posttoday

อิดหนาระอาใจ

30 กรกฎาคม 2561

ถ้าพูดถึงข่าวการเมืองเวลานี้ ใครๆ ก็คงติดตามเรื่องการดูดอดีต สส.เข้ากลุ่มเข้าก๊วนเป็นหลักแน่นอน

โดย หงส์แดง

ถ้าพูดถึงข่าวการเมืองเวลานี้ ใครๆ ก็คงติดตามเรื่องการดูดอดีต สส.เข้ากลุ่มเข้าก๊วนเป็นหลักแน่นอน

แต่ส่วนตัวแล้ว ค่อนข้างเฉยๆ กับเรื่องนั้นนะ

อ่านข่าวนี้ทีไร แทบอยากจะเข้าห้องน้ำไปทำธุระส่วนตัวทุกที หรือเรียกง่ายๆ ว่า “อ้วก” ไม่รู้ว่าใครเป็นเหมือนกันบ้างหรือเปล่า

โห...ลองคิดดู นึกว่าการเมืองไทยจะได้เกิดการปฏิรูป สุดท้ายก็ล่มปากอ่าวเหมือนเดิม มีแต่คนหน้าเดิมๆ ความคิดแบบเดิมๆ นิสัยเดิมๆ ทำการเมืองแบบเดิมๆ เหมือนเมื่อสมัย 20-30 ปีที่แล้วเห็นจะได้

การเมืองไทยยุคนี้แทนที่จะเอามันสมองและไอเดียเป็นที่ตั้ง กลับเอาเรื่องตัวเลขเป็นที่ตั้ง ทั้งเรื่องจำนวนเงิน จำนวน สส. ดีดลูกคิดกันว่า “เอ็งมาอยู่กับข้า ข้าให้เอ็งเท่านี้ เอ็งจะว่ายังไง”

ถ้าเป็นแบบนี้ไปอีก ผมก็คงกากบัตรช่องโหวตโนตามเดิม

ช่างมันเถอะ มาเข้าเรื่องที่อยากจะสื่อสารกับคุณผู้อ่านดีกว่า

อย่างที่บอกตอนแรก การเมืองไทยแบบนักเลือกตั้งมันไม่ค่อยน่าติดตามเท่าไหร่สำหรับผม แต่ส่วนตัวกลับให้ความสนใจกับการทำงานของ “สนช.” หรือ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” มากกว่า

ตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สนช.มักยกตัวเองว่าสามารถทำกฎหมายได้หลายร้อยฉบับ และการทำงานนิติบัญญัติของ สนช.เป็นไปอย่างราบรื่นและสมศักดิ์ศรี ไม่มีภาพแห่งความขัดแย้งเหมือนกับสภาของนักการเมือง

อะไรเป็นอะไร เชื่อว่าประชาชนย่อมรู้ดี

ในแง่ของตัวเลขคงไม่มีใครเถียงได้ เพราะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่มีข้อสงสัย เพียงแต่ในแง่คุณภาพ ยังเป็นคำถามที่รอคำตอบอยู่

ด้วยความคันไม้คันมือ วันก่อนได้เข้าไปดูเว็บไซต์ของ สนช. (www.senate.go.th) พบว่ามีกฎหมายหลายฉบับที่ถูกขยายเวลาการพิจารณามาแล้วหลายครั้ง ซึ่งกฎหมายที่ว่านั้นล้วนแต่เป็นกฎหมายที่นำไปสู่การปฏิรูปตามปรัชญาของ คสช. โดยจะขอยกตัวอย่างขึ้นมาสัก 4 ฉบับแล้วกัน

1.ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขยายเวลามาแล้ว 8 ครั้ง

2.ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ขยายเวลามาแล้ว 7 ครั้ง

3.ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ขยายเวลามาแล้ว 5 ครั้ง

4.ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ขยายเวลามาแล้ว 4 ครั้ง

กฎหมายกลุ่มนี้อยู่ในกลุ่มของการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความโปร่งใสและแก้ไขปัญหาการทุจริต

การขยายเวลาพิจารณากฎหมายของสภาย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่การขยายเวลาหลายครั้งและแต่ละครั้ง ก็ขอครั้งละ 60-90 วัน มันมากเกินไปหรือไม่ เพราะนั่นทำให้กฎหมายต้องช้าไปร่วมปี

เวลาที่เสียไป ไม่ต่างอะไรกับโอกาสที่คนไทยต้องเสียไปเช่นกัน

คนไทยควรได้กฎหมายภาษีที่ดินเพื่อได้รับความเท่าเทียม แต่กลับไม่ได้

คนไทยควรได้กฎหมายป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน แต่กลับไม่ได้

คนไทยได้ประโยชน์จากการบริหารงานรัฐวิสาหกิจที่โปร่งใส แต่กลับไม่ได้

นอกจากจะไม่ได้อะไรแล้ว คนไทยยังเสียโอกาสและเวลาไปอีกมาก เวลาของคนไทยทั้งประเทศมีค่ามากกว่าเงินเดือนหลักแสนของผู้ทรงเกียรติในสภา

คงไม่มีอะไรจะบอกนอกจาก “อิดหนาระอาใจ” กับพวกท่านจริงๆ