posttoday

"รายจ่ายรถยนต์ใช้ในกิจการ" ใช้ประโยชน์ทางภาษีได้อย่างไรบ้าง

24 พฤษภาคม 2566

รถยนต์ถือเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่งที่เกือบทุกกิจการจำเป็นต้องมีไว้ใช้ อย่ามองข้ามรถยนต์ที่กิจการใช้ โดยเรามีแนวทางการนำค่าใช้จ่ายรถยนต์ มาใช้ประโยชน์ทางภาษีแบบถูกวิธีมาฝากกัน

     การจัดหารถยนต์เพื่อใช้ในกิจการถือเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรจะต้องวางแผนให้ดี เพราะรถยนต์ถือเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่งที่เกือบทุกกิจการจำเป็นต้องมีไว้ใช้ กิจการบางแห่งถือไว้เป็นสินค้าที่มีไว้เพื่อขาย และบางแห่งก็ถือไว้เป็นสินทรัพย์ที่มีไว้เพื่อการดำเนินงาน เช่น รถประจำตำแหน่งของผู้บริหาร รถขนส่งสินค้า รถรับส่งพนักงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการกำลังมองหาลู่ทางนำค่าใช้จ่ายมาหักรายจ่ายทางภาษีอยู่ อย่ามองข้ามรถยนต์ที่กิจการใช้ โดยเรามีแนวทางการนำค่าใช้จ่ายรถยนต์ มาใช้ประโยชน์ทางภาษีแบบถูกวิธีมาฝากกัน 

คำจำกัดความเกี่ยวกับ “รถยนต์” 

     คำจำกัดความของ  "รถยนต์นั่ง" “รถยนต์กระบะ” และ "รถยนต์โดยสาร" ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ให้พิจารณาจากนิยามความหมายตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ดังนี้  รถยนต์นั่ง หมายถึง รถเก๋งหรือรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับนั่ง และให้หมายความรวมถึงรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น รถยนต์ที่มีหลังคาติดต่อเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะถาวร ด้านข้างหรือด้านหลังคนขับ มีประตูหรือหน้าต่างและมีที่นั่ง  

     รถยนต์กระบะ หมายถึง รถยนต์ที่มีที่นั่งด้านหน้าตอนเดียวสำหรับคนขับ และตอนหลังเป็นกระบะบรรทุก ซึ่งเปิดโล่งจนถึงท้ายรถโดยไม่มีหลังคา

     รถยนต์โดยสาร หมายถึง รถยนต์หรือรถตู้ที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับขนส่งคนจำนวนมาก รวมทั้งรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน

การนำค่าใช้จ่ายรถยนต์ของบริษัท มาใช้ประโยชน์ทางภาษีตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต

     ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้รถยนต์ที่ซื้อในนามบริษัท ในบางกรณีอาจนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ หรือเครดิตภาษีขายได้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางภาษีได้หลายรูปแบบ โดยอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้

     ในกรณีที่กิจการซื้อรถยนต์ที่นั่งเกิน 10 คน หรือรถกระบะที่เข้าเกณฑ์ตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ คือนำภาษีซื้อมาหักภาษีขายได้ แต่หากไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อรถยนต์ที่นั่งเกิน 10 คน เช่าซื้อรถยนต์นั่ง และการเช่า หรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่ายางรถยนต์ ค่าน้ำมันรถ ค่าอะไหล่ ค่าบำรุงรักษาซ่อมแซม จะถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม

     ส่วนค่าใช้จ่ายและต้นทุนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการซื้อรถยนต์นั่งในนามกิจการ สามารถนำมาเป็นรายจ่ายหรือต้นทุนของสินทรัพย์กิจการ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีได้ไม่เกินหนึ่งล้านบาท และตามกฎหมายสามารถหักเป็นค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทได้อีกด้วย โดยหักค่าเสื่อมราคาต่อปีสูงสุดได้ปีละ 200,000 บาท โดยจะต้องแบ่งหักเป็นค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 5 ปี

หลักการนำค่าใช้จ่ายกรณีเช่ารถยนต์ใช้ในบริษัท มาใช้ประโยชน์ทางภาษี

     เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจเลือกใช้วิธีเช่ารถยนต์เพื่อใช้ในกิจการแทนการซื้อ การนำค่าใช้จ่ายจากการเช่ารถยนต์มาใช้ประโยชน์ทางภาษีนั้น สามารถทำได้ทั้งแบบเช่าซื้อและสัญญาเช่า (ลีสซิ่ง) ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน และใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ต่างกันด้วยดังนี้

     1.ลีสซิ่ง คือสัญญาเช่า ไม่ถือเป็นสินทรัพย์ของกิจการ เนื่องจากเป็นลักษณะการเช่า เมื่อจ่ายค่าเช่าครบตามที่กำหนดในสัญญา กิจการมีสิทธิเลือกว่าจะซื้อหรือส่งคืนผู้ให้เช่าได้ ทำให้การนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีจะอยู่ในลักษณะค่าเช่ารายเดือน ซึ่งนำไปลดหย่อนภาษีได้มากกว่าแบบเช่าซื้อ แต่จะมีกำหนดเพดาน โดยค่าเช่าต้องไม่เกิน 36,000 บาทต่อเดือน หรือ 432,000 บาทต่อปี

     อีกทั้งลักษณะสัญญาเช่า (ลีสซิ่ง) ถือเป็นการเช่า จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% เมื่อจ่ายเงินค่าเช่า กระทั่งเมื่อกิจการตัดสินใจซื้อรถยนต์ จึงจะสามารถคิดค่าเสื่อมได้อีก นอกจากนี้ค่าเช่ารถยนต์รายเดือนที่กิจการจ่ายไปนั้นยังถือเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ จึงสามารถนำไปหักภาษีได้เต็มจำนวน

     2.เช่าซื้อ คือสัญญาเช่าซื้อ สินทรัพย์ลักษณะนี้แม้จะยังไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ถือเป็นสินทรัพย์ของธุรกิจตั้งแต่เริ่ม เมื่อผ่อนชำระหนี้ครบตามที่กำหนด ผู้ให้เช่าจะโอนกรรมสิทธิ์มาให้ผู้เช่าซื้อโดยอัตโนมัติ และกิจการสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีในส่วนของค่าเสื่อมราคาตั้งแต่เริ่มผ่อนชำระ

     โดยให้กิจการบันทึกเป็นค่าเสื่อมค่าใช้จ่ายสำหรับการเช่าซื้อ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นค่าเสื่อมราคาต่อปีรวมดอกเบี้ย เมื่อคำนวณแล้วจะต้องไม่เกินราคาที่จะต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท (ค่าเสื่อมสูงสุด 200,000 บาทต่อปี)

     กล่าวโดยสรุป ในการตัดสินใจว่ากิจการจะซื้อรถประเภทใดมาไว้เพื่อใช้ในกิจการนั้น ผู้ประกอบการควรพิจารณาถึงผลกระทบในทางภาษีด้วย เนื่องจากรถยนต์แต่ละประเภทของรถยนต์ล้วนมีผลกระทบต่อภาระภาษีที่แตกต่างกันทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม

     ในส่วนประเด็นของการบันทึกต้นทุนของรถยนต์ ค่าเสื่อมราคา และการนำภาษีซื้อไปหักออกจากภาษีขาย ผู้ประกอบการควรเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด และเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำผิดกฎหมายภาษี ส่งผลต่อการเพิ่มค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้กับผู้ประกอบการในรูปของเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม หรือค่าปรับทางอาญา ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีของกิจการอีกด้วย

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting