posttoday

ถอดชนวนกม.ไซเบอร์

01 พฤศจิกายน 2561

กฎหมายไซเบอร์ หรือร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ถูกถอดชนวนปัญหาออกแล้ว หลังจากมีการคัดค้าน จนนำไปสู่การประชุมร่วมขององค์กรที่เกี่ยวข้อง

โดย...ณ กาฬ เลาหะวิไลย

กฎหมายไซเบอร์ หรือร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ถูกถอดชนวนปัญหาออกแล้ว หลังจากมีการคัดค้าน จนนำไปสู่การประชุมร่วมขององค์กรที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นที่แก้ไข ก็คือ ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) เป็นหน่วยงานพิเศษ คล้าย ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร และดึงผู้มีความสามารถเข้ามาทำงาน

สำนักงาน กปช.จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ กปช. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

อำนาจในการทำงานแบ่งภัยคุกคามเป็น 3 ระดับ

ระดับที่ 1 มีความผิดปกติอย่างมีนัยสำคัญ เลขาธิการ กปช.สามารถสั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเข้าสถานที่ใด ยึด ค้น โดยต้องขออำนาจจากศาลก่อน

ระดับที่ 2 ร้ายแรง ให้เลขาธิการ กปช. รายงานต่อคณะกรรมการ กปช. หรือหากเป็นกรณีเร่งด่วนให้มีประธาน กปช.และกรรมการอื่นอย่างน้อย 2-3 คน

เมื่อคณะ กปช.ฉุกเฉินเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นภัยร้ายแรง ก็จะให้อำนาจเลขาธิการ กปช. ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดได้

อาทิ การเข้าไปในเคหสถาน ยึดเครื่องกลต่างๆ แต่หลังจากนั้นต้องรายงานให้ศาลทราบภายหลังภายในเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง

ระดับที่ 3 กรณีวิกฤต เป็นภัยร้ายแรงอย่างยิ่งยวด เมื่อเลขาธิการ รายงานต่อคณะกรรมการ กปช. และคณะกรรมการเห็นว่า เป็นภัยขั้นวิกฤต ก็จะมอบหมายให้หน่วยงานรัฐด้านความมั่นคงที่มีอำนาจตามกฎหมายต่างๆ ดำเนินการได้ทันที เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือกองทัพ

ประเด็นสำคัญอีก ก็คือ กรอบของภัยไซเบอร์ ให้ระบุอย่างชัดเจนว่าหมายถึงภัยที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) เป็นสำคัญ ไม่ใช่ภัยไซเบอร์ที่เกิดกับประชาชนทั่วไป และไม่รวมถึงเนื้อหาข้อความ

ในแง่บทลงโทษยังจะมีการกำหนดว่า หากมีการกระทำผิด แต่ทว่าเป็นเหตุอันควรที่ต้องดำเนินการ ก็ให้ถือว่าไม่ได้ทำผิดตามกฎหมาย

ขณะเดียวกัน การจัดตั้งสำนักงาน กปช. จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้ง ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 โดยไม่ต้องมีหน่วยงานใดมารักษาการ

คณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้ง มีหน้าที่ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดตั้งสำนักงาน เช่น สำนักงบประมาณ กรอบอัตรากับ ก.พ.และ ก.พ.ร. กรอบเงินเดือน กับกระทรวงการคลัง การหาอาคารสถานที่ ระเบียบภายใน คู่มือการปฏิบัติ ขั้นตอนการปฏิบัติงาน

นอกจากนั้น ยังรวมถึงการรับสมัครบุคลากร การทาบโอน หรือขอตัวช่วยราชการ จากหน่วยงานอื่นๆ ฯลฯ เพื่อให้สำนักงานพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ

ท้้งหมดเป็นการแก้ไขเพื่อยุติความขัดแย้งร่างกฎหมายไซเบอร์ที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ปิดฉาก ถอนชนวนกฎหมายติดหนวดเสียที