posttoday

ต้องลดการสูญเสีย

02 มกราคม 2561

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา และไม่ว่าจะอยู่ระหว่างออกกำลังกายในฟิตเนส หรือแม้แต่เดินห้างสรรพสินค้า

โดย...แสงตะเกียง

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา และไม่ว่าจะอยู่ระหว่างออกกำลังกายในฟิตเนส หรือแม้แต่เดินห้างสรรพสินค้า พิษภัยถึงชีวิตนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

ทว่า เมื่อมีผู้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ทุกวินาทีจึงสำคัญที่สามารถช่วยชีวิตให้พ้นขีดอันตรายก่อนที่ทีมแพทย์จะเดินทางมาถึงยังที่เกิดเหตุ

ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้ถูกคิดค้นให้มีเครื่องฟื้นคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator หรือ AED) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วย โดยข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า หากมีการปฏิบัติการช่วยชีวิตที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพภายใน 4 นาที ผู้ป่วยมีโอกาสการรอดชีวิตสูงถึง 40% แต่หากไม่ได้รับการ ช่วยเหลือเกิน 12 นาที ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้

แต่ปัญหาของประเทศไทยคือ ทุกวันนี้อุปกรณ์การแพทย์ยังมี ไม่เพียงพอ เนื่องจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ยังไม่เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าว ทำให้ปี 2560 ที่ผ่านมาต้องสูญชีวิตคนไปเป็นจำนวนมาก

กระนั้นถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมจัดซื้อเครื่องฟื้นคืนหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ เพื่อนำไปติดตั้งตามสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ศูนย์กีฬาและศูนย์เยาวชนของ กทม. สวนสาธารณะทั้ง 35 แห่ง รวมถึงติดตั้งที่สถานีดับเพลิงของ กทม. เพื่อนำไปใช้ขณะออกปฏิบัติงานเมื่อเผชิญเหตุก่อน โดยได้ตั้งงบจัดซื้อจำนวน 200 เครื่อง ภายใต้งบประมาณ 16 ล้านบาท ซึ่งเครื่องเออีดีมีราคาเฉลี่ยเครื่องละ 8 หมื่นบาท รวมแบตเตอรี่และอุปกรณ์ใช้งาน

ทั้งนี้ สำนักการแพทย์ กทม. คาดว่าสามารถเสนอราคาภายในเดือน ม.ค. 2561 ก่อนเข้าสู่กระบวนการลงนามสัญญาจ้างตามขั้นตอน และในเดือน ก.พ. จะเริ่มดำเนินการติดตั้งได้ กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 120 วัน พร้อมทั้งจัดโครงการอบรมแก่ข้าราชการและบุคลากรของ กทม.ตามสำนักงานประมาณ 500 คน

แม้ว่าเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการแก้ไขร่างรายละเอียดและขอบเขตงาน (ทีโออาร์) ก่อนนำเอกสารประกาศขึ้นเว็บไซต์เพื่อหาผู้ประกวดราคา ตามวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิดดิ้ง) แต่ปี 2561 นี้ตามสถานที่ ต่างๆ จะมีเครื่องมือช่วยเหลือชีวิตติดตั้งครบครัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอุปกรณ์แล้วควรมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง และซักซ้อมให้เกิดความเชี่ยวชาญเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงบำรุงรักษาให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ส่วนสถานที่เอกชน ห้างร้าน ควรคำนึงถึงความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถลดการสูญเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันอย่างแท้จริง

สำหรับการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เช่น การทำซีพีอาร์ และการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจแบบอัตโนมัติ ถือเป็นกลไกการรักษาภายหลังจากที่เกิดเหตุแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลยคือการป้องกันซึ่งเป็นเรื่องง่ายกว่าการแก้ไข นั่นคือการดูแลรักษาหัวใจด้วยการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็ม หันมารับประทานผัก ปลา ผลไม้ เน้นกากใยให้มาก และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน รวมถึง ออกกำลังกายกันเป็นประจำ เพียงเท่านี้ก็สามารถดูแลร่างกาย ดูแลหัวใจของแต่ละคนให้มีชีวิตยืนยาวเป็นสุขตลอดปีใหม่นี้