posttoday

ปัญญา-ญาณทัศนะ

03 มกราคม 2562

เปิดมาสัปดาห์แรกของปี ก็คงยังเป็นช่วงแห่งการเริ่มต้น อะไรๆ กว่าจะเข้าที่เข้าทางต้องรอไปช่วงสัปดาห์ที่ 2

เรื่อง ณ กาฬ เลาหะวิไลย

เปิดมาสัปดาห์แรกของปี ก็คงยังเป็นช่วงแห่งการเริ่มต้น อะไรๆ กว่าจะเข้าที่เข้าทางต้องรอไปช่วงสัปดาห์ที่ 2

วันนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นแบบคุยกันเบาๆ ก่อน ก็คือเรื่องเกี่ยวกับศักยภาพที่แท้จริงที่มีอยู่ในตัวทุกคน

นั่นคือสิ่งที่มีชื่อเรียกหลากหลาย อาทิ ปัญญาญาณ ญาณทัศนะ อัชฌัตติกญาณ หรือภาษาอังกฤษคือ Intuition

ฟังแค่ชื่อคงเกิดอาการปวดหัวตัวร้อน เพราะศัพท์ที่ดูเหมือนจะยากเกินสัมผัส

แต่เอาเข้าจริง สิ่งนี้ทำได้ไม่ยาก

ทั้งหมดคือการรับรู้แบบฉับพลัน หรือรู้ขึ้นมาแบบปัจจุบันทันด่วน ผุดขึ้นมาแบบไม่มีการบังคับ เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อใจสงบนิ่ง ผ่อนคลาย มีสมาธิ ไม่สับสนวุ่นวายไปกับสิ่งต่างๆ

ตัวอย่างเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับการรู้แบบฉับพลัน อาทิ สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท แอปเปิ้ล ที่คิดค้นตั้งแต่คอมพิวเตอร์แมคอินทอช ไปจนถึงไอโฟน

จ็อบส์สนใจศาสนาและปรัชญาของชาวตะวันออก แสวงหาหนทางสู่การหยั่งรู้อย่างจริงจัง ขนาดที่เคยเดินทางไปอินเดียนานนับเดือนเพื่อฝึกฝนจิตในวิถีตะวันออก

หลังจากนั้นจ็อบส์ตั้งใจฝึกฝนสมาธิแบบเซน และนำมาใช้ในธุรกิจ

หลากหลายครั้งในการทำธุรกิจ หรือตัดสินใจเชิงธุรกิจ กล่าวกันว่า จ็อบส์ได้ใช้จิตที่เป็นสมาธิ และฝึกฝนมาอย่างดีแล้ว ทำให้เกิดการรู้แบบฉับพลัน ด้วยใจเป็นกลาง จนสร้างธุรกิจระดับโลก

อีกบุคคลก็คือ เซอร์ไอแซค นิวตัน ผู้ที่ค้นพบกฎแรงโน้มถ่วงของโลก และเขียนหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีวิทยาศาสตร์ด้านการเคลื่อนที่ของวัตถุในอวกาศ กาลเวลา โดยนำคณิตศาสตร์อันซับซ้อนมาวิเคราะห์

ข้อมูลที่มักจะปรากฏก็คือ นิวตันค้นพบแรงโน้มถ่วงจากการนั่งใต้ต้นแอปเปิ้ลที่ตกลงมา แต่ทว่าในความเป็นจริง นิวตันค้นพบเรื่องดังกล่าวเมื่ออยู่ในความสงบ และเกิดความรู้อย่างฉับพลันแบบ ญาณทัศนะ จากการกระตุ้นให้ฉุกคิด ด้วยลักษณะการหล่นของแอปเปิ้ล

ดังนั้น ไม่ว่าโลกตะวันออก หรือโลกตะวันตก ก็มีการศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับการรับรู้แบบฉับพลันมาอย่างเนิ่นนาน

ยิ่งในทางศาสนาแล้ว ยิ่งมีหนทางในการฝึกฝนการสร้างญาณทัศนะที่ว่าอย่างเป็นระบบ โดยทางพุทธศาสนาคือการทำสมาธินั่นเอง

การทำสมาธิก็คือการทำให้ใจสงบ สะอาด และใช้การ ตรึก กับ ตรอง เท่านั้น

ตรึก คือการระลึกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว อาทิ การนึกถึงลมหายใจ หรือสิ่งที่กำหนดเช่นคำบริกรรมต่างๆ

ส่วน ตรอง คือการประคองไว้ในสิ่งที่ตรึก หรือระลึกถึง หยุดเอาไว้อย่าให้จิตส่งออกไปสู่อารมณ์อื่น

ตรึก-ตรอง นั่นคือพื้นฐาน ที่จะก่อให้เกิดความรู้อย่างฉับพลันขึ้นมาได้ เมื่อมีการฝึกฝนจนเป็นความเคยชิน

เมื่อจิตแนบสนิทกับลมหายใจ ก็จะกลายเป็นจิตที่มีพลังมากขึ้น โดยแค่เฉพาะความสงบที่ได้ก็คุ้มค่าแล้ว ไม่ต้องนับผลอื่นที่ตามมา

ลมหายใจที่มีค่าเช่นนี้ น่าเสียดายนักถ้าทิ้งไปแบบเปล่าประโยชน์