posttoday

สามี-ภรรยา ควรทำธุรกิจร่วมกันหรือไม่ มีผลทางภาษีอย่างไร

21 ธันวาคม 2565

หากเปรียบธุรกิจเหมือนเรือที่ขับเคลื่อนไปถึงฝั่งฝันนั้นก็ควรมีทั้งหัวเรือและหางเสือ แต่เมื่อไหร่ที่ธุรกิจเริ่มขยับขยายใหญ่ขึ้น จะต้องมีเรื่องของภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง

สามี-ภรรยา ควรทำธุรกิจร่วมกันหรือไม่ มีผลทางภาษีอย่างไร
           หากเปรียบการทำธุรกิจเหมือนเรือที่จะขับเคลื่อนไปถึงฝั่งฝันได้นั้น ควรมีทั้งหัวเรือและหางเสือ เพราะหัวเรือจะควบคุมให้ไปตามเส้นทางที่ตั้งไว้ และมีหางเสือคอยสนับสนุนให้ไปตามทิศทางที่หัวเรือควบคุมนั่นเอง 
           ดังนั้น การจะพาธุรกิจของตนเองให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ ก็ควรมีคู่หูคู่คิด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคู่ชีวิตนั่นเอง ช่วยกันวางแผนพาธุรกิจของครอบครัวไปถึงจุดมุ่งหมายอย่างถูกทิศถูกทาง โดยการทำธุรกิจร่วมกันของสามี-ภรรยา มีรายได้ร่วมกัน หากเป็นธุรกิจขนาดเล็กรายได้ไม่สูง อาจไม่ค่อยเกิดปัญหา   
           แต่เมื่อไหร่ที่ธุรกิจเริ่มขยับขยายใหญ่ขึ้น จะต้องมีเรื่องของภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นธุรกิจครอบครัวที่ทำในนามบุคคลธรรมดา หรือที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล จะมีความซับซ้อนในเรื่องของการยื่นภาษีอย่างแน่นอน ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจดังนี้

สามี-ภรรยา ทำธุรกิจร่วมกันในนามบุคคลธรรมดา
          สำหรับสามี-ภรรยาที่สมรสแล้ว หากทำธุรกิจร่วมกัน มีรายได้ร่วมกัน แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล นั่นหมายความว่าจะต้องเสียภาษีในนามบุคคลธรรมดา ซึ่งตามมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สิทธิ์สามีและภรรยาสามารถแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีได้
          โดยสามารถเลือกนำรายได้จากการทำธุรกิจที่ได้รับระหว่างปีภาษีที่ผ่านมาแล้ว นำมายื่นแบบแสดงรายการได้ดังนี้
          1.เลือกยื่นแบบฯ รวมกัน สามีและภรรยาต้องนำรายได้ยื่นแบบฯ รวมกันและเสียภาษีในนามของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
          - รวมยื่นแบบฯ ในนามสามี คือ ให้นำรายได้จากการประกอบธุรกิจร่วมกัน และรายได้อื่นๆ ของภรรยาทั้งหมดไปรวมกับรายได้ของสามี แล้วให้สามีเป็นผู้ยื่นแบบฯ
          - รวมยื่นแบบฯ ในนามภรรยา คือ ให้นำรายได้จากการประกอบธุรกิจร่วมกัน และรายได้อื่นๆ ของสามีทั้งหมดไปรวมกับรายได้ของภรรยา แล้วให้ภรรยาเป็นผู้ยื่นแบบฯ

          2.เลือกยื่นแบบฯ แยกออกจากกัน สามีและภรรยาสามารถนำรายได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการร่วมกัน นำรายได้มาแยกยื่นแบบฯ ได้ และสามารถใช้สิทธิหักค่าลดหย่อน และค่าใช้จ่ายแยกกันตามที่กฎหมายกำหนดได้ โดยสามารถแยกรายได้จากธุรกิจที่ทำร่วมกันได้ดังนี้

          - หากแยกรายได้ได้อย่างชัดเจนว่าส่วนไหนเป็นของสามี และส่วนไหนเป็นของภรรยา แต่ละฝ่ายจำนวนเท่าไร ลักษณะนี้สามารถยื่นแบบฯ และเสียภาษีแยกจากกันในนามของตัวเองได้
          - หากไม่สามารถแยกรายได้ได้อย่างชัดเจน สามารถแบ่งรายได้เป็นของสามีและภรรยาฝ่ายละครึ่งได้
          - หากรายได้จากการทำธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม เป็นต้น สามีและภรรยาสามารถแบ่งรายได้เป็นของแต่ละฝ่ายตามสัดส่วนที่ตกลงกันได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่ารายได้ที่ได้รับ และถ้าหากตกลงกันไม่ได้ ให้แบ่งรายได้เป็นของสามีและภรรยาฝ่ายละครึ่ง
          3.เลือกยื่นแบบฯ แยกเฉพาะเงินเดือนของตัวเอง หากสามี-ภรรยามีเงินเดือนจากการทำงานประจำ และมีรายได้จากการทำธุรกิจร่วมกันด้วย อาจแยกยื่นแบบฯ เฉพาะเงินเดือนของตัวเอง ส่วนรายได้อื่นๆ นำไปให้อีกฝ่ายยื่นแบบฯ และเสียภาษีรวมได้ ดังนี้
          - สามีแยกยื่นแบบฯ เฉพาะเงินเดือนของตนเอง ส่วนรายได้จากการทำธุรกิจร่วมกัน และรายได้อื่นๆ เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่าบ่น ให้นำไปรวมกับรายได้ของภรรยา แล้วยื่นภาษีรวมกันในนามภรรยา
          - ภรรยาแยกยื่นแบบฯ เฉพาะเงินเดือนของตนเอง ส่วนรายได้จากการทำธุรกิจร่วมกัน และรายได้อื่นๆ นำไปรวมกับรายได้ของสามี แล้วยื่นภาษีรวมกันในนามสามี

