posttoday

ปลดล็อกนายก 8 ปี หนุนบิ๊กตู่สืบทอดอำนาจ หวังดี หรือ ประสงค์ร้าย

15 มกราคม 2566

การออกมาเคลื่อนไหวของ 2 ส.ว. ที่ต้องการปลดล็อกเงื่อนไขวาระนายกไม่เกิน 8 ปี เป็นการถอยหลังเข้าคลอง ที่อาจจะสร้างปัญหาความขัดแย้งของสังคมขึ้นมาอีกรอบ ระวังกระแสตีกลับ การชูประเด็นนี้ จึงเป็นเหมือนระเบิดลูกใหญ่ ที่ไม่รู้ว่า มีเจตนาดี หรือ ประสงค์ร้ายกันแน่

ปลดล็อกนายก 8 ปี หนุนบิ๊กตู่สืบทอดอำนาจ หวังดี หรือ ประสงค์ร้าย

การเคลื่อนไหวของ 2 ส.ว.อย่าง เสรี สุวรรณภานนท์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และ ส.ว.กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ที่กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไว้ไม่เกิน 8 ปี  โดยต้องการยกเลิกประเด็นดังกล่าว ใช้เหตุผลว่า  

“ต้องการแก้ไข เพื่อให้สอดรับกับทุกพรรคการเมือง เพราะไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งคราวต่อไป สามารถใช้กติกาดังกล่าวได้ “ และ 
 “ไม่ควรจำกัดวาระนายกฯ ไว้ที่ 8 ปี หาก พล.อ.ประยุทธ์ พ้นวาระ แต่นายกรัฐมนตรีเป็นคนดี ไม่ควรจะจำกัดวาระการทำงาน”

ประเด็นดังกล่าวน่าจับตายิ่ง เพราะจะส่งผลต่อการเมืองครั้งใหญ่ และที่สำคัญจะส่งผลต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและพรรคการเมืองทั้ง รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)และพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามอย่างแน่นอน

การจุดพลุ ประเด็นเลิกจำกัดอายุนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 8 ปี จะด้วยเจตนาดี อยากเอาใจ อยากช่วย พล.อ.ประยุทธ์ หรือจะประสงค์ร้ายกันแน่น่าสนใจมาก เพราะนับจากนี้ ประเด็นนี้ จะเป็นกระแสของการเมืองร้อนขึ้นมาแน่นอน พลันที่ จุดประเด็นขึ้นมาทั้งพรรคฝ่ายค้าน และ พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรค พลังประชารัฐ(พปชร.) ที่เป็นพรรคหนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันจากการเลือกตั้ง 2562 ประกาศออกมาทันทีว่า “ไม่เอา”  และเมื่อผนวกกับ จดหมายน้อยของ ลุงป้อม พล.อ.ประวิตร ที่เป็นหือฮา เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ที่ลากใส้ความต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ หรือ สืบทอดอำนาจ ในการเลือกตั้ง 2562 หลังจากนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหาร คสช.เมื่อปี 2557 มาแล้ว 

นับจากนี้ ประเด็นการหาเสียงของพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามจะมีการชูประเด็น “ต้านการสืบทอดอำนาจ” ของพล.อ.ประยุทธ์ขึ้นมาเป็นประเด็นอย่างแน่นอน  และการลากผลงานความล้มเหลวในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะประเด็น การปฏิรูปในด้านต่างๆจะถูกขยายออกมา เพื่อโจมตีพล.อ.ประยุทธ์อย่างต่อเนื่องและแหลมคมขึ้น 

ต้องยอมรับว่า ประเด็นการปฏิรูปประเทศ ที่เป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารใช้เป็นเหตุผลในการยึดอำนาจ เป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกยกขึ้นมาอย่างถูกจังหวะในขณะนั้น  ความล้มเหลวของระบบการเมือง ของพรรคการเมือง ที่มุ่งเน้นหาประโยชน์ส่วนตัว มีการทุจริตคอรัปชั่น หาทางออกกฎหมายเพื่อช่วยล้างความผิดให้กับนายใหญ่และพวกพ้อง มีการใช้อำนาจรัฐ สร้างรัฐตำรวจ เพื่อทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ใช้อำนาจรัฐแทรกแซงกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม อย่างเช่น การสอบภาษีย้อนหลัง เป็นต้น 
 

