posttoday

ขี้หมูกับธุรกิจเพื่อสังคม

29 พฤศจิกายน 2561

วันนี้ มีเรื่องดีๆ อยากมาเล่า เป็นการเปลี่ยน อธรรมให้เป็นธรรมะ

เรื่อง...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

วันนี้ มีเรื่องดีๆ อยากมาเล่า เป็นการเปลี่ยน อธรรมให้เป็นธรรมะ

ผู้ที่ตั้งชื่อดังกล่าว คือ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ตั้งชื่อตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยเป็นการทำให้ของเสียเน่าเหม็น กลายเป็นของดีมีคุณค่า

เมื่อ 5 ปีก่อน นักศึกษาสถาบันวิทยาการพลังงาน วพน.รุ่นที่ 3 กลุ่มอาทิตย์ นำโดย ดร.สุเมธ ไปทำโครงการพลังงานชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ที่ ต.ท่ามะนาว อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี

ประเด็นสำคัญเกิดจากชาวบ้านไม่พอใจฟาร์มเลี้ยงหมูในพื้นที่ ที่ส่งกลิ่นเหม็นจากมูลสัตว์และปล่อยน้ำเสียออกมา

นอกจากนั้น ก๊าซมีเทนที่ระเหยจากการหมักหมม ยังมีผลต่อภาวะโลกร้อนรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกหลายเท่า

บังเอิญที่นักศึกษากลุ่มอาทิตย์ มี เทวินทร์ วงศ์วานิช ซีอีโอ ปตท.ร่วมอยู่ด้วย จึงได้รับการสนับสนุนจาก ปตท. ทำโครงการนำร่อง ท่ามะนาวพอเพียง เพื่อพลังงานที่ยั่งยืน กับผู้นำชุมชน แปรสภาพขี้หมูให้เป็นก๊าซ

ระยะแรกจัดเวทีทำความเข้าใจร่วมกับชุมชน และชักชวนเจ้าของฟาร์มสุกรในพื้นที่ให้มาออกแบบการดำเนินการร่วมกัน

จากนั้นนำไปสู่การคัดเลือกฟาร์มสุกร 4 แห่ง เข้ามาร่วมโครงการติดตั้งระบบผลิต และวางท่อส่งก๊าซมีเทนชีวภาพจากฟาร์มเลี้ยงหมู 1 บ่อ ไปยัง 9 ครัวเรือน เพื่อใช้หุงหาอาหารแทนก๊าซหุงต้ม

บ่อก๊าซแห่งแรกมีขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร ใช้วัตถุดิบเป็นน้ำล้างคอกสุกร มีศักยภาพเกิดก๊าซได้ประมาณ 40 ลูกบาศก์เมตร/วัน เทียบเท่าก๊าซหุงต้ม 20 กิโลกรัม

เมื่อทดลองจ่ายก๊าซให้แก่ครัวเรือนนำร่อง ในรัศมี 300 เมตรจากฟาร์มได้ใช้แล้ว ก็มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ก.ย. 2556

ถัดมาโครงการเข้าสู่การขยายผลระยะที่ 2 จัดสร้างและปรับปรุงบ่อก๊าซขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 4 บ่อ ให้มีศักยภาพผลิตก๊าซชีวภาพรวมได้ 200 ลูกบาศก์เมตร จ่ายก๊าซให้ครัวเรือน 150 หลังคาเรือน ในหมู่ที่ 2 ได้ใช้

ล่าสุดโครงการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกระทรวงพลังงาน สถาบันนวัตกรรมแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปรับก๊าซจากฟาร์ม 12 ผลิตก๊าซได้พอเพียงกับความต้องการ 516 ครัวเรือน ใน 8 หมู่บ้านของ ต.ท่ามะนาว

ที่สำคัญยังได้พัฒนาองค์ความรู้ บริหารจัดการโดย อบต.ในลักษณะ ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ชุมชนเป็นเจ้าของดำเนินการเอง และได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างคุ้มค่าการลงทุน

ชุมชนท่ามะนาวสามารถประหยัดค่าก๊าซหุงต้มได้ปีละ 8 แสนบาท ได้คาร์บอน เครดิต 5,500 ตัน/ปี โดยมีบริษัทจากเยอรมนีมาติดต่อขอซื้อในมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท

เดิมเคยมีปัญหาชาวบ้านกับฟาร์มหมู แต่ในปัจจุบันชาวบ้านรักฟาร์มหมู ถึงขั้นที่ต้องทำบันทึกความเข้าใจให้เลี้ยงหมูอยู่ด้วยกันนานๆ

ขี้หมูที่เคยบ่นว่าเหม็น ถ้าวันไหนไม่ได้กลิ่น ชาวบ้านก็ไม่สบายใจ ขนาดสอบถามว่าหมูป่วยหรือเปล่า

กลายเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ที่ธุรกิจเพื่อสังคมเกิดมาจากขี้หมูเหม็นๆ