posttoday

ปัญหาคอนโด

23 มีนาคม 2560

หลังจากรถไฟฟ้าเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น อาคารชุดหรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “คอนโด” ก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดตามแนวรถไฟฟ้า

โดย...ปรณ์ นิลประพันธ์

หลังจากรถไฟฟ้าเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น อาคารชุดหรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “คอนโด” ก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดตามแนวรถไฟฟ้า

ผู้เขียนเป็นนักกฎหมายจึงไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวทางด้านการพัฒนาเมืองมากนัก แต่เคยทำงานร้องทุกข์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ตอนนี้เป็นศาลปกครองไปแล้ว จำได้ว่าเมื่อครั้งคอนโดเริ่มต้นใหม่ๆ มีการร้องทุกข์ว่าคอนโดแห่งหนึ่งขวางทางแดดทางลมของเพื่อนบ้าน

แถมที่ตรงนั้นเป็นถนนเล็กๆ เพราะเดิมเป็นชุมชนเล็กๆ ของคนมีสตางค์ พอมีคอนโดเข้ามา มีคนเข้าอยู่นับร้อย ผู้พักอาศัยต่างมีรถห้องละคัน เกิดปัญหารถติดและควันพิษตามมา คนเก่าคนแก่เป็นโรคภูมิแพ้กันเป็นแถวๆ เขาจึงมาร้องทุกข์

ผู้เขียนจำไม่ได้จริงๆ ว่าเรื่องนี้จบยังไงตามประสาคนมีอายุ แต่พอเห็นคอนโดผุดขึ้นเยอะๆ นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาทุกทีไป เลยเกิดความสงสัยว่าการที่เรามีคอนโดเยอะๆ และขึ้นที่ไหนก็ได้ง่ายๆ นี่ มันส่งผลกระทบถึง “เมือง” ไหม โดยเฉพาะ “คนเมือง”

เอาง่ายๆ อย่างทิศทางแดดทิศทางลมก็แล้วกัน แดดคงไม่เท่าไร มีตึกเยอะๆ แดดคงไม่ร้อนมาก แต่ตึกเป็นปูน มันย่อมอมความร้อน ถ้ามันอมมากๆ เข้า ความร้อนของเมืองคงสูงขึ้น แต่ไม่รู้สูงขึ้นเท่าไร เมื่อร้อนขึ้น ก็ต้องเปิดแอร์ เมื่อเปิดแอร์ก็ต้องใช้ไฟเราต้องเสียพลังงานมากขึ้น

ส่วนเรื่องลมนั้น แน่นอนว่าถ้ามีอาคารสูงมากๆ โดยไม่มีการวางแผนที่ดีระบบระบายอากาศ (Ventilation) ของเมืองต้องมีปัญหาแน่ๆ

นี่ผู้เขียนยังทำเฉยๆ โดยมองผ่านความเพียงพอของระบบสาธารณูปโภค ระบบกำจัดขยะ ระบบการขนส่งมวลชน วิถีชุมชน และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันนะ แต่ถ้าลองคิดจากเรื่องร้องทุกข์ที่ผู้เขียนพูดถึงข้างต้น ผู้เขียนว่ามันต้องกระทบมากแนjๆ

นอกจากนี้ ถ้าคิดถึงวัฏสงสารที่ประกอบด้วยเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันเป็นธรรมดาของสรรพสิ่ง ผู้เขียนจึงตั้งสมมติฐานตามมาอีกว่า วันหนึ่งในอนาคตที่อาคารเหล่านี้หมดอายุการใช้งานตามหลักวิศวกรรม จะก่อให้เกิดปัญหาชวนปวดหัวในอนาคต ปัญหาที่ว่านี้คือการแบ่งกรรมสิทธิ์ว่าจะแบ่งกันอย่างไร คงวุ่นวายน่าดู

เพราะวันนี้พ่อแม่ซื้อไว้ แต่กว่าอาคารจะหมดอายุก็คงถึงรุ่นหลาน ทายาทจึงคงมีมากกว่าหนึ่งคนต่อห้อง แล้วจะแบ่งทรัพย์สินกันอย่างไรถ้าทายาทเหล่านี้อยู่กระจัดกระจายไป คงอลหม่านพิลึก

ทั้งนี้ เพราะเราใข้ระบบกรรมสิทธิ์ในห้องชุด การเลิกอาคารชุดที่จะทำให้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดเป็นอันยกเลิกไปก็ต้องใช้คะแนนเสียงเอกฉันท์ (ตามกฎหมายปัจจุบัน) ซึ่งทางปฏิบัติคงเกิดขึ้นได้ยากมาก ดูอย่างแฟลตดินแดงก็ได้ นั่นแค่สิทธิการเช่านะ ยังวุ่นวายขนาด

ดังนั้น ถ้ามาตรการตามกฎหมายเลิกอาคารชุดไม่ได้ ก็คงต้องปล่อยให้มันค้างเติ่งอยู่เช่นนั้น ให้มันผุพังล้มหายไปตามกาล กลายเป็นภาวะอุจาดของเมืองในอนาคต ยิ่งถ้าสิ่งของจากอาคารผุพังเหล่านี้ตกหล่นไปก่อความเสียหายแก่คนอื่น ปัญหาจะยิ่งรุงรังมากขึ้น และแน่นอนว่าคนที่ต้องรับภาระเหล่านี้ก็คงหนีไม่พ้นลูกหลานของเรานั่นเองที่จะต้องไปจัดการเก็บกวาดต่อไปตามยถา

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนาเมืองในยุคที่ผ่านมาที่ขาดการมองแบบองค์รวม และไม่คิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

มันเป็นปัญหาที่เราทุกคนคงต้องหาทางแก้ไว้ให้ลูกหลานด้วยนะครับ