posttoday

จาก Megatrends สู่ New Normal ผู้ชนะหลัง COVID-19

29 เมษายน 2563

คอลัมน์ I wish you wealth โดย...ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT? Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

เป็นที่ทราบโดยทั่วกันแล้วว่า การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้าง ทำให้ในปี 2020 นี้ เราน่าจะได้เห็นเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งขนาดการหดตัวของเศรษฐกิจนั้น อาจรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วง Great Depression ปี 1929 - 1932 แต่สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ได้ตั้งคำถามหรือยังมองภาพได้ไม่ชัดเจนมากนักก็คือ เมื่อวิกฤต COVID-19 ผ่านพ้นไปแล้ว โลกของเราในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ธุรกิจประเภทใดที่จะยังคงอยู่รอดและสามารถเติบโตต่อไปได้ในอนาคต

สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตเห็นได้ในช่วงที่หลายประเทศได้ประกาศมาตรการ Lock Down เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนและการปรับตัวของภาคธุรกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและฉับพลัน ซึ่งการระบาดของ COVID-19 นั้นได้เข้ามาเร่งและย่นระยะเวลาให้กระบวนการ Disruption ในหลายธุรกิจให้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าหลายอุตสาหกรรมจะเผชิญการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สมดุลใหม่อย่างถาวร (New Normal) และไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้อีก ดังนั้น การมองหาโอกาสในตลาดหุ้นท่ามกลางภาวะวิกฤตรอบนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาภาพในอนาคตของประเภทกิจการที่เราสนใจลงทุนว่า ธุรกิจนั้นๆ อยู่ใน Megatrends ไม่ถูก Disrupt และมีศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคตอย่างต่อเนื่องหรือไม่

ซึ่ง 3 กลุ่มธุรกิจที่ทาง TISCO Wealth มองว่าอยู่ใน Megatrends และสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้ ทั้งยังมีศักยภาพในการเติบโตสูงในอนาคต ได้แก่

กลุ่มธุรกิจ E-commerce หรือ กลุ่มบริษัทที่มีรายได้หลักจากการขายสินค้าหรือให้บริการผ่านระบบออนไลน์ โดยได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคจากที่เคยเน้นการซื้อขายจากหน้าร้านมาเป็นการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น เช่น การสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ (Amazon, Alibaba) การสั่งอาหารออนไลน์ (Grabhub) การชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ (Paypal) รวมถึงการดูหนังผ่าน Online Streaming (Netflix) การเล่นเกมส์ออนไลน์และการติดต่อสื่อสารผ่านทาง Application (Tencent) เป็นต้น

ธุรกิจ E-commerce ถือได้ว่าเป็นกลุ่มเข้ามาลดทอนความสามารถในการแข่งขันและ Disrupt ธุรกิจในอุตสาหกรรม Retails สมัยเก่าอย่างชัดเจน อ้างอิงจากส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาด Retails ทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังกระตุ้นให้ผู้คนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเร็วขึ้นในการซื้อสินค้าหรือบริการผ่านระบบออนไลน์ ด้วยความสะดวกรวดเร็ว ความหลากหลายของสินค้าและราคาที่ถูกกว่าช่องทางแบบเดิม ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เกิดความพึงพอใจ จึงมีโอกาสสูงมากที่เมื่อวิกฤต COVID-19 ผ่านพ้นไปแล้ว ผู้คนอาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและจับจ่ายใช้สอยไปอย่างถาวรและหันมาใช้บริการธุรกิจ E-commerce มากขึ้น ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ยังมีช่องว่างในการเติบโตได้อีกมากในอนาคต

อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็คือ ธุรกิจกลุ่ม Digital Health โดยจะเป็นบริษัทขนาดกลาง-เล็กในกลุ่ม Healthcare ที่เน้นการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาในรูปแบบเดิม รวมถึงบริษัทที่มีการทำวิจัยและพัฒนาเครื่องมือการแพทย์สมัยใหม่ คิดค้นวัคซีนหรือยารักษาโรคต่างๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้ป่วยจำนวนมหาศาลทั่วโลก เช่น โรคมะเร็ง หลอดเลือดหัวใจ อัลไซเมอร์ กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือแม้กระทั่งไวรัส COVID-19

