posttoday

วิบากกรรมคาช็อกกี

22 ตุลาคม 2561

เหตุการณ์ที่ทำให้ทั้งโลกตะลึง ก็คือการฆาตกรรม จามาล คาช็อกกี นักช่าวชาวซาอุดิอาระเบียและคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์

เหตุการณ์ที่ทำให้ทั้งโลกตะลึง ก็คือการฆาตกรรม จามาล คาช็อกกี นักช่าวชาวซาอุดิอาระเบียและคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ประเทศสหรัฐ

คาช็อกกีถูกสังหารในสถานกงสุลซาอุฯ ในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 2 ต.ค. เนื่องจากต้องการไปรับเอกสารหย่ากับอดีตภรรยา และนำไปใช้ในการจดทะเบียนแต่งงานใหม่อีกครั้ง กับ ฮาทิเช เชนกิซ คู่หมั้นสาวชาวตุรกี

ประเด็นสำคัญที่ทำให้กลายเป็นเรื่องโด่งดังก็คือ คาช็อกกีเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุฯ อย่างรุนแรง และการเสียชีวิตกลับมาเกิดที่สถานกงสุลซาอุฯ โดยมีการยืนยันถึงทีมสังหารที่เดินทางมาจากซาอุฯ ด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว

ความไว้เนื้อเชื่อใจของซาอุฯ ในสายตาชาวโลกลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว โดยหลังการสูญหายของคาช็อกกีในระยะแรกทางการซาอุฯ ปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็น พร้อมๆ กับระบุว่า คาช็อกกี ออกจากสถานกงสุลซาอุฯ ในอิสตันบูลไปแล้ว

แต่สุดท้ายเมื่อจำนนต่อหลักฐานและแรงกดดันที่ประดังเข้ามา ถึงค่อยยอมรับว่าคาช็อกกีถูกสังหารในสถานกงสุล

ทั้งหมดเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลอย่างรุนแรงต่อทิศทางของซาอุฯ ยักษ์ใหญ่ในโลกอาหรับ

ก่อนหน้านี้ ซาอุฯ เคยประกาศแผนปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ภายใต้ชื่อโครงการ Vision 2030 เพื่อลดและเลิกการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน มุ่งสู่อุตสาหกรรม การค้าบริการสมัยใหม่

ผู้ที่ดูแลโครงการ ก็คือ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในซาอุฯ และเป็นบุคคลที่คาช็อกกีวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด

เมื่อเกิดคดีฆาตกรรมปริศนาของคาช็อกกี และอาการอ้ำๆ อึ้งๆ ไม่น่าเชื่อของซาอุฯ จึงเป็นประเด็นต้องติดตามว่าการปฏิรูปประเทศของซาอุฯ จะบรรลุผลได้อย่างไร หากต้องพึ่งพาความเชื่อมั่นจากโลกภายนอก

เงินไม่ใช่ปัจจัยเดียวจะทำให้ทุกอย่างประสบความสำเร็จ

อาการแห่งความไม่เชื่อมั่นเกิดขึ้นจากการจัดประชุม Future Investment Initiative (FII) ที่ได้รับการขนานนามว่า ดาวอส ทะเลทราย - Davos in the Desert เลียนแบบการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์

ตามกำหนดจะจัดที่กรุงริยาด ประเทศซาอุฯ ระหว่างวันที่ 23-25 ต.ค.นี้

เป้าหมายก็คือเพื่อเป็นเวทีให้ซาอุฯ แสดงแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของมกุฎราชกุมารซาอุฯ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ที่พยายามกระจายความมั่งคั่งในอุตสาหกรรมน้ำมันไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ

แต่ปรากฏว่าเหล่าบรรดาซีอีโอยักษ์ใหญ่ระดับโลกพากันประกาศไม่ร่วมสังฆกรรม ทั้ง เจพี มอร์แกน สหรัฐ รถยนต์ฟอร์ด บัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ด กูเกิล สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ฯลฯ

และที่เป็นสัญญาณความถี่สูงก็คือ คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รวมถึง สตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ ยกเลิกไม่เข้าร่วมการประชุมด้วย

ปมสังหารคาช็อกกี ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงให้เห็น

ที่สำคัญยังไม่แน่ชัดวิบากกรรมนี้จะลุกลามไปขนาดไหน