posttoday

แก้ รธน. จุดร่วมพรรคการเมือง ทางออกประชาธิปไตยในอนาคต

09 มีนาคม 2566

ปัญหาของการเมืองไทย ที่หลายฝ่ายมองว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตย จำเป็นอย่างยิ่ง  เพื่อให้เป้าหมายบรรลุ พรรคการเมืองต้องประกาศพันธสัญญาว่า จะร่วมมือกันดำเนินการ ไม่ว่าหลังเลือกตั้งจะเป็นพรรครัฐบาล หรือ พรรคฝ่ายค้านก็ตาม

แก้ รธน. จุดร่วมพรรคการเมือง ทางออกประชาธิปไตยในอนาคต

การเลือกตั้ง 66 ที่เข้นข้นทุกขณะ แม้ยังไม่ประกาศยุบสภา และ ประกาศเลือกตั้งใหม่ แต่ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองมีความคึกคัก ทั้งในแง่การเตรียมบุคคลากรเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง และ การออกนโยบายสำหรับการหาเสียงที่กำลังจะมาถึง  ทุกพรรคการเมือง มีการออกแคมเปญ ออกนโยบายเพื่อดึงดูดประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยมุ่งเน้นนโยบายเศรษฐกิจเชิงประชานิยม  หรือ บางพรรคเอาจเรียกว่านโยบายประชาธิปไตยที่กินได้ก็ตาม  

การแข่งขันในนโยบายหาเสียงในเชิงประชานิยม  ถึงขั้นแต่ละพรรคการเมืองพยายามเคลมนโยบายต่างๆว่าเป็นของตัวเอง ไม่ว่าผ่ายรัฐบาลเองที่แย่งกันชูว่าเป็นตัวจริงในเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบ้างละ แย่งกันประกาศต่อสังคมถึง มาตรการเพิ่มค่าป่วยการของ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครกรุงเทพมหานคร (อสส.) ที่เพิ่งผ่านมติ ครม.บ้างละ  หรือแม้แต่พรรการเมืองคนละขั้วอย่างเพื่อไทย กับ ภูมิใจไทยต่างแย่งกันเคลมนโยบายพักหนี้ว่าเป็นของตัวเอง

แต่มีประเด็นหนึ่ง ที่เป็นจุดร่วมทางการเมือง ที่หลายพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกัน และมีการพูดถึงในการเดินสายหาเสียงในช่วงแรกนี้ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 (รธน.60) อย่างเช่น พรรคประชาธิปัตย์ที่ล่าสุด จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ประกาศชัดเจนว่าพรรคต้องการแก้ไข รธน.60 ยกฉบับยกเว้น หมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ หรือในหมวด1 และ 2 เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา ประกาศชัดเจนเช่นกันว่า พรรคต้องการให้มีการแก้ไข รธน.60 ทั้งฉบับเช่นกัน โดยเสนอไปถึงขั้นให้มีการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เหมือนกับปี 2540 เลยทีเดียว ส่วนท่าทีของพรรคฝ่ายค้านไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล และ เพื่อไทย ที่ผ่านมามีความชัดเจนในเรื่องความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาโดยตลอด 

คำถามก็คือ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องแก้ไข รัฐธรรมนูญ 2560 

เรื่องนี้หากย้อนกลับไปดูนับตั้งแต่ มีการร่างรัฐธรรมนูญ จนกระทั้งในขั้นตอนการทำประชามติ และหลังประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อ วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นมา มีความเห็นต่างในเรื่องของรัฐธรรมนูญค่อนข้างมาก มีการสรุปประเด็นความเห็นจากการสำรวจความเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 60 ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญในปีนั้นของ สวนดุสิตโพล ออกมาดังนี้ 

