posttoday

ลดก๊าซเรือนกระจก

12 ธันวาคม 2561

การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

เรื่อง สลาตัน

การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (United Nations Framework Convention on Climate Change) สมัยที่ 24 หรือ “COP24” ซึ่งมีสมาชิก 197 ประเทศเข้าร่วมประชุม ที่เมืองคาโตวิช สาธารณรัฐโปแลนด์ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.-14 ธ.ค.นี้

การจัดประชุมขึ้นครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “Changing Together” ที่สื่อความหมายถึง “การร่วมกันเปลี่ยนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยร่วมกันเปลี่ยนให้จริงจังและเข้มข้นกว่าเดิม”

บนเวทีประชุม “Cop 24” อันโตนิโอ กัวเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวถึงความร่วมมือทั่วโลกในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่างๆ ในปัจจุบัน ซึ่งพบว่าทั่วโลกยังไม่ให้ความสำคัญมากเท่าที่ควรและหากไม่ดำเนินการให้เร็วกว่านี้ อุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นจะทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย เกิดพายุรุนแรง ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในทะเล

สิ่งที่เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวบนเวทีสำคัญระดับโลกเช่นนี้คงไม่ใช่ข้อมูลเท็จ หรือเป็นเรื่องตลกโปกฮาที่นำมาแชร์กันทั่วไป แต่นั่นกำลังสะท้อนว่าโลกใบนี้ของเรากำลังจะเกิดหายนะขึ้นทุกที หากมนุษยชาติทั้งโลกยังคงนิ่งเฉยมีพฤติกรรมในกิจวัตรประจำวันไปในทางทำลายสิ่งแวดล้อม แม้หลายคนอาจมองเป็นเรื่องไกลตัวจนไม่รู้ว่าจะได้รับผลกระทบใดๆ แต่หากมีโอกาสได้รับสารข้อมูลการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือ ทุกวันนี้รวดเร็วกว่าอดีตอย่างมาก

โดยการประชุมครั้งนี้ ทุกประเทศมีเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน คือ การรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส (เทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม) ซึ่งหากต้องการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไว้ให้ได้ตามเป้าหมาย แต่ละประเทศต้องดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นมากขึ้นกว่าในปัจจุบันถึง 5 เท่า

ขณะเดียวกันการประชุมยังมีเป้าหมายที่จะจัดทำ Paris Rulebook (Katowice Rulebook) ซึ่งเป็นข้อกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับลดก๊าซเรือนกระจกตาม Paris Agreement เพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละประเทศใช้ปฏิบัติ โดยขอให้ประเทศสมาชิกมุ่งเป้าสู่การบรรลุปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ให้ได้ภายในปี 2050

ส่วนประเทศไทย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยพร้อมคณะเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย ในส่วนของประเทศไทยจะกล่าวถ้อยแถลงความก้าวหน้าการดำเนินงานของไทย โดยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการของภาคพลังงานในปี 2559 ลงได้ 45.72 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือร้อยละ 12 จาก 9 มาตรการ ซึ่งเป็นไปตามเจตจำนงลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 7-20 ภายในปี 2563 ถือว่าทำได้เกินเป้าจากแผนที่วางไว้

ในปี 2562 ประเทศไทยจะเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคคมนาคมขนส่งให้ได้ หลังจากภาครัฐสร้างโครงข่ายระบบสาธารณะเส้นทางรถไฟฟ้าทุกสายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดการใช้รถยนต์ในเขตเมืองและรถไฟทางคู่ไปยังต่างจังหวัด เพื่อลดการใช้รถบรรทุกเสร็จสมบูรณ์แล้วเชื่อมต่อกัน จะสามารถติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าก๊าซเรือนกระจกได้ เพราะประชาชนจะหันไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น จากนั้นในปี 2573 (ค.ศ. 2030) จะเพิ่มการลดก๊าซเรือนกระจกจากของเสียอันตรายและขยะพิษให้ได้

นั่นคือเป้าหมายสำคัญที่ประเทศไทยมุ่งหวังจะช่วยโลกลดก๊าซเรือนกระจกลดในภาคการคมนาคม ที่ปัจจุบันถือว่าเป็นความท้าทายความคิดและการปฏิบัติอย่างมาก แต่ก็ต้องทำเพื่อให้โลกใบนี้กลับมามีชีวิตชีวาเช่นเดิม หลังจากมาตรการภาคพลังงานของเราทำสำเร็จตามเป้าหมายที่ประกาศไว้กับนานาประเทศ