posttoday

ตัวแปร-แปรปรวน

03 ธันวาคม 2561

ฝุ่นการเมืองเริ่มสงบหลังพ้นเส้นตายเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา

เรื่อง...ทองพระราม

ฝุ่นการเมืองเริ่มสงบหลังพ้นเส้นตายเมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นวันสุดท้ายที่นักการเมืองซึ่งประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งในพรรคนั้นต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อให้ให้ครบ 90 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ก่อนลงสู้สนามเลือกตั้งจริงในวันที่ 24 ก.พ. 2562 ตามโรดแมปรัฐบาลที่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้านี้

เมื่อส่องความพีกของแต่ละพรรคการเมือง จะเห็นมีบรรดาอดีต สส. อดีตรัฐมนตรีจากหลายค่ายสำนักน้อยใหญ่ โรเทตตัวเองเข้าหาพรรคการเมืองที่มั่นใจว่าจะพาไปสู่จุดหมาย

พรรคการเมืองซึ่งครองแชมป์ได้รับความนิยมเห็นทีจะหนีไม่พ้น “พลังประชารัฐ” ซึ่งสามารถดึงดูดบรรดาอดีตนักการเมืองเข้ามาร่วมงานได้อย่างท่วมท้น

สวนทางกับ “เพื่อไทย” ที่คราวนี้ดูค่อนข้างจะหนักหนาเอาการ เพราะเลือดที่ไหลส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สำคัญในทางการเมืองเกือบแทบทั้งสิ้น ยิ่งเฉพาะภาคอีสานซึ่งถือเป็นหัวใจหลักสำคัญ

ขณะที่ “ประชาธิปัตย์” เองศึกเลือกตั้งครานี้ใช่ว่าน้อยหน้า เนื่องด้วยมวลมิตรหมู่สหายหลายพื้นที่เองก็กระจัดกระจายตัวไปร่วมกับพลังประชารัฐ

รวมถึงหัวเรี่ยวหัวแรงอย่าง “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองนายกฯ และขุนพลกำลังหลักยุค ศอฉ. ก็แตกตัวไปตั้ง “รวมพลังประชาชาติไทย” พร้อมยกพี่น้องตระกูลเทือกสุบรรณไปร่วมงาน

การเมืองหลังจากนี้เริ่มเห็นทิศทางชัดเจน แม้จะมีพรรคเกิดใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป แต่หน้าตาผู้ร่วมลงสนามแม้จะไม่มาด้วยตัวเอง แต่ก็อยู่ภายในบริบท “ผู้ปิดทองหลังพระ”

แต่อีกหนึ่งพรรคที่ค่อนข้างน่าจับตาเป็นพิเศษและถ้าไม่พูดถึง “ภูมิใจไทย” ภายใต้การนำของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เวลานี้คงไม่ได้เสียแล้ว

แม้จะเสียอดีต สส. และอดีตรัฐมนตรีไม่น้อยไปกว่าหลายพรรค ทว่ายังถือว่าโชคดีตรงยังพอมีตัวเลือกให้เข้ามาได้คัดสรร ค้นคว้า จนถูกจับจ้องเป็นคลื่นตัวแปร

จากพลานุภาพของรัฐธรรมนูญส่งผลให้เห็นการแตกตัวพรรคการเมืองและเกิดขั้วอย่างมากมาย หรือเรียกว่าพรรคอะไหล่สำรอง รอวันรวมตัวกลับฟื้นคืนชีพ

เห็นทีคงไม่ผิดไปจากที่ประเมินไว้มากนักว่าการเมืองต่อไปนี้คงเห็นแนวทางย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลาปี 2552-2553 ในการรวบรวมพลพรรคมาซุกไว้ในอ้อมกอด

กลับมารวมตัวในการจัดตั้งรัฐบาล ก่อนตัดสินใจช่วงโค้งสุดท้ายในเวทีสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกนายกฯ โดยมี 250 สว. เป็น “สแปร์” การเมืองรอบนี้

ก่อนไปถึงจุดนั้นยังคงต้องรอความชัดเจนจาก คสช. ที่เรียกประชุมพรรคการเมืองในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ ว่าจะมีบทสรุปต่อทิศทางการเมืองไปเป็นเช่นไร หรือเปลี่ยนแปลงไปจากนี้

ทั้งหมดจึงเป็นประเด็นให้ต้องติดตามโดยเฉพาะหลังจากการหารืออันใกล้เข้ามาถึงนี้ เพราะมันจะเป็นสรุปในภาพรวมการเมืองไทย ว่าจะเดินหน้าหรือก้าวไปข้างหลังอย่างเก่าก่อน

เพราะด้วยแต่ละพรรคการเมืองก็ต่างมีจุดเด่น จุดต่าง และฐานนิยมชมชอบของตัวเอง เพียงแค่รอวันปลดล็อก ก่อนเดินนโยบายเต็มสูบเรียกคะแนนกวาดที่นั่ง สส.ในสภา