posttoday

เปิดยุทธศาสตร์ 5 ปีของบีโอไอ ปรับโครงสร้างสู่ "เศรษฐกิจใหม่"

12 มีนาคม 2566

บีโอไอเปิดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว ถึงเป้าหมาย 3 ด้าน Innovative Competitive และ Inclusive

บีโอไอมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และกำหนดนโยบายการให้การส่งเสริมการลงทุน ตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกมาโดยตลอด ตั้งแต่การจัดตั้งสำนักงานในปี พ.ศ. 2509 ซึ่งเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมในประเทศเน้นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า

 

เมื่ออุตสาหกรรมในประเทศเติบโตขึ้น จึงมีการปรับนโยบายสู่การส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งออก พร้อมกับการเกิดขึ้นของอีสเทิร์นซีบอร์ด มาถึงยุคเปิดเสรีอุตสาหกรรมและมีการกระจายการลงทุนสู่ภูมิภาค นำไปสู่การกำหนดโซนนิ่งในการให้การส่งเสริมการลงทุน

 

ต่อมาได้มีการปรับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนโดยการให้สิทธิประโยชน์ตามเทคโนโลยีและมูลค่าเพิ่มของ แต่ละอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันการลงทุนที่มีการพัฒนาหรือใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสำคัญ


อย่างไรก็ตาม ภายใต้สภาวะแวดล้อมในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทั้งเรื่องกระแสการลดคาร์บอน และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำมาสู่กฎกติกาใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจของโลก รวมทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ

 

รวมถึงปัญหาที่เกิดกับห่วงโซ่อุปทานในระดับโลก สิ่งเหล่านี้ทำให้ทิศทางการลงทุนของโลกในอนาคตเปลี่ยนแปลงไป และเป็นปัจจัยสำคัญที่บีโอไอจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่เพื่อให้สอดรับกับทิศทางของโลกในอนาคต 

 

“ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี” เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 – 2570 โดยบีโอไอได้มีการพิจารณาปัจจัยรอบด้าน ทั้งปัจจัยภายในประเทศและภายนอกประเทศที่จะส่งผลต่อทิศทางการลงทุน รวมทั้งดึงจุดแข็งและศักยภาพของประเทศ เพื่อกำหนดทิศทางการลงทุนในอนาคต ด้วยหวังให้ยุทธศาสตร์ใหม่นำไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการแข็งขันและผลักดันให้ประเทศไทยโดดเด่นบนเวทีโลก 

 

สาระสำคัญของยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี มีเป้าหมายเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว บีโอไอได้วางเป้าหมายให้บรรลุผล 3 ด้าน ได้แก่

 

(1) Innovative เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ (2) Competitive เป็นเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวเร็ว และสร้างการเติบโตสูง และ (3) Inclusive เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ


ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ บีโอไอได้กำหนดทิศทางการส่งเสริมการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนไปสู่เป้าหมายของยุทธศาสตร์ใหม่ ด้วย 7 หมุดหมายสำคัญ ได้แก่

 

1) การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยการระดับอุตสาหกรรมเดิมที่ประเทศไทยมีความโดดเด่น ควบคู่กับการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมเกษตรที่นำไปสู่การเป็น Smart Farming การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือแม้แต่การผลักดันการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นน้ำของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมถึงการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ และการสร้างความเข้มแข็งของ Supply Chain ในอุตสาหกรรมการแพทย์ ดิจิทัล ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ อากาศยาน และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นต้น

 

2) การเร่งเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่ Smart & Sustainable Industry โดยการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ดิจิทัล มายกระดับภาคอุตสาหกรรมในกระบวนการผลิตและบริการ ในส่วนของการสร้างความยั่งยืนนั้น บีโอไอจะมุ่งให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ บีโอไอได้ออกประกาศส่งเสริมประเภทกิจการใหม่ ๆ เพื่อรองรับการลงทุนในเรื่องของพลังงานสะอาด เช่น กิจการผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน เป็นต้น

 

3) การผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ และประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค โดยการผลักดันให้บริษัทชั้นนำจากต่างประเทศตั้งฐาน “สำนักงานภูมิภาค (Regional)” ในประเทศไทย นอกเหนือจากการที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตของอุตสาหกรรมหลัก ๆ อยู่แล้ว บีโอไอจะใช้ความได้เปรียบในด้านต่าง ๆ ของประเทศไทยบวกกับมาตรการสนับสนุนของภาครัฐในการดึงกลุ่มต่างชาติที่มีศักยภาพมาตั้งฐานธุรกิจแบบครบวงจรในประเทศไทย 

 

4) การส่งเสริม SMEs และ Startup ให้เข้มแข็งและสามารถเชื่อมต่อกับโลกได้ โดย SMEs นั้น บีโอไอจะเน้นยกระดับให้ไปสู่ SMART SMEs ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และพร้อมปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ อีกทั้งจะเพิ่มโอกาสให้ SMEs ไทย เป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ในอุตสาหกรรมสำคัญโดยผลิตชิ้นส่วนให้กับบริษัทชั้นนำ 

 