ประเด็นต่าง ๆ ประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร

-ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม พรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุด อาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล อาจทำให้ได้รัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ เห็นด้วยร้อยละ 55.67 ไม่เห็นด้วย 37.63
-เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับปราบโกง เพราะมีกลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มข้น เห็นด้วย ร้อยละ 72.25 ไม่เห็นด้วย 25.43
-เป็นรัฐธรรมนูญฉบับทุนขุนนาง เพราะทำให้รัฐมีอำนาจ เป็นใหญ่ ไม่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เห็นด้วยร้อยละ 45.79 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ  49.40%
-รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยาก เพราะต้องอาศัยทั้งเสียงจาก ส.ว. และ ส.ส. เห็นด้วย ร้อยละ 65.29 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 30.41
-รัฐธรรมนูญเปิดช่องทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจของ คสช. เห็นด้วย ร้อยละ 57.82 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 37.71
-รัฐธรรมนูญเปิดช่องทำให้เกิด “นายกฯคนนอก” เห็นด้วยร้อยละ 63.14 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 31.70

“จุดแข็ง-จุดอ่อน” ของ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560

จุดแข็ง  (3 อันดับแรก)

-เน้นการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น           ร้อยละ 37.07
-เน้นการปฏิรูป พัฒนาคนและประเทศชาติ      ร้อยละ 25.45
-มีบทลงโทษพรรคการเมืองที่รุนแรง             ร้อยละ 16.63

จุดอ่อน  (3 อันดับแรก)

-ถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ คสช. ร้อยละ 26.92%
-ประชาชนมีส่วนร่วมน้อย ร้อยละ 23.46
-เน้นเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องประชาชน ร้อยละ 21.92
 (ที่มา สวนดุสิตโพล )

นอกจากนี้ ประเด็นหนึ่งในการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ก็คือ บทบาทของสมาชิกวุฒิสภา หรือ  สว. โดย วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารทั้งหมด อีกทั้งมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือสำหรับสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และในการทำหน้าที่ ที่ผ่านมา มีรายงานจาก ไอลอว์ว่า สว. มีการแต่งตั้งญาติของตัวเองเข้ามาเป็นคณะทำงาน และออกเสียงร่างกฎหมายไปในทิศทางเดียวกันถึงร้อยละ 98 อีกด้วย ซึ่งบทบาทของ สว. บรรดาพรรคการเมืองต่างเห็นว่าเป็นอุปสรรคในพัฒนาระบอบประชาธิปไตย และ พยายามขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวมาตลอด มีกระทั้งข้อเสนอ ไม่ต้องมี สว.หรือ ใช้ระบอบ สภาเดี่ยว ที่มีเพียง สภาผู้แทนราษฎร กันเลยทีเดียว 

จะว่าไปแล้ว ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา ไปได้ได้ยากยิ่ง เพราะการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ทำให้การแก้ไขทำได้ยาก และที่สำคัญ เงื่อนไขหนึ่งคือ ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 375 เสียงแล้ว ในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. หรือ 84 คน ทำให้หลายฝ่ายมองว่า เป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 

ดังนั้น ปัญหาของการเมืองไทย ที่หลายฝ่ายมองว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตย และ ให้ ส.ส.สามารถทำหน้าที่ในการดูแลประชาชนได้มากยิ่งขึ้นนั้น การผนึกกำลังกันของ ส.ส. จากพรรคการเมือง จำเป็นอย่างยิ่ง  เพื่อให้เป้าหมายในการแก้ไขกฎหมายสูงสุดที่เป็นหลักในการปกครองประเทศมีความเป็นสากลในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองทุกพรรคต้องประกาศร่วมมือกัน และ ประกาศเป็นพันธสัญญากันตั้งแต่ต้น ไม่ว่าหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองใดจะไปอยู่ในซีกรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ตาม จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามเป้าหมายให้ได้

นี้จึงเป็นจุดร่วมของบรรดาพรรคการเมืองที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เป็นการแสดงจุดยืนของพรรคการเมืองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแนวนโยบายที่เสนอให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกเข้ามา ในการเลือกตั้ง66 นี้