สามี-ภรรยา ทำธุรกิจร่วมกันในนามนิติบุคคล
กฎหมายไม่ได้มีข้อห้ามให้สามีและภรรยาที่จดทะเบียนสมรสห้ามจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนิติบุคคลรวมกัน ด้วยเหตุนี้สามี-ภรรยาจึงสามารถจดทะเบียนนิติบุคคล และเป็นหุ้นส่วนในกิจการได้ โดยสามี-ภรรยาถือเป็นคนละคนกัน และเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
          1.รายได้จากธุรกิจที่ทำร่วมกันในนามนิติบุคคล จะนำกำไรสุทธิมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล แล้วยื่นภาษีในนามบริษัท
          2.สามีและภรรยาจะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย แต่ยื่นเฉพาะรายได้อื่นๆ เช่น เงินเดือน เงินค่าปันผล ดอกเบี้ย เป็นต้น ซึ่งสามารถเลือกยื่นแบบฯ ร่วมกัน หรือยื่นแบบฯ แยกต่างหากได้ตามเงื่อนไขการยื่นแบบฯ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

สามี-ภรรยา ทำธุรกิจร่วมกันต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย
          สามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรสและทำธุรกิจร่วมกัน เมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ร่วมกัน ไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในนามคู่สมรส ซึ่งต้องนำรายได้ทั้งหมดจากการทำธุรกิจ มายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม 
          โดยไม่สามารถแบ่งรายได้แยกออกจากกันได้ เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มถือเป็นหน่วยภาษีเดียวกันในนามของสามีและภรรยา หรือถ้าหากมีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาท แต่มีความต้องการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็สามารถแจ้งต่อกรมสรรพากรขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้

สามี-ภรรยา ทำธุรกิจร่วมกันได้ แต่ควรวางแผนภาษีให้เหมาะสม
          หากใครที่เริ่มธุรกิจกับคู่ชีวิตของตนเอง ควรเตรียมวางแผนภาษีไว้แต่เนิ่นๆ ว่าแบบไหนเหมาะกับธุรกิจครอบครัวของตนเองที่สุด อย่างเช่นทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา การยื่นแบบฯ ร่วมกันจะเหมาะกับคู่สมรสที่มีรายได้ต่างกันมาก เพราะฝ่ายที่มีรายได้ต่ำกว่าจะไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้เต็มสิทธิ แต่เมื่อรวมรายได้กันแล้วก็จะได้รวมสิทธิค่าลดหย่อนทางภาษี ทำให้อีกฝ่ายที่มีภาระทางภาษีสูงกว่าได้ใช้ประโยชน์ได้เต็มสิทธิ
          หากใช้วิธีการยื่นแบบฯ แยกต่างหากออกจากกัน จะเหมาะกับคู่สมรสที่มีรายได้พอกัน เสียภาษีในอัตราฐานภาษีใกล้เคียงกัน และมีค่าลดหย่อนใกล้เคียงกัน การแยกยื่นจะช่วยทำให้สามี-ภรรยาเสียภาษีในอัตราที่เหมาะสม
          ส่วนวิธีการยื่นแบบฯ แยกเฉพาะเงินเดือนของตัวเอง จะเหมาะกับคู่สมรสที่มีรายได้จากการทำธุรกิจร่วมกัน รายได้อื่นๆ และมีรายได้จากงานประจำด้วย ซึ่งการแยกยื่นแบบฯ เฉพาะเงินเดือน และนำรายได้อื่นไปรวมกับอีกฝ่ายที่มีรายได้น้อยกว่า ที่ยังใช้สิทธิลดหย่อนและค่าใช้จ่ายยังไม่เต็มสิทธิ ก็จะช่วยประหยัดภาษีได้เพิ่มขึ้น
          และถ้าเลือกจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล สามี-ภรรยาในฐานะหุ้นส่วน จะต้องนำกำไรสุทธิจากผลประกอบการของบริษัทเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และนำรายได้อื่นๆ เช่น เงินเดือน เงินค่าปันผล ดอกเบี้ย ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย    

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ ที่นี่