เหตุการณ์เหล่านั้นทำให้เกิดความขัดแย้งสร้างความแตกแยกของสังคมอย่างรุนแรง ลุกลามไปจนถึงระดับครอบครัว พ่อ แม่ ลูก เห็นต่างทะเลาะไม่ลงรอยกัน มีการใช้ความรุนแรงทำร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองฯ สิ่งเหล่านั้น ทำให้ประเด็น การปฏิรูปประเทศ การสร้างความสงบ เป็นความหวังของสังคม 

ถึงวันนี้ วันที่ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารบ้านเมืองมานานกว่า 8 ปีตามพฤตินัย การปฏิรูปประเทศเดินถึงใหน ?  เรายังเห็นความไม่เป็นธรรมในการกระบวนการใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมเกิดขึ้นมากมาก การปฏิรูปตำรวจ ที่เป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรมล้มเหลวโดยสิ้นเชิงใช่หรือไม่ เรายังเห็น การบังคับใช้กฎหมายต่อกรณี ทายาทตระกูลดัง อย่าง บอส  กระทิงแดง จนถึง เสี่ยเบนท์ลี่ย์ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติเอื้อผู้ต้องหาให้พ้นจากคดีความผิดร้ายแรงอยู่ใช่หรือไม่  เรายังเห็นความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการ ทุนจีนเทา ที่เกี่ยวโยงกับนักการเมือง และ เจ้าหน้าที่รัฐ และยังไม่มีการจัดการอย่างเด็ดขาด เรายังเห็นการเดินหน้าโครงการของรัฐที่ส่อไปในทางทำให้รัฐเสียประโยชน์จากงบประมาณ เสียเงินภาษีของประชาชนมหาศาล อย่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอยู่ ฯลฯ

สิ่งต่างๆเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นผลงานในการปฏิรูปประเทศที่ล้มเหลวไม่สมกับความหวังของประชาชนเกิดขึ้นเลย  การยกข้ออ้างของ ส.ว. ที่ยกเอา พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนดี เอามาตรฐานอะไรมาเป็นตัวชี้วัด หากนำความล้มเหลวเหล่านั้นมาเทียบ อย่างนี้หรือ คือ คนดี  ที่ต้องยอมแก้ กฎหมายสูงสุดของประเทศเพื่อให้ไปต่อ เพื่อให้มาสานต่อ ? 

สิ่งสำคัญที่สุด ที่ไม่สมควรแก้ไขกฎหมาย รัฐธรรมนูญ เพื่อปลดล็อควาระ 8 ปี ก็คือ ในหลักการครั้งเมื่อมีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และ 2560 ก็คือ   ป้องกันการสืบทอดอำนาจของบุคคลใด บุคคลหนึ่ง เปิดโอกาสให้มีการเลือกเพื่อเปลี่ยนหัวหน้ารัฐบาล ให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลย์ ไม่ให้บุคคลใดเข้ามาสร้างอิทธิพลยึดอำนาจรัฐเป็นของตนเอง เพราะนั้นไม่ใช่หนทางของระบอบประชาธิปไตย  

เราเคยวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของพรรคการเมืองบางพรรคในอดีต ที่ใช้อำนาจทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ใช้อำนาจเงิน เข้ามายึดระบอบรัฐสภา สร้างระบอบเผด็จการรัฐสภา มีการสืบทอดทายาททางการเมืองตั่งแต่ตัวเอง ลงไปสู่เครือญาติ พี่เขย น้องสาว มาแล้ว และนั้นเป็นเหตุผลหนึ่งที่มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ให้มีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี  เราต้องการเดินหน้าระบอบประชาธิปไตยตามธรรมเนียมของเหล่าประเทศเจริญแล้วของโลก ที่มีจุดยืนของการปกครองแบบประชาธิไตย 

มาวันนี้ การออกมาเคลื่อนไหวของ 2 ส.ว. ที่ต้องการปลดล็อกเงื่อนไขวาระนายกไม่เกิน 8 ปี จึงเป็นการถอยหลังเข้าคลอง  ที่อาจจะสร้างปัญหาความขัดแย้งของสังคมขึ้นมาอีกรอบ และหากยังยืนยันเดินหน้าต่อไป ระวังกระแสตีกลับ ความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จะยิ่งลดน้อยถอยลง การชูประเด็นการสืบทอดอำนาจ โดยส.ว. จึงเป็นเหมือนระเบิดลูกใหญ่ ที่ไม่รู้ว่า มีเจตนาดี หรือ ประสงค์ร้ายกันแน่