posttoday

วิบากกรรมการศึกษา

25 ตุลาคม 2561

ดัชนีทุนมนุษย์ของธนาคารโลก ระบุว่าคุณภาพการศึกษาไทยนั้นยังไม่ได้มาตรฐาน

โดย...มะกะโรนี

รายงานดัชนีทุนมนุษย์ของธนาคารโลก ซึ่งตีพิมพ์ไปเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าคุณภาพการศึกษาไทยนั้นยังไม่ได้มาตรฐาน มีการประเมินว่าเด็กไทยเฉลี่ยเข้าเรียนในระบบการศึกษาเป็นเวลารวม 12.4 ปีจนถึงอายุ 18 ปี แต่เมื่อพิจารณาถึงคุณภาพการเรียนรู้แล้ว เท่ากับเด็กได้รับการศึกษาเพียง 8.6 ปีเท่านั้น โดย 3.8 ปีที่หายไป ก็เพราะขาดคุณภาพการศึกษา

ในเวลาไล่เลี่ยกันเวทีเสวนา “เจาะลึกรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย” จัดโดยโครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และธนาคารโลก ระบุว่า ประเทศไทยใช้งบประมาณลงทุนด้านการศึกษาปี 2559 มากถึง 8.78 แสนล้านบาท

ชัดเจนว่าภาครัฐใช้งบประมาณสูงแต่ประสิทธิภาพการใช้งบประมาณต่ำ ซึ่งเห็นได้ชัดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสและด้านคุณภาพ เช่น เด็กจากครอบครัวยากจนออกกลางคัน ลูกคนรวยเรียนต่อในระดับสูงได้มากกว่าคนจนทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษา คุณภาพการจัดการศึกษาที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างเมืองและชนบท นักเรียนได้รับเงินอุดหนุนเท่ากันทุกคน แม้ว่าจะมีความขัดสนต่างกันมาก

รวมถึงยังมีปัญหาการขาดแคลนครูของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารและการกระจุกตัวของครูในพื้นที่ราบเขตเมืองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรด้านค่าใช้จ่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาระหว่างพื้นที่ยากจนและพื้นที่ในเมือง

หากจะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจำเป็นต้องมีเครื่องมือสนับสนุนการปฏิรูประบบการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาให้มุ่งเน้นความเสมอภาคมากขึ้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรใช้หลักการนำข้อมูลความจำเป็นของผู้เรียนและสถานศึกษา รวมทั้งบริบทเฉพาะในแต่ละพื้นที่มาคิดคำนวณอยู่ในสูตรการจัดสรรงบประมาณ ไม่ใช่การจัดสรรงบประมาณด้วยสูตรเดียวกันทั้งประเทศแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

น่าแปลกกระทรวงที่ได้รับงบประมาณบริหารสูง ชนิดที่สูงกว่าหลายๆ ประเทศด้วยซ้ำไป ไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจเลย ที่แต่ละปีพบว่าเด็กที่มีฐานะยากจนกว่าเด็กคนอื่นๆ นั้นเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบการศึกษาหรือเลิกเรียนต่อเป็นจำนวนมาก

สอดคล้องกับ ศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เด็กในพื้นที่ห่างไกลกำลังตกอยู่ในการศึกษาที่ล้าหลังทั้ง 3 ช่วงการศึกษา เรียนชั้น ม.3 มีความรู้เท่ากับเรียนชั้น ม.1 หรือเรียนชั้น ม.6 เท่ากับชั้น ม.3 จากปัญหาคุณภาพของสื่อการสอน ปัญหาการศึกษาของไทยเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องนโยบายที่ไม่มีความต่อเนื่อง เปลี่ยนทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาลใหม่

เมื่อมีใครออกมาวิจารณ์การศึกษา ศธ.ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงก็ไม่สนใจเพราะไม่เดือดร้อน ตั้งแต่ปี 2540 การศึกษาของไทยยังไม่มีการเปลี่ยนหลักสูตรที่ใช้มานาน 20 กว่าปี

ผู้ใหญ่ในแวดวงการศึกษาท่านหนึ่งเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าเคยไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งหนึ่ง โดยคณะของท่านตั้งใจที่จะไปเยี่ยมโรงเรียนดังกล่าวเพราะได้รับรายงานว่าแม้จะตั้งอยู่ในพื้นที่่ห่างไกล แต่โรงเรียนกลับประสบความสำเร็จในการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก จึงได้ถามผู้บริหารโรงเรียนว่ามีเคล็ดลับที่ทำให้ประสบความสำเร็จคืออะไร คำตอบที่ได้นั้น ทำให้ท่านอึ้ง เพราะผู้บริหารโรงเรียน ตอบว่า “โรงเรียนประสบความสำเร็จเพราะไม่ทำตามนโยบายของ ศธ.เลย”