posttoday

บินสู้ฝุ่น?

05 กุมภาพันธ์ 2562

เป็นข่าวครึกโครมและน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางโรงเรียนการบินกรุงเทพ (BAC) โดยผู้บริหารระดับสูงได้ออกมาให้สัมภาษณ์เป็นฉากๆ

เรื่อง มือสายฟ้า

เป็นข่าวครึกโครมและน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางโรงเรียนการบินกรุงเทพ (BAC) โดยผู้บริหารระดับสูงได้ออกมาให้สัมภาษณ์เป็นฉากๆ ว่าพร้อมที่จะร่วมแก้วิกฤตมลภาวะในกรุงเทพฯ

โดยจะนำเครื่องบินฝึกจำนวน 47 ลำ บรรทุกน้ำประมาณ 140 กิโลกรัม/ลำ ทำการบินหมู่เรียงแถวหน้ากระดานประมาณ 10-20 ลำ ที่ความสูงประมาณตึกใบหยก 2 แล้วปล่อยละอองน้ำลงมาเพื่อให้จับกับฝุ่นละออง เพื่อบรรเทามลภาวะที่เกิดจากค่าฝุ่น PM2.5

พลันที่ข่าวปรากฏออกมาคนในสังคมหลายๆ คนต่างก็มีความหวังว่าอยากจะให้ปฏิบัติการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างใจจดใจจ่อ แต่เมื่อพิจารณาในเรื่องความปลอดภัยทางด้านการบินแล้ว มีคำถามที่ต้องตอบให้ได้อยู่หลายประเด็นด้วยกัน

เช่น ในส่วนของเครื่องบินที่ใช้เป็นเครื่องบินฝึกทาง “พลเรือน” การติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ แล้วบรรทุกน้ำที่หนักประมาณ 140 กิโลกรัม (ตามข่าวที่ให้สัมภาษณ์) พร้อมอุปกรณ์พ่นน้ำ ปัญหาคือจะบรรทุกอย่างไร ติดตั้งอย่างไร

เพราะเครื่องไม่ได้ออกแบบให้ทำการติดตั้งดังกล่าว แม้หากจะทำก็ต้องติดตั้งแล้วทำการทดลองบินก่อนเพื่อให้สำนักการบินพลเรือนอนุญาตก่อนจึงจะทำการบินได้

ประการที่สอง การบินเกาะหมู่เรียงแถวหน้ากระดานจำนวน 10-20 ลำ ในระดับความสูงต่ำผ่านเมือง จะใช้นักบินของสถาบันการบินดังกล่าวบิน หรือจะใช้นักบินกองทัพบิน เพราะรูปแบบการบินเกาะหมู่ลักษณะดังกล่าวโดยเครื่องบินจำนวนมากๆ เป็นการบินลักษณะเฉพาะจำเป็นต้องใช้นักบินที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์ มีการเตรียมการและมีการฝึกซ้อมกันหรือไม่อย่างไร

ประการที่สาม การใช้เครื่องบินฝึกบินเกาะหมู่ในระดับต่ำผ่านเมือง (ซึ่งปกติตามกฎการบินทำไม่ได้) หากเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น เครื่องยนต์ขัดข้องจะนำเครื่องไปลงฉุกเฉินเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อชุมชนได้อย่างไร

ข้อสังเกตทั้งสามประการเบื้องต้นเป็นข้อสังเกตที่มองข้ามไม่ได้เลย (จริงๆ แล้วมีอีกหลายข้อที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ) ที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนฝึกบินที่เป็นผู้เสนอความเห็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเจ้าของพื้นที่ และสุดท้ายคือสำนักการบินพลเรือนผู้ที่ต้องออกหนังสืออนุญาตให้ทำการบินลักษณะดังกล่าว ต้องหาคำตอบต่อประเด็นดังกล่าวให้ได้ว่าทำได้หรือไม่ เพียงใด

ภายใต้วิกฤตมลภาวะที่เกิดขึ้น ทุกๆ ฝ่ายล้วนมีเจตนาดีที่ต้องการเห็นความร่วมแรงร่วมใจในการแก้ปัญหา แต่หากการพยายามแก้ปัญหานั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนองค์ความรู้ที่ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังอาจจะทำให้สถานการณ์ที่แย่อยู่แล้วเลวร้ายมากขึ้นอีกก็เป็นได้

คงยังไม่ลืมกันนะครับว่าที่เราเคยได้ธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศมาก่อนหน้านี้นั้น เป็นเพราะมาตรฐานในด้านการควบคุมกฎระเบียบต่างๆ ทางด้านการบินของเราไม่มีประสิทธิภาพใช่หรือไม่

การจะอ้างเหตุผลเพียงว่าเป็นกรณี “ฉุกเฉิน” แล้วทำได้ ก็คงต้องถามต่อไปว่าเครื่องไม้เครื่องมือทางราชการที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นครื่องบินของส่วนราชการต่างๆ เช่น โครงการฝนหลวง เครื่องของตำรวจทหาร น่าจะเหมาะสมกว่าเครื่อง “ฝึกบิน” ของเอกชนหรือไม่

แล้วเราใช้เครื่องบินและอุปกรณ์ต่างๆ ที่หน่วยงานต่างๆ มีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้วหรือยัง ถึงต้องอ้างเหตุคำว่า “ฉุกเฉิน” แล้วอนุมัติให้เครื่องบินฝึกพลเรือนทำภารกิจนี้ ท่ามกลางข้อสังเกตที่มีนัยสำคัญตามที่กล่าวข้างต้น