posttoday

ยางพาราออนไลน์

16 ธันวาคม 2561

จังหวัดน้องใหม่อย่างบึงกาฬ ที่จัดตั้งมาได้ไม่ถึง 10 ปี

โดย สลาตัน

จังหวัดน้องใหม่อย่างบึงกาฬ ที่จัดตั้งมาได้ไม่ถึง 10 ปี เมื่อกลางสัปดาห์เรียกว่าคึกคักจริงๆ เพราะหัวเมืองชายโขงถูกตระเตรียมไว้รองรับแขกสำคัญระดับประเทศ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ สัมผัสชีวิตวัฒนธรรมและประเพณี และจัดให้มีการประชุม ครม.สัญจร

นอกเหนือจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วงคือเรื่องของสถานการณ์ “ยางพารา” ที่หลายฝ่ายกำลังทรงตัวขึ้นลงเอาแน่เอานอนกับราคาขายไม่ได้ เนื่องจากผลผลิตที่ทะลักออกมาจำนวนมาก ทำให้กลไกทางการตลาดเกิดความผกผัน หรือที่หลายคนเข้าใจกันในทฤษฎีที่ว่า อุปสงค์อุปทานไม่เข้ากัน ทำให้สวนยางหลายแห่งต้องประสบปัญหา กลายเป็นวาระร้อนที่รัฐบาลต้องเข้ามาพยุงอย่างเร่งด่วน เนื่องจากประเทศมีการปลูกยางพาราจำนวนมาก

ทว่า จ.บึงกาฬ ถือว่าเป็นจังหวัดที่มียางมากที่สุดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดน้องใหม่แบบนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 2.6 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าเขา อุทยานฯ แหล่งน้ำ และมีพื้นที่เกษตร 1.7 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 1.2 ล้านไร่ มีการขึ้นทะเบียนไว้ 905,498 ไร่ พื้นที่ปลูกข้าว 5 หมื่นกว่าไร่ และส่วนที่เหลือเป็นผลไม้อื่นๆ รวมถึงพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันอีก 5 หมื่นไร่

ตัวเลขแสดงสัดส่วนพื้นที่การปลูกยางพาราของชาวสวน สำทับเห็นว่าจำนวนการปลูกสูงกว่าพืชการเกษตรอื่นๆ ขณะที่จังหวัดอื่นการปลูกยางพาราไม่น้อยหน้าเช่นกัน โดยเฉพาะในภาคใต้บ้านเรา จะสังเกตเห็นชัดเจนว่าแทบทุกครัวเรือนที่ทำเกษตรมักปลูกยางพาราเป็นอาชีพหลัก เกษตรกรหลายคนจึงหวังเพียงรายได้จากยางพาราเท่านั้น โดยไม่ได้สนใจการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนเสริมเข้าไป เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคต ส่วนบางครัวเรือนอาจพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเช่นกัน ขึ้นอยู่กับการเตรียมพร้อมตั้งรับเช่นกัน

ตอนนี้อาจเกิดความหวังใหม่ในวงการยางพาราไทย วันก่อนอ่านเจอในข่าวเศรษฐกิจ ประเด็นสำคัญคือ บริษัท อาลีบาบา ได้มาหารือกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อขอจัดตั้งตลาดซื้อขายยางและส่งมอบจริงผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกับนโยบายของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้เกิดตลาดซื้อขายจริง โดยที่ไม่ต้องผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าและพ่อค้าคนกลางเพียงเท่านั้น

สาระสำคัญที่บริษัท อาลีบาบา ต้องการจะซื้อยางโดยให้ทาง กยท.เป็นผู้การันตีรับรองคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณยางที่ซื้อขายผ่านตลาดกลางและสหกรณ์การเกษตรประมาณ 2 แสนตัน/ปี ทำให้มีความน่าสนใจที่จะเข้ามาตั้งตลาดซื้อขายในไทย

โอกาสดีแบบนี้ กยท.ต้องคว้าไว้ ทั่วโลกรู้จักบริษัท อาลีบาบา ดีว่าคือยักษ์ใหญ่วงการซื้อขายสินค้าออนไลน์ รวบรวมสินค้าทุกอย่างไว้ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ รองรับความต้องการนักช็อปปิ้งทั่วโลก เมื่อโอกาสทองของยางพาราไทยจะถูกนำไปโชว์ขายในโลกออนไลน์ถือว่าน่าตื่นเต้น วัดคุณภาพ วัดการจัดการของ กยท.ที่จะต้องกำกับดูแลคุณภาพยางให้ดีที่สุด

เนื่องจากบริษัทชื่อดังระดับโลกมอบหมายให้ กยท.ดำเนินการจัดการเรื่องคุณภาพทุกด้าน พร้อมเป็นตัวกลางรวบรวมยางพาราทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นตรายางรับรองการันตียางพาราไทยว่าไม่ด้อยคุณภาพ น่าซื้อหา น่าใช้ เพราะไม่ใช่ประเทศไทยอย่างเดียวที่ผลิตยางพารา ยังมียักษ์ใหญ่ประเทศจีนที่มีการผลิตยางพารามากที่สุด

ส่วนการเติบโตของตลาดเป็นเรื่องของอนาคตที่ กยท.ต้องโชว์แผนการบริหารให้บริษัท อาลีบาบา และนักช็อปปิ้งในโลกออนไลน์เกิดความเชื่อมั่น อีกความท้าทายที่ต้องสร้างช่องทางการตลาดใหม่