posttoday

เสียงส่วนใหญ่

25 ธันวาคม 2561

ชีวิตผมผ่านบรรยากาศประชาธิปไตยและเผด็จการมากว่าครึ่งศตวรรษ สารภาพตรงนี้เลยว่า ณ เวลานี้ ที่ผ่านมากว่า 4 ปี

เรื่อง มือสายฟ้า

ชีวิตผมผ่านบรรยากาศประชาธิปไตยและเผด็จการมากว่าครึ่งศตวรรษ สารภาพตรงนี้เลยว่า ณ เวลานี้ ที่ผ่านมากว่า 4 ปีนั้นตอบยากมากๆ เลยว่าเราอยู่ภายใต้เผด็จการ หรือประชาธิปไตยกันแน่

หลังจากมีกำหนดเวลาเรื่องการเลือกตั้งเข้ามา บรรยากาศเดิมๆเริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งแล้วครับ แต่ช่วงนี้คนแปลกหน้าเหล่านี้กลับอยากจะรู้จักและฟังความเห็นของเรามากขึ้น

มักจะมีมาทุกครั้ง ที่จะมีการเลือกตั้งแล้วจะหายไปเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง มนุษย์แปลกหน้าที่เคยเข้ามาคุย ยกมือไหว้ทักทาย ถามสารทุกข์สุกดิบต่างๆ เมื่อเจอหน้ากันอีกครั้ง (หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง)เรากับเขาก็จะอยู่ในภาวะที่เคยผ่านมา คือไม่รู้จักกันเลย

ในขณะเดียวกัน กว่า 4 ปีที่ผ่านมาถ้าไม่คิดว่าความเป็นประชาธิปไตยต้องมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ผมกลับรู้สึกว่า ชีวิตความเป็นอยู่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีความสงบ ความมั่นคง ชีวิตปกติสุขดียิ่งกว่าที่อยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดหลังๆ ด้วยซ้ำไป

ทำให้ต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าระบอบประชาธิปไตยที่เราใช้อยู่มากว่า 70-80 ปี ตามหลักการประชาธิปไตย 1 คนต่อ 1 เสียง เป็นประชาธิปไตยที่ถูกต้องและเหมาะกับประเทศไทยจริงหรือ

จากข้อเท็จจริงในปัจจุบัน จากจำนวนประชากร 70 กว่าล้านคน ประเทศไทยมีผู้เสียภาษี “รายได้” อยู่เพียง 2 ล้านกว่าคน ภายใต้กฎกติกาที่กำหนดว่า 1 คนต่อ 1 เสียง หากเราเป็นนักเลือกตั้งที่ต้องการได้รับชัยชนะในประเทศนี้ เราควรจะไปหาเสียงกับใคร? กับคน 2 ล้านกว่าคนที่เสียภาษีรายได้ หรือจะไปหาเสียงกับคนอีก 60 กว่าล้านคนที่เหลือ เพื่อที่จะทำให้เราได้ชัยชนะ จนเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศนี้

เมื่อตรรกะเป็นเช่นนี้ มันจึงไม่แปลกที่หากพรรคการเมืองไหนอยากเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ก็ต้องมีนโยบายที่โดนใจประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจำนวน 60 กว่าล้านคน (ที่ไม่ได้เสียภาษี “รายได้”) 1 คนต่อ 1 เสียง เป็นหลักความเสมอภาคที่สูงส่ง และยากที่จะปฏิเสธ

เมื่อกฎกติกาทางการเมืองของบ้านเรากำหนดมาอย่างนี้ จึงไม่แปลกใจที่พรรคการเมืองทั้งหลายที่อยากได้รับชัยชนะเพื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ จึงต้องมีนโยบายที่จะสามารถชนะใจคนส่วนใหญ่ของประเทศ (ที่ไม่เสียภาษีรายได้)

ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่มาจากฝั่งไหนสีไหน หรือไม่เว้นแม้แต่พรรคการเมืองที่มาจากข้าราชการ การที่พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งนำนโยบายประชานิยมมาใช้ จนกระทั่งเกิดผลเสียหายกับประเทศชาติ เช่น นโยบายจำนำข้าว แทนที่พรรคการเมืองนั้นๆ จะแสดงความ
รับผิดชอบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไรและต้องแก้ไขอย่างไร พรรคการเมืองนั้นๆ กลับโยนภาระความรับผิดชอบไปให้ประชาชน

โดยกล่าวว่า หากมีการเลือกตั้งและตนชนะการเลือกตั้งกลับมาอีก ถือว่านโยบายประชานิยมที่ตนนำมาใช้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว (ไม่ว่าจะเกิดความเสียหายขนาดไหนก็ตาม)

อย่างนี้แล้ว หากการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้น ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาว่า พรรคการเมือง (ไม่ว่าพรรคไหนก็ตาม) ที่นำนโยบายประชานิยมมาใช้จนเกิดความเสียหายมากมายแก่ประเทศ ได้รับชัยชนะเลือกตั้งอีก จะถือว่าสิ่งที่พรรคการเมืองนั้นๆ เคยทำมา เป็นความถูกต้องทางการเมืองแล้วใช่หรือไม่

ความรับผิดชอบของพรรคการเมืองนั้นคืออะไร ชัยชนะที่พรรคการเมืองนั้นๆ ได้มา มาจากคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เสียภาษีรายได้ ภายใต้กฎกติกาประชาธิปไตยที่เราเป็นอยู่

เราจะบอกว่า “เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้อง” ได้หรือไม่?