posttoday

เศรษฐกิจใหม่

21 ตุลาคม 2561

ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

โดย กัปตัน ป. 

ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางกลับจากร่วมประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ออกมายอมรับว่า “ปัญหาปาล์มน้ำมันเป็นเรื่องใหญ่ แม้แต่อียูก็แสดงความเป็นห่วง”

...ธุรกิจปาล์มน้ำมันกลายเป็นปัญหาระดับโลกอย่างไร ตรงนี้มีที่มาครับ...เนื่องจากเกิดกระแสต่อต้านการบริโภคน้ำมันปาล์มอย่างกว้างขวางในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรืออียู

กลุ่มประเทศที่นำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มอันดับต้นๆ ของโลก ดันมาประกาศนโยบาย Zero Palm Oil เพราะพบว่าปาล์มเป็นน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัว เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจ

สินค้าบางอย่างในบางประเทศในกลุ่มอียูถึงขนาดติดฉลาก No Palm Oil เพื่อบอกกับผู้บริโภคในสินค้าประเภท อาหาร เครื่องสำอาง หรือสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ยังรวมไปถึงอาจจะประกาศห้ามใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตเชื้อเพลิงรถยนต์อีกด้วย

ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ เกษตรกรชาวสวนปาล์มต้องเดือดร้อนกันไปทั่วโลก โดยเฉพาะ 3 ประเทศใหญ่ที่ปลูกปาล์ม คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก

แต่สิ่งที่น่ากลัวไปกว่านั้น คือ หากกระแสหรือนโยบาย Zero Palm Oil เกิดลุกลามบานปลายไปยังประเทศอื่นๆ ที่เป็นประเทศนำเข้าหรือใช้น้ำมันปาล์มอันดับต้นๆ ของโลก อาทิ จีน หรือ อินเดีย เออออห่อหมกกับกลุ่มประเทศอียู ห้ามนำเข้าน้ำมันปาล์มไปด้วย ยิ่งจะซ้ำเติมสถานการณ์ที่เป็นอยู่ให้ย่ำแย่ทวีคูณ

ในส่วนของประเทศไทย แม้ไม่ได้ส่งออกเชื้อเพลิงที่ผลิตจากน้ำมันปาล์ม หรือผลผลิตทางการเกษตรอื่นไปยังตลาดอียู แต่ไทยส่งออกอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำมันปาล์มไปทั่วโลก

ลำพังมาตรการการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลผ่านกระทรวงพาณิชย์ ที่เห็นอยู่ราวๆ 2 แนวทาง คือ การบริหารสต๊อกกับการบังคับให้โรงกลั่นรับซื้อไปผลิตเป็นไบโอดีเซล แต่ท้ายที่สุดราคาที่เกษตรกรขายได้ก็ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตอยู่ดี

มาตรการดังกล่าวคงไม่อาจรับมือกับสถานการณ์ในระยะยาวได้ดังนั้นถึงเวลาแล้วต้องสร้างรากฐานเศรษฐกิจใหม่ในภาคใต้ ไม่ให้พึ่งพิงเฉพาะพืชผลทางการเกษตรเฉพาะ ยางพารา กับปาล์มอีกต่อไป

ทุกภาคส่วนต้องหันกลับมาดูแลรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของภาคใต้ทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย เพราะรายได้หลักของภาคใต้มาจากการท่องเที่ยวทางทะเลและการแปรรูปอาหารทะเล เพื่อมาชดเชยรายได้จากปาล์มและยางพาราที่แนวโน้มจะราคาตกต่ำขึ้นเรื่อยๆ

วันนี้ต้องเลิกแผ้วถางทาง หรือเพิ่มพื้นที่การปลูกยางพาราและปาล์ม จากนั้นหันมาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับมาดี เศรษฐกิจใหม่ด้านการท่องเที่ยวต้องไม่ใช่แบบเดิมๆ ต้องเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ต้องมุ่งเน้นรองรับนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

รวมถึงต้องผลักดันปาล์มให้ไปผลิตเป็นพลังงานชีวภาพหรือไบโอดีเซลให้มากขึ้น หรือนำไปใช้เป็นส่วนประกอบอาหารสัตว์

ลำพังการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนคงไม่เพียงพอ ถึงเวลาแล้วต้องสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ให้เกิดขึ้นในภาคใต้เพื่อเป็นทางออกและทางรอด