posttoday

Virtual Bank ต่อการเปลี่ยนแปลงของแวดวงการเงินในไทย ดึง underserved สู่ระบบ

21 กุมภาพันธ์ 2566

บทบาทสำคัญของ Virtual Bank กับการเปลี่ยนแปลงต่อแวดวงการเงินในประเทศไทยมีหลายแง่มุม แต่ที่สำคัญคือ ทำให้กลุ่ม underserved ถูกดึงเข้าสู่ระบบ และได้ใช้บริการที่สะดวกมากขึ้น เช่นเดียวกับประโยชน์อื่น ๆ ที่จะส่งผลดีกับผู้บริโภค

Virtual Bank ต่อการเปลี่ยนแปลงของแวดวงการเงินในไทย ดึง underserved สู่ระบบ

เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในแวดวงการเงินมีเรื่องน่าสนใจที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง นั้นคือการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)  และกำลังอยู่ในช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งตามไทม์ไลน์ที่ประกาศออกมาเราคนไทยน่าจะได้ลองใช้บริการ Virtual Bank กันภายในกลางปี 2568 หรือประมาณอีก 2 ปีข้างหน้าต่อจากนี้

 

สำหรับ Virtual Bank ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ธนาคารที่เราใช้กันทุกวัน แต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นการให้บริการทั้งหมดบนช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ไม่มีสาขา ไม่มีตู้ ATM/CDM

 

โดยจะเน้นการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลทางเลือกที่หลากหลายเข้ามาเป็นพระเอกในการวิเคราะห์ทำความเข้าใจลูกค้า เพื่อสร้างบริการการเงินที่แตกต่างและครอบคลุมความต้องการของลูกค้า ตลอดจนรองรับการเกิดขึ้นของบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาเพิ่มความสะดวกด้านการเงินให้กับผู้ใช้งานในอนาคต

 

มองว่าสิ่งที่ ธปท. ตั้งใจจะให้เกิดขึ้น คือ การสร้างบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่ม underserved หรือกลุ่มที่ยังไม่ได้รับบริการการเงินที่ดีและครอบคลุมเพียงพอ ที่ยังคงมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด

 

ถึงแม้ว่าจากสถิติการใช้ Mobile banking ของคนไทย ในเดือน พ.ย. 2565 มีจำนวนผู้ใช้ถึง 95 ล้านราย* และติดอันดับเป็นประเทศที่ใช้ Mobile banking มากอันดับต้น ๆ ของโลก

 

แต่ถ้ามาลงลึกในเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงินด้านอื่น ๆ นอกจากผลิตภัณฑ์เงินฝากแล้วยังถือว่าน้อยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบริการสินเชื่อ บริการการลงทุน หรือบริการด้านประกัน เนื่องจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบดั้งเดิมมีข้อมูลในการทำความเข้าใจลูกค้าได้ค่อนข้างจำกัด

 

รวมถึงรูปแบบการให้บริการที่มีต้นทุนสูงทำให้ผลิตภัณฑ์แบบเดิมเข้าถึงได้ยาก โดยการนำเทคโนโลยีและข้อมูลเข้ามาใช้มากขึ้นจะส่งผลให้ผู้ให้บริการสามารถออกแบบบริการที่ยืดหยุ่นและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น

 

*อ้างอิงข้อมูล https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=949&language=th 

 

สนามนี้...จะเห็นผู้เล่นไหนลงแข่งบ้าง?

เบื้องต้น ธปท. ตั้งเป้าจะให้ใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ไม่เกิน 3 ราย พร้อมข้อกำหนดทุนจดทะเบียนที่ต้องเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับการลงทุนทำระบบพื้นฐานที่ต้องมีเสถียรภาพสูงในระดับเทียบเท่าธนาคารในปัจจุบัน จึงมองว่ากลุ่มผู้เล่นที่จะเสนอตัวในรอบแรกนี้น่าจะเป็นรายใหญ่ ๆ อย่างที่เราอาจจะได้เห็นข่าวคราวออกมาบ้างแล้ว 

 

•    อย่าง KTB และ AIS ก็ได้เซ็น MOU เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการตั้ง virtual bank กันไปเรียบร้อย มองว่าทั้งคู่ต่างมีจุดแข็งที่น่าจะมาเสริมกันได้เป็นอย่างดี เพราะ KTB ก็มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านให้บริการทางการเงิน พร้อมฐานลูกค้าที่มีอยู่จำนวนไม่น้อย ส่วน AIS ก็เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ที่มีจุดแข็งเรื่องสัญญาณและฐานลูกค้าที่เหนียวแน่นจำนวนมาก 


•    ส่วนกลุ่ม CP คาดว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่สนใจ Virtual Bank เนื่องจากมี TrueMoney Wallet ที่มีฐานลูกค้าและมีเครือข่ายที่สำคัญที่คนไทยคุ้นเคยกันดีอย่าง 7-Eleven Lotus’s Makro ทำให้กลุ่มนี้มีจุดแข็งด้านข้อมูลลูกค้าที่หลากหลายทั้งจากฝั่ง telco และร้านค้า และยังมีจุดให้บริการธุรกรรมทางการเงินครอบคลุมแทบจะทั้งประเทศ

 

กลุ่มบริษัท Telco (ผู้ให้บริการด้านเครือข่ายมือถือ) เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เพราะฐานข้อมูลด้านลูกค้าเยอะ นอกจากนี้ก็จะมีกลุ่ม e-commerce ที่มีข้อมูลหลากหลายมิติที่จะทำให้เข้าใจและรู้จักลูกค้า ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการนำไปพัฒนาบริการของ Virtual Bank ให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

 

ผู้บริโภคจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง? 


เป้าหมายในการออก Virtual Bank license มาพร้อมกับแนวคิด Financial Inclusion ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่การเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่ม สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่าย สะดวก และปลอดภัย โดยไม่จำกัดว่าต้องทำผ่านสาขาธนาคารเท่านั้น

 

ดังนั้นแน่นอนว่าลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่ม underserved จะถูกดึงเข้ามาในระบบ และได้ใช้บริการที่สะดวกมากขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายที่จะส่งผลดีกับผู้บริโภคทั้งสิ้น อาทิ


•    เกิดการแข่งขันกันพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินให้ดีขึ้นและเหมาะสมขึ้นในทุกมิติ ทั้งด้านคุณภาพและราคา 

•    Customer Journey ที่เข้าถึงง่ายขึ้น ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์บริการทางการเงินใหม่ๆ ที่ง่าย สะดวก และรวดเร็วมากขึ้น 

•    คนที่ไม่เคยมีประวัติทางการเงินมาก่อน จะมีโอกาสสร้างเครดิตและเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีอยู่ได้อย่างสูงสุด

 

เช่น สามารถขอสินเชื่อในระบบได้ จากเดิมที่อาจจะเคยกู้นอกระบบ สามารถเริ่มลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับตัวเองได้ หรือการเริ่มคุ้มครองตัวเองด้วยการทำประกันชีวิต หรือสุขภาพ ซึ่งถือเป็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชนในประเทศในภาพรวมให้ดีขึ้นด้วย

 

LINE BK vs Virtual Bank 

LINE BK เป็น Social Banking ใน LINE เกิดจากความร่วมมือของธนาคารกสิกรไทย และ LINE อาจเป็นตัวอย่างด้านบริการที่มีความใกล้เคียงกับบริการของ Virtual Bank

 

เพราะ LINE BK เป็นบริการทางการเงินครบวงจรบนแอปพลิเคชัน LINE โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม underserved ซึ่งมีการใช้ข้อมูลทางเลือกเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และประเมินลูกค้า