posttoday

กระแสเป็นรัฐบาล

07 ธันวาคม 2561

ทุกพรรคการเมืองต่างอวดอ้างเข้าข้างพรรคตัวเองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะสามารถกวาดคะแนนเสียงได้มากกว่าพรรคคู่แข่ง

เรื่อง...กัปตัน ป.

ทุกพรรคการเมืองต่างอวดอ้างเข้าข้างพรรคตัวเองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะสามารถกวาดคะแนนเสียงได้มากกว่าพรรคคู่แข่ง ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน และสิ่งหนึ่งที่ทุกพรรคการเมืองเห็นตรงกัน คือ มีความเชื่อกันว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นน่าจะเป็นรัฐบาลผสม จึงต่างลุ้นแบบทุ่มทุนเพื่อให้พรรคตัวเองเป็นพรรคแกนนำ แต่เงื่อนไขหรือปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจในการเลือกของประชาชนคร่าวๆ อาจมีด้วยกันดังนี้ ปัจจัยแรก คือ กระแสตัวผู้สมัคร เพราะวัฒนธรรมทางการเมืองไทยยังคงเป็นระบบอุปถัมภ์ค้ำชูและช่วยเหลือเกื้อกูลกันตั้งแต่ระดับเครือญาติไปจนถึงระดับท้องถิ่นชุมชนแบบดั่งเดิมยังมีอยู่

โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด การหาคะแนนนิยมในตัวผู้แทนยังคงใช้วิธีดั้งเดิม คือ เดินเคาะประตูบ้าน งานบวช งานแต่ง งานศพ งานบุญใครคิดจะเป็นผู้แทนก็ต้องไป กลยุทธ์การเมืองสร้างชื่อเสียงบนโลกโซเชียลมีเดีย อาจทำได้ดีในบางคนบางกลุ่ม เช่น คนรุ่นใหม่อาจชอบวิธีนี้ หรือกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองที่มีความรู้และศักยภาพในการเข้าถึงข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กหรือ อินสตาแกรม ด้วยสมาร์ทโฟน

ดังนั้นผู้แทนระบบเดิมที่มีลักษณะกึ่งๆ ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ไม่ว่าจะย้ายขั้วย้ายข้างไปอยู่พรรคไหนก็ไม่เคยสอบตก เพราะมีฐานเสียงเป็นที่มั่นในเขตนั้นชัดเจนเหนียวแน่นมั่นคง ผู้แทนลักษณะนี้บรรดาพรรคการเมืองขนาดใหญ่จึงต่างใช้พลังดูดไปร่วมงานการเมืองอันดับแรกๆ

ปัจจัยต่อมา คือ กระแสพรรค การเมืองในยุคหลังๆ กระแสพรรคออกไปในลักษณะต้องสร้างกระแสให้พรรคเป็นตัวแทนภูมิภาคนิยมกันมากขึ้น หรืออีกลักษณะ คือ สร้างให้พรรคการเมืองเป็นทางเลือกใหม่ ที่ฉีกไปจากการเมืองเดิมๆ เช่น บางพรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนว่าตัวเองเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ไฟแรง หรือบางพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเป็นทางเลือกใหม่ที่หลุดพ้นจากการแบ่งสองขั้วพรรคการเมืองใหญ่หรือแบ่งสีทางการเมือง

ดังนั้นความนิยมในตัวผู้แทน หรือ สส.ผ่านพรรคการเมืองภูมิภาคนิยม แบบส่งเสาไฟฟ้า หรือ โนเนม ลงก็ชนะเลือกตั้ง อย่างในพื้นที่ภาคใต้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งเป็นที่รับทราบกันดีว่าแต่ละภาคมีพรรคใดเป็นเจ้าถิ่น อาจสอบตกก็เป็นได้

นโยบายพรรคการเมือง ถือเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนเลือกหย่อนบัตรลงคะแนนให้ ยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้ใช้บัตรใบเดียวในการเลือกทั้ง ตัวผู้สมัคร และพรรคการเมือง ดังนั้นหากพรรคใดกระแสดี และตัวผู้แทนกระแสแรง ย่อมกำชัยชนะได้ง่ายขึ้นทั้งในระบบบัญชีรายชื่อ และ สส.เขต

อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนจะลงคะแนนให้ทั้งตัวผู้แทน พรรคการเมือง หรือนโยบายหาเสียงหรือไม่นั้น คือ ว่าที่นายกรัฐมนตรี ที่แต่ละพรรคจะเสนอให้ประชาชนได้รู้ก่อนวันเลือกตั้ง คือ ใคร ที่เป็นได้ทั้งแม่เหล็กดึงดูด หรือผลักไสคะแนนนิยมให้ต่ำลง

ธรรมเนียมเดิมๆ ที่เคยใช้ตำแหน่งหัวหน้าพรรค คือ ผู้ท้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในยุคสมัยนี้ไม่มีอีกแล้ว จึงทำให้บางพรรคการเมืองยังอุบไต๋ไม่ยอมเปิดตัว โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่หมายมั่นว่าตัวเองจะเป็นแกนนำฟอร์มทีมรัฐบาล จะรอจนวินาทีสุดท้าย หวังใช้เป็นไม้เด็ดช่วงโค้งสุดท้าย ตีตื้นและสร้างกระแสคะแนนนิยมในตัวพรรค ผู้สมัคร และ นโยบายหาเสียง สุดท้าย คือ อุดมการณ์เรื่องสีเสื้อทางการเมืองยังอยู่ในความเชื่อที่ถูกนักการเมืองบ่มเพาะมาตลอดกว่าสิบปีมานี้

ดังนั้นผลการเลือกตั้งรอบนี้แค่พิสูจน์ว่าประชาชนอยากให้การเมืองไทยเป็นอย่างไรประชาชนก็เลือกนักการเมืองเช่นนั้น