posttoday

ความเป็นธรรม

26 ตุลาคม 2561

ความเป็นธรรมทางสังคมกับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ดูเหมือนจะไปด้วยกันไม่ได้

โดย...กัปตัน ป. 

ความเป็นธรรมทางสังคมกับความเป็นธรรมทางกฎหมาย ดูเหมือนจะไปด้วยกันไม่ได้ เมื่อเห็นข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง เรื่องของเรื่องที่น่าชวนคิดและวิพากษ์วิจารณ์ คือ สหกรณ์จังหวัดปราจีนบุรีมีคำสั่งยุบสหกรณ์ “หมู่บ้านมั่นคงแรงงานสังคมเพื่อน” เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา เพียงเพราะชาวบ้านไม่สามารถส่งสำเนางบดุลและรายงานประจำปีติดต่อกันเกิน 3 ปี

“หมู่บ้านมั่นคงแรงงานสังคมเพื่อน” เป็นชุมชนใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างจากหมู่บ้านมั่นคงอื่นๆ ทั่วไป กล่าวคือ มีเศรษฐกิจภาคการเกษตรในชุมชนเพื่อเป็นฐานความมั่นคงทางอาหารมาลดรายจ่ายให้แก่ครอบครัว และการประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงยังมีเศรษฐกิจภาคบริการในชุมชนที่บริการทางการเงินผ่านระบบสหกรณ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ล้วนเป็นผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อย ในนิคมอุตสาหกรรม 304 จ.ปราจีนบุรี

แน่นอนว่าการไม่ส่งงบดุลและรายงานประจำปี ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย เพราะเป็นหน้าที่ของสหกรณ์ทุกแห่งต้องทำรายงานการดำเนินการทางการเงินว่าตลอดทั้งปีมีรายรับรายจ่ายเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ หากไม่รายงานแสดงว่าอาจมีพิรุธหรือทุจริตอะไรหรือไม่ แต่อย่าลืมว่าสหกรณ์จังหวัด หรือทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ หรือกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มิได้เป็นเจ้าหนี้สหกรณ์ทุกแห่งทั่วประเทศ ดังเช่นกรณีนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ต่างหาก คือเจ้าหนี้ เหมือนกับบ้านมั่นคงแรงงานทั่วประเทศ หรือการเคหะแห่งชาติ ที่เป็นเจ้าหนี้บ้านเอื้ออาทร เป็นต้น

สหกรณ์แห่งนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการส่งค่างวดให้กับเจ้าหนี้ให้ครบทุกงวดเท่านั้นเอง แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของสหกรณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ คือ การทุจริต ดังเช่นกรณีสหกรณ์เคดิตยูเนี่ยนที่ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ผิดฐานฟอกเงิน หรือกรรมการสหกรณ์บางคนใช้อำนาจเบิกเงินไปใช้โดยที่สมาชิกไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ดังเช่นกรณีสหกรณ์แห่งหนึ่ง กรรมการรวมหัวกันเชิดเงินไป 7 แสนบาท ตอนนี้ยังตามจับไม่ได้ หรือกรรมการสหกรณ์บางแห่งใช้อำนาจสวมสิทธิซื้อบ้านหลายหลังเพื่อนำมาปล่อยเช่าหาเงินเข้ากระเป๋า ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยๆ

ดังนั้น ปัญหาใหญ่ของสหกรณ์ในปัจจุบันอาจแบ่งได้ 2 เรื่องเท่านั้น คือ ปัญหาการทุจริต กับปัญหาคุณภาพความรู้ความสามารถของสมาชิกสหกรณ์ ดังเช่นกรณีนี้ “สหกรณ์หมู่บ้านมั่นคงแรงงานสังคมเพื่อน” ทำกิจกรรมทางการเงินเพียงปล่อยสินเชื่อกู้บ้าน มิได้ทำกิจกรรมออมทรัพย์ จะหารายได้จากดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียม ดังนั้นจึงไม่มีรายได้เข้าสหกรณ์ และปัญหาใหญ่ไปกว่านั้น คือ ผู้ใช้แรงงานในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย แน่นอนคงไม่มีสมาชิกคนใดจะยอมควักเงินตัวเอง ดังนั้นการทำงานต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการทำงบดุล หรือทำบัญชี ต้องจ้าง เพราะทั้งกรรมการหรือสมาชิกไม่ได้มีความรู้ความสามารถวิชาชีพด้านนี้ จึงไม่อาจทำงบดุลได้ทันตามที่กฎหมายกำหนด

และไม่ใช่ความผิดของกรมส่งเสริมสหกรณ์ หรือกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในการทำหน้าที่โดยยึดกฎหมาย หากไม่ทำนี่สิอาจผิด แต่ในทางนิติศาสตร์ย่อมต้องเป็นไปตามนั้น แต่ในทางรัฐศาสตร์หรือความเป็นธรรมทางสังคม อาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสิ่งที่ชาวบ้านประสบอยู่ คือ ปัญหาความยากจน และไม่มีความรู้ ถามว่าความผิดดังกล่าวร้ายแรงกว่าความผิดการทุจริตหรือไม่

คงไม่มีสหกรณ์แห่งใดไม่มีปัญหา แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะมีกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยกันอย่างไร เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้งทางสังคมและกฎหมายแก่ชาวบ้านตาดำๆ