posttoday

รถไฟไทยในอนาคต

14 พฤศจิกายน 2561

กว่า 120 ปี ระบบคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศไทยก่อกำเนิดขึ้นมา เรียกว่าเป็นระบบพื้นฐานคมนาคมขนส่งสาธารณะทางรางที่มีประวัติศาสตร์น่าสนใจหลายด้าน

เรื่อง...สลาตัน

กว่า 120 ปี ระบบคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศไทยก่อกำเนิดขึ้นมา เรียกว่าเป็นระบบพื้นฐานคมนาคมขนส่งสาธารณะทางรางที่มีประวัติศาสตร์น่าสนใจหลายด้าน ที่สำคัญยังมีอิทธิพลต่อชีวิตคนไทยมานานเช่นกัน อิทธิพลที่ว่านั้นคือความจำเป็นที่ต้องใช้ระบบรางในการสัญจรไปมาหาสู่และทำงานเลี้ยงชีพ รถไฟไทยสร้างความสุขให้กับคนไทยมาไม่น้อย ถ้าไม่เชื่อลองไปถามรุ่นปู่ย่าตายายของเราดู ส่วนใหญ่ท่านเคยนั่งรถไฟกันหมดแน่นอน

อดีตนอกเหนือจากการสัญจรทางน้ำที่พายเรือกัน ระบบรางถือว่าได้รับการตอบรับในทางบริการอย่างเนืองแน่นจวบจนปัจจุบันนี้เช่นเดียวกัน หากจะเรียกว่า “โตมาก็เห็นรถไฟไทย” วิ่งบริการกดแตรปู๊นๆ คงไม่ผิด แม้อายุกำเนิดรถไฟจะนานนับร้อยปีเช่นเดียวกับตัวรถไฟเองถือว่าใช้งานมานานเช่นกัน บางขบวนปรับปรุงจนเครื่องยนต์ฟิตสตาร์ทติดง่าย ออกมาบริการประชาชนได้ปกติ แถมยังส่งถึงหมุดหมายทุกคนเรื่อยมา

แม้แต่การพัฒนาดูแลในส่วนของรางเหล็กที่ถูกล้อเหล็กขนาดใหญ่ของรถไฟ วิ่งบดขยี้กับรางเหล็กไปตามเส้นทางตรงหลายร้อยกิโลเมตรจนสึกหรอ ยังคงถูกซ่อมแซมดูแลเพื่อป้องกันอุบัติเหตุรถไฟตกรางและรักษาชีวิตผู้โดยสาร

วันนี้ต้องยอมรับว่าระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยกำลังพัฒนาอย่างหนัก มีจุดต่อขยายหลายเส้นทางกำลังก่อสร้างตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ เป้าหมายต้องการตอบโจทย์บริการทุกคนให้ทั่วถึง ตามแปลนผังเมืองที่เปลี่ยนไปจากอดีต

วันก่อนเห็นการรถไฟแห่งประเทศไทยออกมาเปิดเผยตัวเลขการก่อสร้างรถไฟในปัจจุบัน นับตั้งแต่มีการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทยปี 2558-2561 ตลอดช่วงระยะเวลา 4 ปี การรถไฟฯ สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ได้ตามแผนที่ยุทธศาสตร์กำหนดไว้ถึง 7 โครงการ คิดเป็นวงเงินลงทุนรวมกว่า 213,100.41 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 24,722.28 ล้านบาท ระยะทาง 148 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี

2.โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 85,345 ล้านบาท ระยะทาง 323 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี

3.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น วงเงิน 26,007.20 ล้านบาท ระยะทาง 187 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี

4.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 29,449.31 ล้านบาท ระยะทาง 132 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี

5.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร วงเงิน 17,290.63 ล้านบาท ระยะทาง 165 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี

6.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน วงเงิน 20,046.41 ล้านบาท ระยะทาง 169 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี

7.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน10,239.98 ล้านบาท ระยะทาง 84 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี

อนาคตโครงการรถไฟทางคู่จะถือเป็นหัวใจของการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศ โดยเมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จตามแผนจะช่วยเพิ่มความเร็วของขบวนรถขนส่งสินค้าจาก 35-40 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 70 กิโลเมตร และรถไฟขบวนขนส่งผู้โดยสาร เพิ่มความเร็วจาก 50-60 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 120 กิโลเมตร นั่นจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในอนาคตมากโข