posttoday

นโยบายแรงงาน

13 มกราคม 2562

นับถอยหลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนจะเข้าสู่การเลือกตั้ง

โดย กัปตัน ป. 

นับถอยหลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนจะเข้าสู่การเลือกตั้ง โดยรัฐบาลใหม่จะเข้ามาบริหารประเทศ แต่ดูเหมือนว่านโยบายพรรคการเมืองด้านแรงงาน 36 ล้านคนทั่วประเทศ ยังไม่มีความชัดเจน

มีเพียงนโยบายกระทรวงแรงงานเท่านั้นที่กำหนดหลักๆ ไว้ 3 ด้าน คือ แรงงานต้องมีงานทำ ได้รับการคุ้มครอง และเพิ่มทักษะฝีมือ

อาทิ นโยบายจัดตั้ง “ศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” (EEC Labour Administration Centre) มีสถานประกอบการ3.7 หมื่นแห่ง มีลูกจ้าง 1.54 ล้านคน มีความต้องการแรงงาน 14,767 อัตรา จากสถานประกอบการพันกว่าแห่ง

สำหรับภารกิจ คือ เป็นฐานข้อมูลแรงงานเพื่อการจัดเตรียมแรงงานให้กับผู้ประกอบการได้ “แมตชิ่ง” ระหว่างผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา และแรงงานให้เกิดความสะดวกตั้งแต่ระหว่างเรียนไปจนจบการศึกษา โดยเน้นให้คนในพื้นที่ได้มีงานทำก่อน

นโยบายยกระดับความน่าเชื่อถือและจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว C 188 เพื่อแก้ปัญหาแรงงานทาส หรือแรงงานค้ามนุษย์ ส่งเสริมสุขภาพอนามัย และความเป็นธรรมด้านค่าจ้างในภาคแรงงานประมง

สำหรับความไม่สะดวกต่างๆ ภาครัฐจะเอื้อประโยชน์ให้ โดยมีสาระสำคัญ 14 ประเด็น อาทิ การจ่ายเงินสมทบกองทุนฯ สามารถขอเงินสมทบฯ คืนได้ หากค่าจ้างที่จ่ายจริงน้อยกว่าที่ประเมินเรียกเก็บ ซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขควบคู่กับประกันของภาคเอกชน ทดแทนการเข้าอยู่ในระบบของประกันสังคมได้ ไม่บังคับใช้กับเรือประมงพื้นบ้าน หรือเรือที่มีการจ้างแรงงานน้อยกว่า 5 คน

การตรวจรับรองสภาพความเป็นอยู่ในเรือประมงทุก 5 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จัดที่พักอาศัยบนเรือประมงที่มีขนาด 300 ตันกรอสขึ้นไป ต้องจัดอาหารและเครื่องดื่มปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอ เปิดโอกาสให้บุคคลอายุ 16 ปีขึ้นไป ฝึกงานในเรือประมงได้

การนำเข้าแรงงานตาม MOU บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การตรวจสุขภาพตรวจได้ทั้งใน โรงพยาบาลของรัฐ เอกชน หรือคลินิกที่กรมการแพทย์รับรอง กำหนดให้เรือที่ออกทำการประมงจะต้องจัดเวลาพักขั้นต่ำ 10 ชม. ในช่วงเวลา 24 ชม. และ 77 ชม. ในช่วงเวลา 7 วัน ทั้งเวลาพักในทะเลและบนบก เป็นต้น

การส่งออกแรงงานไปต่างประเทศโดยเน้นส่งเสริมให้นำเทคนิคและเทคโนโลยีด้านเกษตรของอิสราเอลที่ขึ้นชื่อด้านนวัตกรรมการเกษตร โดยกระทรวงแรงงาน ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อถอดบทเรียน งานวิจัย เทคโนโลยีและประสบการณ์เหล่านั้นมาปรับใช้ในประเทศไทย

เพื่อนำไปสู่การยกระดับแรงงานที่ไปอิสราเอลได้กลับมาเป็น “สตาร์ทอัพผู้นำภาคเกษตรในชุมชน” และการเตรียมความพร้อมแรงงาน 4.0 คือ แรงงานต้องเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี หรืออยู่กับเทคโนโลยีให้ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานทั้งหมด

นอกจากนี้ ผลักดันให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 ให้เพิ่มมากขึ้น ตั้งเป้าไว้ปีละ 1 ล้านคน โดยเน้นการฝึกทักษะ และปล่อยสินเชื่อให้แรงงานนอกระบบไปประกอบอาชีพ

เอาล่ะ! ใกล้เลือกตั้งแต่ยังไม่เห็นพรรคการเมืองใดจะมีนโยบายแรงงานชัดเจน ทุกพรรคต่างนำเสนอนโยบายแก้ปัญหาปากท้องเพราะได้คะแนนนิยม

ส่วนนโยบายแรงงานกลับถูกทอดทิ้งเพราะเป็นเพียงคนกลุ่มน้อย!