posttoday

แด่นายแพทย์มงคล ณ สงขลา (จบ)

29 ธันวาคม 2563

โดย...นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน

****************

นายแพทย์มงคล ณ สงขลา อดีตรมว.สาธารณสุข ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม 2563 มีผลงานที่ควรค่าแก่การจารึกไว้มากมาย นอกจากเรื่องการทำเรื่องการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ซึ่งช่วยให้คนไข้ได้เข้าถึงยาอย่างกว้างขวาง โดยช่วยให้ประเทศชาติประหยัดเงินได้มากมาย และยังมีผลงานสำคัญที่กล่าวไปแล้ว 2 เรื่อง คือ (1) การผลักดันพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และ (2) เรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายให้แก่คนไข้ระบบบัตรทอง 47 ล้านคนแล้ว

เรื่องที่สาม ระบบบัตรทองเป็นระบบที่กระทบผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่ม จึงมีความพยายามอยู่เป็นระยะๆ ที่จะทำลายระบบนี้ ช่วงที่นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ครบวาระแรก และมีการสรรหาคนไปทำหน้าที่ต่อ ซึ่งไม่มีใครเหมาะสมเท่านายแพทย์สงวน แต่มีการล็อบบี้กรรมการบางคนในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้นายแพทย์สงวนพ้นจากหน้าที่ ทำให้คะแนนออกมาเท่ากัน โชคดีของประเทศไทยที่เวลานั้น นายแพทย์มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขและเป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยตำแหน่ง ได้ออกเสียงชี้ขาดให้นายแพทย์สงวน เป็นเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต่อไปอีกวาระหนึ่ง

ถ้าประธานขณะนั้นไม่ใช่นายแพทย์มงคล และนายแพทย์สงวนไม่ได้ทำหน้าที่เลขาธิการ สปสช. ต่อมา ระบบบัตรทองอาจถูกบ่อนเซาะ และประเทศไทยคงจะไม่ได้รับความชื่นชมจากนานาประเทศ และองค์การระดับโลก เช่น องค์การอนามัยโลก สหประชาชาติ ธนาคารโลก ฯลฯ อย่างที่ปรากฏ

นายแพทย์มงคล ไม่เพียงเป็นผู้ธำรงรักษาและพัฒนาระบบบัตรทองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างตัวของระบบนี้ด้วย เพราะระบบนี้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่นายแพทย์มงคล ณ สงขลา เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งเพียงปีเดียวในปีสุดท้ายของชีวิตข้าราชการประจำ แต่ด้วยภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง จนได้ฉายาว่า “ไม่มีเกียร์ถอยหลัง” ทำให้ระบบบัตรทองที่เริ่มดำเนินเมื่อเดือนเมษายน 2544 ใน 6 จังหวัดขยายเป็น 15 จังหวัด ใน 2 เดือนต่อมา และครอบคลุมส่วนภูมิภาคทั้งประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ใช้เวลาดำเนินการจนครอบคลุมเกือบทั้งประเทศในเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น

ขณะที่อังกฤษใช้เวลาดำเนินการครอบคลุมทั้งประเทศในเวลาประมาณ 3 ปี และต่อมาก็ครอบคลุมกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนมกราคม 2545 แม้จะมีปัญหามากมาย แต่นายแพทย์มงคล ถือหลัก “ปัญหามีไว้แก้” และ “ประโยชน์สุขของประชาชนต้องมาก่อน” งานนี้จึงมี “โมเมนตัม” แรงจนใครก็ฉุดไม่อยู่และสำเร็จครอบคลุมทั่วประเทศในเวลาเพียง 9 เดือนเท่านั้น

เรื่องที่สี่ คือการเสนอและผลักดันพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 จนสำเร็จ โดยเป็นพระราชบัญญัติฉบับสุดท้ายที่ผ่านสภานิติบัญญัติชุดนั้น

การรณรงค์เรื่องสุรามีมายาวนานตั้งแต่ครั้งพุทธกาล โดยพระพุทธศาสนาบัญญัติเป็นศีลข้อ 5 สำหรับประชาชน และมีพระอรรถกถาจารย์จำนวนไม่น้อยถือศีลข้อนี้เป็นข้อสำคัญที่สุดในบรรดาศีลทั้ง 5 ข้อ เพราะหากผิดศีลข้อนี้แล้ว ก็เป็นหนทางสู่อบาย คือ “อบายมุข” ทำให้ผิดศีลได้ทุกข้อ ทุกสังคมเห็นโทษของสุราและหามาตรการควบคุม แต่มักเอาชนะไม่ได้ ในประเทศไทย ขบวนการรณรงค์เรื่องสุราไม่เข้มแข็ง และไม่เข้มข้นเท่าการรณรงค์เรื่องบุหรี่

ซึ่งเป้าหมายใหญ่อยู่ที่การต่อสู้กับบริษัทข้ามชาติ จึงสามารถใช้เรื่องชาตินิยมมาเป็นเครื่องมือได้มาก ขณะที่เรื่องเหล้าผู้เสียผลประโยชน์หลักเป็นนายทุนชาติ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจและคนชั้นสูงในประเทศมาก การผลักดันกฎหมายนี้ผ่านสภาจึงต้องเผชิญแรงต้านอย่างหนัก นายแพทย์มงคล และทีมงาน “อ่านเกม” เรื่องนี้ “ขาด” จึงยอมถอยในเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง คือ

(1) ตัดเรื่องกองทุนแบบกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพออก และ (2) ยอม “ถอย” เรื่องการควบคุมโฆษณา ยอมให้ไม่เข้มข้นเท่าการห้ามโฆษณายาสูบ นอกจากนี้ยังตัดใจไม่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์และการบริโภคยาสูบที่มีกลุ่มผลักดันจะให้เสนอเข้าสู่สภาด้วย แต่นายแพทย์มงคลและทีมงานไม่ “รับลูก” เพราะเกรงว่าจะฉุดให้กฎหมายเรื่องสุรา “พังพาบ” ไปด้วย ทำให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาออกมาได้สำเร็จ เปิดทางให้สามารถควบคุมการดื่ม การจำกัดสถานที่ดื่ม การจำหน่าย การซื้อสุรา และการรณรงค์ “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง” ได้อย่างมีชีวิตชีวา และได้ผลดีอย่างกว้างขวางสืบต่อมา

เรื่องที่ห้า การผลิตพยาบาลเพิ่ม 3,000 คน ให้แก่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เรื่องนี้ต้องถือเป็นเครดิต “เต็มๆ” ของนายแพทย์มงคล เพราะช่วงนั้นเกิดวิกฤตชายแดนใต้จากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลก่อนหน้านั้น นายแพทย์มงคลจึงมีแนวคิดในการ “สร้างสันติสุข” ชายแดนใต้ ด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ยุทธวิธีหนึ่งก็คือการเพิ่มพยาบาล ซึ่งเป็น “กระดูกสันหลัง” (Backbone) ของระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ นายแพทย์มงคล เป็นผู้ “ฟันธง” ให้ผลิตเพิ่ม 3,000 คน เพื่อให้มากเพียงพอและโดยรวดเร็ว โดยดำเนินการผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) และใช้วิธีการคัดเลือกผู้มาเรียนตามระบบของกระทรวงสาธารณสุขที่ “ก้าวหน้า” และ “แก้ปัญหาอย่างตรงจุดและถูกวิธี” มายาวนานแล้ว นั่นคือ การคัดเลือกนักเรียนในพื้นที่ (จังหวัด)

และให้กลับไปทำงานในพื้นที่ภูมิลำเนา แต่เพื่อเร่งรัดให้ผลิตได้โดยเร็ว จึงขยายขอบเขตในเรื่องสถาบันการผลิตจากการผลิตในวิทยาลัยพยาบาลในเขต (Regions) เป็นการผลิตโดยวิทยาลัยพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งนี้ต้องมีการ “เสริมฐาน” ให้แก่นักเรียนที่คัดเลือกมาเรียนด้วย งานนี้ต้องเผชิญปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่น้อยแทบทุกขั้นตอน แต่ด้วยความมุ่งมั่นและสไตล์ที่ใช้ทั้ง “ไม้แข็ง-ไม้อ่อน” และ “ลูกล่อลูกชน” โดยการ “กัดติด” ไม่มีปล่อย ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จด้วยดี โดยรัฐบาลต่อมาได้จัดสรรตำแหน่งให้บรรจุเป็นข้าราชการเพื่อให้คงอยู่ในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

นายแพทย์มงคล นามสกุล ณ สงขลา แต่นายแพทย์มงคลมาจากครอบครัวยากจน และอยู่ในพวกไม่ลืม “กำพืด” ของตัวเอง ขณะเรียนแพทย์ที่ศิริราช นายแพทย์มงคลเป็นนักศึกษาแพทย์จำนวนน้อยมากที่เลือก “รับทุนกรมอนามัย” ซึ่งให้ทุนเล่าเรียนเดือนละ 500 บาท เพื่อผูกพันให้ต้องไปเป็น “หมออนามัย” ในชนบทโดยแพทย์จบใหม่สมัยนั้นส่วนใหญ่ที่เข้ารับราชการในกระทรวงสาธารณสุขจะเลือกไปทำงานในโรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งสังกัดกรมการแพทย์ เพราะได้ทำงานในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือแพทย์และทีมงานที่พร้อมกว่ามาก

ขณะที่ “หมออนามัย” แทบร้อยละร้อยต้องไปเป็นหมอคนเดียวอยู่ใน “สถานีอนามัยชั้นหนึ่ง” มีงบประมาณค่ายาเพียงปีละ 1 หมื่นบาทเท่านั้น และต้องไปเป็นผู้บริหารตั้งแต่รับราชการวันแรกด้วย จึงมีน้อยคนที่จะเลือกไปเป็นหมออนามัยแม้จะได้ทุนระหว่างเรียนเดือนละ 500 บาท

นายแพทย์มงคล มุ่งมั่น ทุ่มเททำงานอย่าง “กล้าหาญ” มาโดยตลอด จนได้ดำรงตำแหน่งระดับอธิบดีครั้งแรก คือ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และต่อมาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งนายแพทย์มงคลทนเห็นการพิจารณาตำรับยาและผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างเชื่องช้าไม่ได้ จึงสร้างระบบ “เร่งรัด” ที่ “ล่อแหลม” ต่อการผิดระเบียบจนถูก “ร้องเรียน” และสอบสวนโดย ป.ป.ป. ทำให้เป็น “ชนัก” ติดหลังอยู่นานหลายปี

โชคดีของประเทศไทยที่คุณกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีสาธารณสุขขณะนั้นตัดสินใจแต่งตั้งนายแพทย์มงคลเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งๆ ที่ยังมีชนักติดหลังอยู่ ทำให้นายแพทย์มงคลได้ร่วมทำเรื่องบัตรทองในช่วงเริ่มต้น และทำงานสำคัญๆ อื่นๆ อีกหลายชิ้น

นายแพทย์มงคลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขช่วงเวลาค่อนข้างสั้น เพียง 1 ปี 3 เดือน 27 วัน (9 ตุลาคม 2549 – 6 กุมภาพันธ์ 2551) แต่ในบรรดารัฐมนตรีสาธารณสุข นับตั้งแต่ตั้งกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2485 เป็นต้นมา นายแพทย์มงคลเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขที่มีผลงานโดดเด่น เป็นรองก็แต่ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เท่านั้น

ขอให้ดวงวิญญาณของนายแพทย์มงคล ณ สงขลา จงไปสู่สุคติในสรวงสวรรค์ เป็นเทพเจ้าที่คอยปกป้องคุ้มครองประเทศชาติและประชาชนชาวไทยให้พ้นภัยพาล และเจริญวัฒนาสถาพรตลอดไป

*********************