posttoday

ศูนย์พักพิงสุนัข

27 พฤศจิกายน 2561

ปัญหาสุนัขจรจัด ไม่ว่าจะเกิดจากสุนัขหรือคน จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

เรื่อง...แสงตะเกียง 

ปัญหาสุนัขจรจัด ไม่ว่าจะเกิดจากสุนัขหรือคน จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากเมื่อเกิดข่าวสุนัขจรจัดกัดประชาชนในแต่ละครั้ง ได้สร้างความหวาดกลัวขยายออกไปเป็นวงกว้าง แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐอย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะรณรงค์ให้ความรู้ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมทั้งออกหน่วยทำหมันสุนัขจรจัดเพื่อตัดวงจรไม่ให้มีการขยายพันธุ์ ทว่ายังมีประชาชนบางส่วนนำสุนัขมาปล่อยในที่สาธารณะไม่จบสิ้น

โดยจากสถิติเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2560-ต.ค. 2561 รวมทั้งสิ้น 5,906 เรื่อง แบ่งเป็น โทรศัพท์ร้องเรียน 3,353 เรื่อง สายด่วน กทม. 1,906 เรื่อง และจากหน่วยงานต่างๆ 647 เรื่อง และพบว่าปีงบประมาณ 2561 มีสถิติสูงกว่าทุกปี นับจากปี 2555 เป็นต้นมา

แนวทางแก้ปัญหาที่มีขึ้น ทาง กทม.สั่งกำชับ 50 สำนักงานเขต และหน่วยงานเกี่ยวข้อง จัดทำแผนบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด พร้อมทั้งสำรวจจำนวนสุนัขจรจัดในแต่ละพื้นที่ หากพบว่าไม่มีเจ้าของ ไม่มีคนรับดูแล เป็นสุนัขพลัดหลงตามหาเจ้าของไม่ได้ หรือสุนัขที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่น ให้จับไปบำบัดพักฟื้นที่ศูนย์ควบคุมสุนัขจรจัดประเวศ เพื่อคัดกรองโรค ฉีดวัคซีน ทำหมัน ให้เรียบร้อย

จากนั้นขนย้ายไปที่ศูนย์พักพิงสุนัขกรุงเทพมหานคร อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี ซึ่งรองรับได้ประมาณ 8,000 ตัว อีกทั้งให้จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ 50 เขต เพื่อให้มีเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานช่วยเหลือจับสุนัขจรจัดอย่างเพียงพอและเข้าถึงพื้นที่ได้เร็วขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะและความชำนาญมีจำนวนน้อย ทำให้ประชาชนที่ร้องขอเข้ามาต้องรอคิวนาน

เรื่องนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ยืนยัน ไม่ได้จับสุนัขไปฆ่า แต่นำไปดูแล ให้บ้าน ให้ที่พักพิง และยังเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้สุนัขถูกทารุณกรรมจากคนที่ไม่รักสุนัข ทุกขั้นตอนการปฏิบัติไม่มีการทำร้ายสุนัขโดยเด็ดขาด แต่ภาพขณะจับอาจจะสะเทือนใจคนรักสัตว์อยู่บ้าง

ส่วนสุนัขที่ไม่ดุร้าย ฉลาด ฝึกได้ อาจนำไปฝึกให้มีระเบียบวินัย เพื่อรอเจ้าของใหม่ที่พร้อมรับไปดูแลต่อ สำหรับคนที่เลี้ยงสุนัขหากวันหนึ่งที่ไม่รักพวกเขาแล้ว หรือมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจเลี้ยงดูพวกเขาได้ อย่าเอาไปปล่อยตามข้างทางให้โดนรุมรังแก หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น ให้ส่งมาให้ กทม.ดูแล เพื่อที่พวกเขาจะได้มีบ้าน มีที่พักพิงที่ปลอดภัยจนสิ้นอายุขัย

ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุด คือ การปรับปรุงศูนย์พักพิงสุนัขเขตประเวศให้ต้นแบบศูนย์พักพิงสัตว์ โดยจัดสร้างคลินิกสัตวแพทย์ รวมถึงจัดโครงการหลากหลาย เช่น โครงการหาบ้านให้สุนัขและฝึกสุนัข ให้กลายเป็นศูนย์พักพิงอย่างครบวงจร

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินการเพื่อควบคุมสุนัขจรจัดและโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560-30 ก.ย. 2561 ทาง กทม.ได้ฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า 2.9 แสนตัว ผ่าตัดสุนัขทำหมันและแมว 2.6 หมื่นตัว จับสุนัขจรจัดตามร้องเรียน 6,092 ตัว เลี้ยงดูสุนัขจรจัด 5,320 ตัว โดยนำไปพักพิงที่ศูนย์ควบคุมสุนัขประเวศ 431 ตัว และส่งไปยังศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี 4,871 ตัว พร้อมทั้งฉีดไมโครชิปสุนัข 3,510 ตัว

ปัจจุบันมีสุนัขที่ได้รับการจดทะเบียนมีเจ้าของรวม 1 แสนตัว โดยพบประชาชนนำสุนัขไปจดทะเบียนที่คลินิกสัตว์แพทย์เอกชนถึง 1.2 หมื่นตัว

กระนั้นนอกเหนือจากจิตสำนึกของประชาชนแล้ว ควรจัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ คณะสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ และชมรมคนรักสัตว์ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นไปพร้อมกับร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้เห็นผลจริงอย่างยั่งยืน