posttoday

สิทธิที่หายไป!

01 กุมภาพันธ์ 2559

ร่างกันมาสองฉบับในช่วงปีกว่า จากชุดบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาถึงร่าง มีชัย ฤชุพันธุ์

โดย...พะนะท่าน  [email protected]

ร่างกันมาสองฉบับในช่วงปีกว่า จากชุดบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาถึงร่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่แถลงข่าวปรากฏโฉมเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ร่างบวรศักดิ์ใช้เวลาพิจารณาร่วม 10 เดือน สุดท้ายเป็นร่าง รธน.ฉบับประวัติศาสตร์ ที่เขียนแล้วไม่ได้ใช้ เสียเวลา เสียงบประมาณ เพราะสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ คสช.สั่งได้ ลงมติคว่ำร่าง รธน. สถานะของมันจึงเป็นแค่ “ใบต่ออายุ คสช.” ให้บริหารประเทศต่อไป

แล้วร่าง รธน.ฉบับ “ซือแป๋” มีชัย จะเป็นใบต่ออายุใบที่สองอีกหรือไม่ ถ้าผลประชามติในช่วงกลางปีนี้ออกมาว่าประชาชนไม่เอาด้วย ก็เปิดช่องให้ คสช.อยู่ในอำนาจต่อ ไม่มีกำหนดว่าจะถึงเมื่อไร ขึ้นอยู่กับกลเกม คสช. ที่ยังอุบไต๋อยู่ 

ร่าง รธน.ฉบับมีชัย จำนวนมาตราน้อยกว่าร่างชุดบวรศักดิ์ ภาพรวมเรื่องโครงสร้างการเมืองแตกต่างกันบ้าง ทั้งเรื่องที่มา สว. ระบบเลือกตั้ง สส. แต่ที่เข้มกว่า คือ ชุดมีชัยมีมาตรการติดดาบปราบนักการเมืองโกงมากเป็นพิเศษ

มีชัย ระบุว่า  ร่าง รธน.ฉบับนี้เน้นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง จะไม่ให้การเมืองเป็นที่ฟอกตัวของคนที่เคยทำผิดอีกต่อไป

ประเด็นที่ฮือฮา คือ บทเฉพาะกาลของร่าง รธน. กำหนดขั้นตอน ระยะเวลาการทำกฎหมายลูก 10 ฉบับ กว่าจะเสร็จก็ยืดอายุ คสช.บริหารประเทศ จนกว่าจะได้รัฐบาลก็ต้นปี 2561 ทั้งที่เดิมโรดแมป คสช. อยู่ถึง ก.ค. 2560 แต่ถ้ากรรมการร่าง รธน.ร่างกฎหมายลูกไม่เสร็จภายใน 8 เดือน ก็มีแนวโน้มยืดโรดแมปได้อีก

แต่ที่ถูกวิจารณ์หนักก็คือ โครงสร้างด้านสิทธิ เสรีภาพของปวงชนชาวไทย ที่กำหนดไว้ร่าง รธน.ฉบับนี้ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ โดยเฉพาะสิทธิที่เกี่ยวกับชุมชนและหลักประกันสิทธิของประชาชนที่ต้องได้รับความคุ้มครอง

บรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมาธิการร่าง รธน. ชุดบวรศักดิ์ วิจารณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาด้านสิทธิเสรีภาพครั้งนี้ จะกระทบต่อหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่ภาคประชาชนเคยใช้อ้างและต่อสู้ในศาล การตัดสิทธิชุมชนออกไปทั้งดุ้น ก็เท่ากับถอยหลังกลับไปอีก

น่าห่วงจริงๆ ครับ การไม่บัญญัติให้การรับรองสิทธิด้านต่างๆ เหมือนอย่างที่ รธน. 2540 หรือ 2550 เขียนไว้ ก็อาจกระทบต่อกระบวนการต่อสู้ทางคดีของประชาชนที่เคยใช้ฟ้องศาลหลายคดี บรรเจิด ยังระบุว่า เมื่อไม่เขียนไว้ในร่าง รธน.ฉบับของ กรธ. อาจทำให้เกิดปัญหาจะใช้ฐานใดในการพิจารณา และอาจนำไปสู่การย้อนกลับของหลักนิติธรรมได้

ฟังคำชี้แจงของอาจารย์มีชัย ก็ยังไม่เข้าใจ ท่านว่า กรธ.เปลี่ยนหลักคิดใหม่เพราะถือว่า ประชาชนทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วมีสิทธิ 100% อะไรที่คิดว่าทำแล้วจะเกิดความเสียหาย หรือมีผลกระทบต่อประชาชนโดยส่วนใหญ่จะเขียนข้อห้ามไว้ ส่วนอะไรที่กฎหมายไม่ห้ามแปลว่าทำได้

เชื่อว่าประเด็นนี้ กรธ.คงต้องชี้แจงหนัก สุดท้ายถ้ายังไม่กระจ่างก็อาจเป็นข้อตำหนิได้ว่า เนื้อหาถอยหลังเข้าคลองและอาจเข้าสูตร เขียนเพื่อไม่หวังให้ผ่านประชามติ เป็นใบต่ออายุ คสช. จริงหรือไม่... น่าติดตาม