posttoday

มีนาคม ตกงานมากกว่า 7.9 ล้านคน....สวนทางอัตราว่างงานต่ำสุด?

20 เมษายน 2563

ถึงเวลานี้คงไม่มีใครเถียงว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงหนักสุดในรอบหลาย 10 ปีมีการขยายตัวเป็นวงกว้างไปทั่วโลก

เกือบทุกประเทศมีการปิดสนามบินไปจนถึงปิดเมืองล็อคดาวน์พื้นที่และประกาศเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมการสัญจรเดินทางของผู้คนส่งผลต่อการชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจตั้งแต่ภาคค้าส่ง-ค้าปลีก, การผลิต, ภาคบริการ ,โลจิสติกส์รวมถึงภาคท่องเที่ยวและการลงทุน

สิ่งที่ตามมา คือ การว่างงานในระดับสูงเช่นประเทศสหรัฐฯ มีคนยื่นขอสิทธิประโยชน์ว่างงานมากกว่า 22 ล้านคน รวมไปถึงยุโรป, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อาเซียน, อินเดีย การว่างงานกลายเป็นปัญหาระดับโลกมีการประเมินว่า 1 ใน 10 ของแรงงานในประเทศต่างๆ อาจสูญเสียตำแหน่งงาน

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ในนี้คาดว่ามีความเสี่ยงต่อการว่างงานถึง 125 ล้านคนมากสุดกว่าทุกภูมิภาคเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในสัดส่วนที่สูง เช่น การส่งออก การท่องเที่ยว และตลาดทุนและตราสารหนี้ การลงทุนทางตรง (FDI)

ล่าสุด IMF หรือ กองทุนระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวถึงติดลบร้อยละ 3 จากเดิมที่คาดการณ์ว่าปีนี้จะเป็นบวกที่ร้อยละ 3.3 ประเทศที่เศรษฐกิจหดตัวติดลบอย่างรุนแรง เช่น สหรัฐอเมริการ้อยละ -5.9, สหภาพยุโรปร้อยละ -7.5, ประเทศญี่ปุ่นร้อยละ -5.2, เกาหลีใต้ร้อยละ -1.2, สิงคโปร์ร้อยละ -3.5ประเทศจีนถึงแม้เศรษฐกิจ ยังไม่ถึงขั้นหดตัวแต่การขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.2 ต่ำสุดในรอบ 40 ปี ขณะที่ประเทศต่างๆ 90 ประเทศเรียกร้องให้ IMF เข้ามาช่วยเหลือทางการเงิน

ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจคงไม่ได้เห็นในระยะสั้นเพราะการแพร่ระบาดยังพุ่งสูง สำหรับประเทศไทยแนวโน้มการแพร่ระบาดของไวรัสอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ภาคเอกชนเรียกร้องให้รัฐบาลรีสตาร์ทเปิดที่ว่างให้กลับมาดำเนินธุรกิจใหม่แต่อาจต้องค่อยทำค่อยไปมีการแบ่ง Safety Zone และธุรกิจกลุ่มเสี่ยงที่จะทำให้โรคร้ายกลับมาเรื่องพวกนี้ต้องให้มีความชัดเจน

ประเด็นที่อยากจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวข้องกับการว่างงาน เพราะคาดไม่ถึงว่าจำนวนการว่างงานจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเมินว่าขณะนี้มีคนตกงานแล้วไม่น้อยกว่า 7 ล้านคน ขณะที่ทางสภาอุตสาหกรรมและหอการค้าไทยระบุว่าน่าจะเป็น 10 ล้านคน ตัวเลขของรัฐบาลยิ่งหน้าตกใจเพราะแค่คนไปลงทะเบียนขอ 5,000 บาทมีมากกว่า 27 ล้านคนแต่กระทรวงการคลังประเมินว่าน่าจะผ่านเกณฑ์ไม่เกิน 9 ล้านคนตัวเลขนี้ไม่รวมเกษตรกรอีกประมาณ 7 ล้านครัวเรือน

แต่ตัวเลขเชิงประจักษ์นี้สวนทางกับรายงานสภาวะการทำงานของประชากรเดือนมีนาคม 2563 จัดทำโดยสนง.สถิติแห่งชาติระบุว่ามีผู้ว่างงานเพียงแค่ 3.92 แสนคนอัตราว่างงานร้อยละ 1.0 ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน

เห็นตัวเลขอัตราว่างงานระดับประเทศซึ่งขัดแย้งกับตัวเลขการว่างงานที่รัฐบาลกำลังให้ความช่วยเหลือที่ไปกันคนละทาง หากใช้ตัวเลขอัตราว่างงานอย่างเป็นทางการถือว่าวันนี้ทุกคนยังมีงานทำเหมือนปกติและดีกว่าหลายเดือนที่ผ่านมาด้วยซ้ำ

ขณะที่รัฐบาลออกพรก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทเพื่อมาเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้มีการว่างงานครั้งใหญ่ ใช้เกณฑ์อะไรมาบอกว่าประเทศไทยมีการว่างงานทั้งที่ตัวเลขของสนง.สถิติแห่งชาติที่กระทรวงแรงงานและทุกหน่วยราชการใช้เป็นดัชนีชี้วัดการว่างงานของประเทศปรากฏว่าไม่มีการว่างงาน ที่แปลกรายงานสภาวะทำงานเดือนมีนาคม 2563 ยังระบุว่าแรงงานท่องเที่ยวประเภทที่พักแรมตัวเลขคนทำงาน 2.91 ล้านคนสูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วถึง 1.8 แสนคนหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6

ขณะที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวบอกว่าโรงแรม-รีสอร์ทแทบจะร้างขอให้รัฐบาลประกาศสั่งปิดคนทำงานจะได้ไปขอเงินชดเชยจากประกันสังคม

จากรายงานสภาวะทำงานของประชากรเดือนมีนาคม 2563 ให้รายละเอียดว่าจำนวนแรงงานเกือบทุกคลัสเตอร์มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เช่น แรงงานในภาคค้าส่ง-ค้าปลีกส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบซึ่งรัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ปิดศูนย์การค้า ห้างพลาซ่า ร้านค้าทั้งหลายแต่รายงานข้างต้นระบุว่าคนยังทำงานอยู่กันดีถึง 6.29 ล้านคนสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 1.3 แสนคนหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1

ส่วนพวกแรงงานอิสระและแรงงานบริการอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร คนขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย ร้านเสริมสวย หมอนวด ฯลฯ ตัวเลขล้วนมีการจ้างงานที่สูงขึ้น

ข้อมูลเหล่านี้ ยกขึ้นมาเป็นสังเขปให้เห็นว่าในยามที่การว่างงานของประเทศพุ่งสูงสุดจนรัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใช้เงินมากสุดเป็นประวัติการณ์เพื่อเยียวยาคนตกงานและเสริมสภาพคล่องภาคธุรกิจ แม้แต่ในต่างประเทศกำลังผจญกับการถดถอยทางเศรษฐกิจจากรายงานของไอเอ็มเอฟ (IMF)

เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่าเศรษฐกิจโลกถดถอยหดตัวจะเกิดวิกฤตแรงงานที่เลวร้ายมากสุดในรอบเกือบศตวรรษ ปรากฏการณ์เชิงประจักษ์เหล่านี้ขัดแย้งกับตัวเลขอัตราการว่างงานเดือนมีนาคมที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปีนับแต่ปีพ.ศ.2559 (เปรียบเทียบจากค่าเฉลี่ยแต่ละปี) ที่กล่าวมานี้ไม่ได้ไปว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติเพราะทำตามนิยามขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ แต่อึดอัดกับตัวเลขพวกนี้มานานแล้ว

คงถึงเวลาที่กระทรวงแรงงานจะต้องทบทวนนิยามการมีงานทำที่ใช้กันมากว่า 40 ปี เช่น วิธีการสุ่มเก็บตัวอย่างแรงงานครัวเรือนภาคเกษตรต้องแยกออกจากแรงงานในเมืองซึ่งหลายประเทศเขาที่แยกตัวเลขการสำรวจออกจากกันหรือสำรวจเฉพาะแรงงานที่ทำงานในเมือง อีกทั้งควรจะแก้ไขนิยามที่ระบุว่า “ผู้มีงานทำหมายถึงในรอบสัปดาห์ที่สำรวจคือคนที่ทำงานตั้งแต่ 1 ชั่วโมงจะได้รับหรือไม่ได้รับค่าจ้าง-ค่าตอบแทน”

ตรงนี้ต้องทบทวนนิยามใหม่เป็นไปได้อย่างไรคนทำงานแค่ 1 ชั่วโมงในหนึ่งสัปดาห์หากใช้ค่าจ้างขั้นต่ำมีรายได้เฉลี่ยเพียงวันละ 53 บาทจะอยู่ได้อย่างไรแถมบอกว่าแค่มีงานทำแต่ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างก็ถือว่าเป็นบุคคลไม่ว่างงาน

นิยามพวกนี้เลิกได้แล้วหากยังไม่ทบทวนวิธีการสำรวจผู้มีงานทำเพื่อทราบอัตราการว่างงานของประเทศจะไม่สามารถใช้อ้างอิงเป็นเครื่องมือชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศและตัวเลขไม่น่าเชื่อถือสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์จริง

หากไม่แก้ไขทบทวนในช่วงเวลาอย่างนี้....แล้วจะไปทำเมื่อใดครับ