ตัวอย่างบริษัทในกลุ่ม Digital Health ที่ได้ประโยชน์ในช่วงการระบาดของ COVID-19 เช่น Teladoc ผู้ให้บริการการให้คำปรึกษากับแพทย์ผ่านระบบ Video Conference หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Telehealth ซึ่งได้รับประโยชน์จากมาตรการ Social Distancing ทำให้คนเข้ามาสมัครและใช้บริการ Telehealth มากขึ้น, บริษัท Moderna ที่มีความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 มากกว่าบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรม ส่งผลให้ราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทปรับตัวขึ้นมากกว่า 100% สวนทางกับภาวะตลาดช่วงนี้ นอกจากนี้ ธุรกิจกลุ่ม Digital Health ยังได้รับอานิสงส์จาก Megatrends สังคมผู้สูงอายุและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทำให้การรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจเหล่านี้ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องในอนาคต

สำหรับด้านการศึกษาเองนั้น ก็ได้เกิดการปรับตัวจากการที่สถานศึกษาต่างๆ ต้องปิดทำการ ทำให้เกิดการเรียนหนังสือและสอบผ่านระบบออนไลน์แทน อีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพที่จะเติบโตสูงในอนาคตก็คือ ธุรกิจกลุ่ม Edutainment (Education + Entertainment) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ปฏิวัติการเรียนการสอนจากรูปแบบเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการลดต้นทุนและจำนวนบุคลากร เพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสในการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ผ่านระบบ E-learning และ Digital Content ทำให้การเรียนหนังสือสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ในสถานศึกษาอีกต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality) เข้ามาเป็นเครื่องมือในการฝึกอบรมวิชาชีพต่างๆ ที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางสูง เช่น นักบิน แพทย์ รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยี AI ของสถาบันการศึกษาเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของนักเรียนหลากหลายมิติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในอนาคต

ตัวอย่างธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่จับตามอง เช่น 2U ผู้ให้บริการสถาบันการศึกษาออนไลน์ที่รวบรวมคอร์สเรียนของมหาวิทยาลัยระดับโลกกว่า 30 แห่งไว้บนแพลตฟอร์มเดียว, CAE Inc. ผู้นำด้านการออกแบบโปรแกรมฝึกอบรมและแบบจำลองการบินให้กับนักบินทั่วโลก ด้วยการใช้เทคโนโลยีแบบเสมือนจริง (Virtual Reality), IDP Education ผู้จัดสอบ IELTs ข้อสอบวัดผลภาษาอังกฤษที่ถือว่าเป็นใบผ่านทางในการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทั่วโลก, Chegg ผู้ให้บริการเช่า Textbook และ Online Tutor แก่เด็กนักเรียน

เป็นที่น่าเสียดายว่า 3 กลุ่มธุรกิจ Megatrends ที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น นักลงทุนแทบจะไม่สามารถพบได้เลยในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากลักษณะธุรกิจส่วนใหญ่ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทยนั้น ยังคงเป็นธุรกิจประเภท Old Economy เช่น พลังงาน ปิโตรเคมี ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงธุรกิจภาคบริการอย่าง ค้าปลีก โรงพยาบาล การท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤต COVID-19 โดยบางอุตสาหกรรมน่าจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวที่นานพอสมควรกว่าจะธุรกิจจะกลับมาทำกำไรได้เหมือนเดิม

ดังนั้น เรามองว่าโอกาสการลงทุนที่จะเกาะ Megatrends ของโลกสำหรับนักลงทุนไทย จึงอยู่ที่ตลาดหุ้นต่างประเทศมากกว่า โดยนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจ Megatrends เหล่านี้และมีผู้จัดการกองทุนที่เชี่ยวชาญคอยบริหาร Portfolio เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการลงทุนที่ผิดพลาดและเพิ่มโอกาสทำผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมในระยะยาว