posttoday

ไม่ใช่ค่ายทหาร

24 พฤศจิกายน 2558

พฤติกรรมที่ตำรวจ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ออกหมายเรียก ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดย...คุณบ๊งเบ๊ง [email protected]

พฤติกรรมที่ตำรวจ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ออกหมายเรียก ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเพื่อนนักวิชาการ ในข้อหาขัดคำสั่ง คสช. “ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป” จากการแถลงข่าว “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” นับว่าน่าอดสูเป็นอย่างยิ่ง

เพราะสิ่งที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกร้อง ไม่มีอะไรมากไปกว่าการขอเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ มากกว่าจะปลูกฝังความรู้ด้านเดียว

ในขณะที่ คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดในเวทีการประชุมเอเปก ประเทศฟิลิปปินส์ ว่าไทยเคารพสิทธิมนุษยชน และเคารพเสรีภาพในการแสดงออก แต่ในประเทศทุกองคาพยพของรัฐบาล ยังทำทุกวิถีทางเพื่อ “กระชับอำนาจ” ให้ทหารบริหารประเทศโดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์น้อยที่สุด

ไม่น่าเชื่อว่า 1 ปี 6 เดือน หลังการรัฐประหาร ซึ่งตามโรดแมปต้องเริ่มเข้าสู่การปฏิรูปประเทศไปสู่ประชาธิปไตยแล้ว ยังต้องใช้อำนาจจำกัดการวิพากษ์วิจารณ์ให้มีอยู่ด้านเดียว คือด้านที่ชื่นชม คสช.เท่านั้น

สะท้อนว่า คสช.ยังอุดมไปด้วย “ความกลัว” กลัวว่าประชาชนจะมีอำนาจมากเกินไป กลัวว่าตัวเองจะถูกลดทอนความสำคัญจนหมดอำนาจการตัดสินใจ แต่เรียกความกลัวนี้ว่า “ความไม่สงบเรียบร้อย” แทน

เหตุนี้จึงไม่อาจเชื่อได้ว่า การปฏิรูปประเทศของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป หรือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีท่าทางเป็นมิตร รวมถึงจะสามารถยุติปัญหาอีนุงตุงนังที่ผ่านมาได้

ในระบบทหาร คำสั่งผู้บังคับบัญชาถือว่าเด็ดขาด กำลังพลทุกนาย ต้องทำตามคำสั่งเคร่งครัด หากมีการพยายามฝ่าฝืนก็ให้อำนาจทหารที่ยศสูงกว่าในการสอบสวน ขณะเดียวกันระบบตรวจสอบทหารก็ดำรงความเป็นเอกเทศ ประชาชนยุ่งเกี่ยวไม่ได้แม้แต่น้อย

ทว่า ในทางกลับกันแต่ทหารยุ่งเกี่ยวกับประชาชนได้เสมอ เมื่อต้องการเรียกเกณฑ์ทหาร และใน พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง ที่เพิ่งผ่าน สนช.ไปนั้น ยิ่งเพิ่มอำนาจให้ทหารเรียกกำลังสำรองที่ปลดประจำการไปแล้ว มากขึ้นไปอีก

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อเสนอของ คสช.ต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังขอให้ทหารสามารถใช้กำลังโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐ โดยไม่ต้องรับโทษทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อทหารมีเรื่องที่ไม่ชอบมาพากล รมว.กลาโหม ผู้ใหญ่ในกองทัพกลับพูดทันทีว่าเป็น “เรื่องภายใน” โดยที่สังคมภายนอกทำได้เพียงตั้งคำถามเท่านั้น

โรดแมปที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย และเรียกให้สวยหรูว่าประชาชนเป็นพลเมืองเต็มขั้น ในวันนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน ว่า คสช.จะพาไปสู่จุดหมายได้ และยิ่งไส้ในโผล่ออกมาเรื่อยๆ พลเมืองก็เป็นแค่คำเรียกที่สวยหรู

เพราะแท้จริงแล้วสิทธิเสรีภาพที่มีพลเมืองไม่ได้ต่างอะไรจากพลทหารเลย

พิเคราะห์ให้ดีแล้ว ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวที่มีสถานะเป็นเหมือนค่ายทหาร แต่สถานะของประเทศไทยในวันนี้ และวันข้างหน้าก็เปรียบเสมือนค่ายทหารเช่นกัน