมีค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป จะได้รับสิทธิลดหย่อนเพิ่มอีก ทั้งนี้ต้องเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่มีอายุไม่เกิน 20 ปี 

          4.ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร หักสูงสุดไม่เกินปีละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ
          - ต้องมีใบรับรองแพทย์และใบเสร็จรับเงินจากสถานพยาบาลที่เกิดขึ้นจริงในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 66
          - สามีใช้สิทธินี้ได้ หากภรรยาไม่มีรายได้ หรือมีรายได้แต่ยื่นแบบฯ รวมกัน

          5.ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ซึ่งต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน สามารถรวมพ่อแม่ของคู่สมรสได้ แต่หากมีพี่น้องและพี่น้องได้ใช้สิทธิ์ไปแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธิตรงนี้ได้ และมีเงินได้ในปีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท

          6.ค่าอุปการะคนพิการ หรือทุพพลภาพ สามารถลดหย่อนได้ 60,000 บาทต่อคน หากเป็นผู้พิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ พร้อมระบุชื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ ส่วนผู้ทุพพลภาพจะต้องทุพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน และมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเช่นกัน 

การบริจาคเงินให้กับบางหน่วยงาน นำมาลดหย่อนภาษีได้

          ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาคให้กับบางหน่วยงาน สามารถนำมาลดหย่อนได้ซึ่งประกอบด้วย 

          1. บริจาคสนับสนุนการศึกษา การกีฬาเพื่อประโยชน์สาธารณะ และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนอื่นแล้ว แต่ต้องบริจาคผ่าน e-Donation เท่านั้น

          2. บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนอื่นแล้ว

          3. เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง 10,000 บาท

          4. เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่บริจาคจริง และรวมกับเงินบริจาคอื่น ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นแล้ว

ค่าลดหย่อนการลงทุนและประกัน สามารถลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่

          ผู้มีรายได้สามารถนำค่าใช้จ่ายที่ได้ทำประกันไว้ และรายจ่ายที่นำไปลงทุนกับหน่วยงาน สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดสามารถอธิบายได้ดังนี้

          1.เงินสมทบประกันสังคม แบ่งตามประเภทเงินสมทบ แต่ไม่เกิน 9,000 บาท 

          2.ประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากที่มีประกันชีวิต ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และมีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20% ของดอกเบี้ย ทั้งนี้เมื่อรวมกับประกันสุขภาพตนเอง ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

          3.ประกันสุขภาพตนเอง ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมเบี้ยประกันชีวิต ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

          4.ประกันสุขภาพบิดา-มารดา สามารถลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดามารดาต้องมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปี 2566 และบุตรหลายคนสามารถหารเฉลี่ยกันได้ ทั้งนี้กรณีบุตรบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิได้

          5.ประกันชีวิตคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ สามี-ภรรยาต้องจดทะเบียนสมรส และต้องมีสถานะเป็นสามี-ภรรยาตลอดทั้งปี

          6.ประกันชีวิตบำนาญ สามารถลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

          7.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ สามารถลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

          8.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / สงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท

          9.กองทุนรวมเพื่อการออม สามารถลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท 

          10.กองทุน TESG สามารถลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท 

ค่าลดหย่อนกลุ่มพิเศษ 

          1.เงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม 100,000 บาท

          2.โครงการรัฐช้อปดีมีคืน สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 40,000 บาท โดยจะต้องซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่จด VAT และออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้ และซื้อสินค้าภายในระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนด

          3.ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยสูงสุด 100,000 บาท

          กล่าวโดยสรุป จากข้อมูลค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น ใครที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีต้องเตรียมตัวจัดเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน และสำรวจดูว่าได้ไปบริจาคหรือลงทุนอะไรไว้บ้างไหมที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระและเสียภาษีน้อยลงนั่นเอง 

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting