posttoday

ฟุตวิบาก

06 ธันวาคม 2561

เหตุการณ์จักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้าจนชนเข้ากับเด็กนักเรียนหญิงรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บ

เรื่อง...มะกะโรนี

เหตุการณ์จักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้าจนชนเข้ากับเด็กนักเรียนหญิงรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บ จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาในโลกโซเชียล วันต่อมาก็ยังมีรายงานว่ามีผู้ฝ่าฝืนวิ่งบนทางเท้าในบริเวณเกิดเหตุ รวมถึงจุดอื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง จนต้องมีการประกาศเพิ่มโทษปรับสำหรับผู้กระทำความผิดจากเดิม 500 บาท เป็น 1,000 บาท แต่ใครจะรู้ว่ามาตรการนี้จะอยู่ในความสนใจของเจ้าหน้าที่และอยู่ในสำนึกของผู้ขับขี่ได้สักกี่วัน

เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าเรื่องนี้มักจะกลายเป็นปัญหาการ์ตูนแมวจับหนู คือเรื่องเงียบก็กลับมาใหม่ อาจจะเป็นเพราะบาทวิถีหรือฟุตปาทนั้นไม่เคยเป็นที่ถูกกำหนดบทบาทให้ชัดเจนเลย สารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นบนทางเท้าไม่เคยหายไปจริงๆ เป็นเพราะสิ่งประดิษฐ์นี้ถูกละเลยเรื่องการใช้งานที่ชัดเจนหรือกระทั่งกลายเป็นพื้นที่ถูกมองว่าจะถูกดัดแปลงเป็นอะไรก็ได้ ที่ไม่ได้ใช้เดินเท้าหรือใช้สำหรับการสัญจรจริงๆ

ผมออกจะแน่ใจว่ามีฟุตปาทหลายจุดนั้นใช้เดินเท้าจริงไม่ได้ มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ประเภทเดินอยู่ดีๆ ก็มีทางลงสะพานกั้น เหลือช่องทางผ่านทั้งด้านซ้ายหรือขวาแค่พอเบียดตัวผ่านไปได้

ใครที่เคยผ่านตาฟุตปาทหน้าไปรษณีย์คลองจั่นก็คงเห็นภาพวิบากกรรมรูปแบบที่กล่าวมาอย่างชัดเจน ทางเดินอันแสนแปลกประหลาด อะเมซิ่ง แบงค็อก นี้ถูกหั่นหายไปโดยสันนิษฐานว่าเสียสละตัวเองไปเป็นถนน จนจะไม่เหลือพื้นที่ให้เดิน และหากบากหน้าเดินไปสักพัก ท่านก็จะได้คำตอบที่ทำให้แน่ใจว่านี่ไม่ใช่ทางเดิน แต่เป็นพื้นที่ไว้ปักเสาไฟฟ้า

น่าเหลือเชื่อนะครับ ที่จู่ๆ ทางเดินที่แคบจนเดินสวนทางกันไม่ได้อยู่แล้ว ก็ยังมีเสาไฟฟ้าปักปิดทางเสียอีก จะผ่านไปได้ก็เลี่ยงลงไปเดินบนถนน แน่นอนสิ่งที่เห็นเป็นเหตุผลที่ชัดเจนอย่างยิ่ง ที่จะให้ทำให้เชื่อทันทีว่า บาทวิถีบริเวณนี้ไม่เคยเป็ถูกกำหนดบทบาทให้ใช้เดินเท้าได้จริงเลย ตัวอย่างดังกล่าวย่อมไม่ใช่และไม่ควรจะเป็นเรื่องปกติของทางเท้าในกรุงเทพฯ แต่เรื่องในทำนองเดียวกันหรืออาจจะแย่กว่านี้ ก็กลายเป็นเรื่องที่แสนปกติสำหรับทางเท้าไปแล้ว

แต่ไหนแต่ไรมาบาทวิถีมักจะถูกตั้งข้อสังเกตว่าถูกสร้างขึ้นโดยไม่ได้ใส่ใจว่ามันจะใช้งานได้ตามจุดประสงค์หรือไม่ หรือกระทั่งสงสัยว่ามีหลักการ มาตรฐานในการสร้างหรือไม่ เพราะสิ่งที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็คือ มีการก่อสร้างที่ไม่เคยหยุดนิ่ง สร้างปีเว้นปี หรือสั้นกว่านั้น ริมถนนที่มีรถพลุกพล่าน แลดูเหมือนใหม่อยู่ได้ไม่กี่เดือนก็พัง

หน่วยงานของกรุงเทพฯ เคยออกมาชี้แจงว่าพื้นทางเดินพังง่ายเพราะสภาพดินของเมืองกรุงเป็นดินเหนียวอ่อน ทรุดตัวง่ายกว่า เวลาซ่อมแซม ขุดเจาะพื้นถนนแล้วมักจะซ่อมคืนให้แบบไม่สมบูรณ์ ก็ยากที่จะควบคุม

หลุมบ่อใต้แผ่นคอนกรีตที่ปูทางเท้าเป็นแหล่งสะสมน้ำเน่าสกปรก ใครเผลอเหยียบย่ำเข้าก็มีอันต้องปิดฉากวันอันแสนสวยงามไปได้ในทันที แผ่นซีเมนต์ปูพื้นที่กลายเป็นกับดัก คอยปล่อยน้ำกระเด็นขึ้นมานี้ เป็นที่เลื่องลือ จนได้ชื่อเรียกจากโลกโซเชียลว่า “อิฐปรี๊ด” อิฐชนิดนี้พ่นพิษจนเป็นข่าวดังที่สร้างความอับอายให้กับประเทศไทยอยู่เนืองๆ แต่ก็ไม่เคยมีหน่วยงานที่เก่งกาจด้านการออกแบบ ด้านนวัตกรรม หน่วยงานใดออกมาแสดงศักยภาพลบความน่าอับอายนี้เลย

จะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ทางเดินเท้าในฝันก็ยากที่จะเกิดขึ้นจริง จนคนเดินเท้าเองที่ต้องเป็นฝ่ายเปลี่ยนคิดเสียใหม่ว่ากำลังย่ำอยู่บนเส้นทางผจญภัยที่ต้องตั้งสติในการเดินผ่านไป-มาอยู่อย่างสม่ำเสมอ ยังไม่ถูกจักรยานยนต์เฉี่ยวชนในวันนี้ ก็อย่าได้ย่ามใจว่าจะรอดไปได้ตลอดกาล จำไว้เสมอว่าโชคไม่ได้เข้าข้างเราทุกวัน