posttoday

ปัดโฉมริมเจ้าพระยา

09 มกราคม 2561

ฝันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการสร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ให้คนเมืองใกล้เป็นความจริงเข้ามาทุกที

โดย...แสงตะเกียง

ฝันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการสร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ให้คนเมืองใกล้เป็นความจริงเข้ามาทุกที เมื่อความคืบหน้าล่าสุดของโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยานำร่องระยะทาง 14 กิโลเมตรแรก ตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7-สะพานปิ่นเกล้า เตรียมเสนอของบประมาณจากคณะรัฐมนตรีในไม่ช้านี้

โดยมีมูลค่าการก่อสร้างประมาณ 8,362 ล้านบาท แยกเป็น 4 สัญญา เฉลี่ยสัญญาละ 3.5 กิโลเมตร จากนั้นภายในเดือน มี.ค.จะเริ่มงานก่อสร้าง ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน มีกำหนดแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2561 หรืออย่างช้าต้นปี 2562

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทยแล้วจำนวน 3 สัญญา เพื่อขออนุมัติจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งหากโครงการได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว กทม.โดยสำนักการโยธา จะเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างระบบอี-บิดดิ้งเพื่อหาผู้รับจ้างในทันที

เท่ากับเริ่มต้นนับหนึ่ง เดินหน้ารื้อถอนชุมชนรุกล้ำแม่น้ำนอกแนวเขื่อนจำนวน 309 ครัวเรือน ใน 12 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนปากคลองบางเขนใหม่ ชุมชนวัดสร้อยทอง ชุมชนวัดฉัตรแก้ว ชุมชนเขียวไข่กา ชุมชนองค์กรทอผ้า ชุมชนริมไทร ชุมชนราชผาทับทิม ชุมชนศาลเจ้าแม่ทับทิม ชุมชนมิตตคาม 2 ชุมชนมิตตคาม 1 ชุมชนสีคาม และชุมชนวัดเทวราชกุญชร ทั้งหมดจะต้องย้ายออกจากพื้นที่

เปิดทางให้มีการพัฒนาจุดหมายตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ พิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร สวนเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 7 พิพิธภัณฑ์มรดกเจ้าพระยา ศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์โรงเรือพระราชพิธี

ปรับปรุงท่าเรือให้เป็นจุดเชื่อมต่อการสัญจรทางน้ำที่ประชาชนได้รับ ความสะดวก ปลอดภัย พร้อมทั้งปรับปรุงรูปแบบสถาปัตยกรรมให้มีความสอดคล้องเป็นอัตลักษณ์ พัฒนาพื้นที่นันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ ริมน้ำ โดยใช้พื้นที่ว่างด้านหลังเขื่อนรองรับกิจกรรม ลานกีฬา สวนหย่อม รวมถึงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและเน่าเสียหลังเขื่อน

ทว่า เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นจากโครงการอภิมหา โปรเจกต์ ยังถูกตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการและภาคประชาชนไม่ขาดหาย ว่าแท้จริงแล้วโครงการนี้สร้างเพื่อใคร ประชาชนได้ประโยชน์คุ้มค่าจริงหรือไม่

ข้อสังเกตแรกคือ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาโครงการเลียบแม่น้ำเจ้าพระยามีการออกแบบวางแผนภายใต้ชื่อ "โครงการพัฒนาริมน้ำยานนาวาที่สะพานปลา" เพื่อเชื่อมโยงระบบ รถ ราง เรือ โดยสำนักผังเมือง กทม. จัดจ้างศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ซึ่งเป็น สถาบันวิจัยและบริการวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาศึกษา ทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการ เอกชน วัดและชุมชนริมน้ำ ใช้เวลาประชุม กับชาวบ้านหลายปี กระทั่งได้รับการยอมรับ แต่จวบจนทุกวันนี้ยังไม่ได้รับ งบประมาณ ขณะที่โครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่งเริ่มเกิด ใช้เวลาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ไม่นาน ขณะนี้เตรียมเสนอ ครม.ของบประมาณแล้ว

ถัดมาคือ ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริง ส่วนพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจยืนยันได้หรือไม่ว่ามีระบบรักษาความปลอดภัยทั่วถึง ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด ถามความคิดเห็นประชาชนครบถ้วน แล้วหรือไม่ แก้ปัญหาชุมชนรุกล้ำแม่น้ำได้อย่างถาวรทำอย่างไร

คำถามทั้งหมดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เคยออกมาตอบสักคำ