สำหรับ Startup ที่เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมและสร้างโอกาสของธุรกิจให้กับคนรุ่นใหม่ บีโอไอได้มีมาตรการส่งเสริม Startup ทั้งในด้านของภาษีและเงินทุน รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรในการดึง Incubator ระดับโลก เพื่อปั้น Startup ไทยให้ก้าวสู่
เวทีโลกด้วย

 

5) การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง โดยบีโอไอได้กำหนดกิจกรรมเป้าหมายและให้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เช่น พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน (SEZ) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และย่านนวัตกรรมการแพทย์ เป็นต้น

 


6) การส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม โดยบีโอไอออกมาตรการที่จะส่งเสริมให้บริษัทรายใหญ่ที่มีศักยภาพ ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอมีความร่วมมือกับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม รวมถึงสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษา ในการลงทุนเพื่อพัฒนาแหล่งชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเกษตร การท่องเที่ยวชุมชน ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การสนับสนุนด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข หรือด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

 

7) การส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ โดยบีโอไอจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียนและตลาดใหม่ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ

 

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนให้ไปสู่เป้าหมาย และเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น บีโอไอได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ที่เชื่อมโยงกับ 7 หมุดหมาย ประกอบด้วย 9 มาตรการ คือ 

 

1) มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ 
2) มาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน 
3) มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม 
4) มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร 
5) มาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 
6) มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart  and Sustainable Industry) 
7) มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 
8) มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย 
9) มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม

 

9 มาตรการนี้ มีการปรับปรุงมาตรการเดิมให้ตรงเป้ามากขึ้น ลดความซับซ้อน และเพิ่มมาตรการใหม่ ๆ เช่น มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม (Retention and Expansion Program) และมาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร (relocation) เป็นต้น

 

โดยถือว่าเป็นมาตรการเชิงรุก เพื่อตอกย้ำการเป็นฐานการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ด้วยจุดแข็งของไทยที่สามารถเข้าไปตอบโจทย์ความท้าทายของโลกที่เกิดขึ้น ทั้งความมั่นคงด้านอาหาร การเป็นแหล่งพลังงานสะอาด และการมีฐานอุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการลงทุนในอนาคต

 

รวมถึงออกมาตรการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค เพิ่มเติมจากพื้นที่เป้าหมายอื่น ๆ เพื่อสร้างโอกาสและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย


บทบาทใหม่บีโอไอ
การปรับยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอครั้งใหญ่นี้ บีโอไอจำเป็นต้องปรับบทบาทเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการลงทุนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยจะเน้นบทบาทด้านอื่น ๆ มากขึ้น นอกเหนือจากการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ทั้งการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีผ่าน 4 บทบาทสำคัญ 

 

จากบทบาทเดิมที่เป็น “ผู้ส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์ (Promoter)” ต่อจากนี้ไป บีโอไอจะให้น้ำหนักกับการเป็น “ผู้ให้บริการและอำนวยความสะดวก (Facilitator)” โดยจะทำงานประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาการลงทุน รวมทั้งการสร้างระบบนิเวศต่าง ๆ ให้มีความพร้อมเพื่อรองรับการลงทุน 


บทบาทของการเป็น “ผู้บูรณาการเครื่องมือสนับสนุนการลงทุน (Integrator)” โดยจะผนึกกำลังและบูรณาการเครื่องมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ ทั้งเรื่องภาษีและเงินสนับสนุน รวมถึงเครื่องมือสนับสนุนอื่น ๆ ในลักษณะ whole package เพื่อมาใช้สนับสนุนการลงทุน 

 

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญ คือ การเป็น “ผู้เชื่อมโยงอุตสาหกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Connector)” โดยบีโอไอจะทำหน้าที่ช่วยเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการระดับ SMEs กับผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือระหว่างบริษัทไทยกับบริษัทต่างชาติ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ เช่น การผลิตชิ้นส่วนให้กับบริษัทผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูป หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นบทบาทสำคัญที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้


นอกเหนือจากการดึงดูดการลงทุนแล้ว ที่ผ่านมาบีโอไอถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการดึงบุคลากรที่มีศักยภาพสูง (Talent) โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเป้าหมายและเทคโนโลยีเป้าหมาย ให้เข้ามาลงทุน มาทำงาน และอาศัยในประเทศไทย ผ่านมาตรการ SMART Visa และ Long-Term Resident (LTR) Visa ด้วยเช่นกัน

 

การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งใหม่นี้ บีโอไอจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนผ่านเครื่องมือที่หลากหลาย ทั้งสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมทั้งด้านภาษีและที่มิใช่ภาษี การให้บริการแบบครบวงจร ทั้งก่อนและหลังการลงทุน รวมไปถึงการสร้างปัจจัยสนับสนุน และลดอุปสรรคต่าง ๆ สำหรับนักลงทุนด้วย ตลอดจนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ ยังจะใช้ตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPIs) ด้วยมิติใหม่ ซึ่งเป็นเชิงคุณภาพมากกว่าจะมองแค่เม็ดเงินลงทุนเพียงอย่างเดียว

 

โดย : นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน